posttoday

ของฟรีไม่มีในโลก รู้จักตัวตน Change.org ก่อนรวมชื่อไล่ กกต.

25 มีนาคม 2562

หลังผลเลือกตั้งของบ้านเราออกมา มีผู้ตั้งข้อสังเกตการทำงานของ หรือ กกต. อย่างกว้างขวางถึงความไม่โปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพ "ธุรกิจล่ารายชื่อ" จึงเข้ามามีบทบาทในเวลานี้

 

ความกังขาและความไม่พอใจต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนคณะกรรมการชุดนี้ และมีผู้รณรงค์ล่ารายชื่อผ่านแพล็ตฟอร์ม Change.org เพื่อนำรายชื่อ 20,000 รายชื่อไปเสนอถอดถอน กกต. แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะไม่มีมาตราใดๆ รองรับการกระทำนี้ก็ตาม แต่เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ของประชาชน เพื่อแสดงความไม่พอใจกระบวนการเลือกตั้ง ที่ไม่อาจทำให้พวกเขารู้สึกได้ถึงความ "บริสุทธิ์และยุติธรรม"

ในช่วงเวลาอันโกลาหล กิจการหนึ่งที่กำลังไปได้สวย นั่นคือ แพลตฟอร์มเพื่อระดมรายชื่อและโซเชียลเน็ตเวิร์คของกลุ่มเอ็นจีโอ รวมถึงฮับของบรรดาแอกทิวิสต์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Change.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดมพลยอดนิยมของคนทั่วโลก และที่ประเทศไทยตอนนี้มีการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์นี้เช่นกัน

Change.org ก่อตั้งมานานถึง 12 ปีแล้ว แต่เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ซึ่งในไทยเองก็นิยมใช้เว็บไซต์นี้เป็นตัวช่วยในการระดมพลัง สะท้อนความต้องการของภาคประชาชนหลายๆ กรณี ในต่างประเทศเช่น สหรัฐใช้แพลตฟอร์มนี้อย่างหลากหลาย เช่น เรียกร้องให้ทางการดำเนินคดีทางอาญา หรือเรียกร้องให้ภาคธุรกิจปฏิบัติคำร้องขอของลูกค้า รวมถึงกรณีต่อต้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกได้ว่าสามารถรองรับได้ทุกความต้องการ และสามารถตอบสนองให้เป็นรูปธรรมได้ในระดับหนึ่ง

จากกิจกรรมที่เว็บไซต์นี้ให้บริการ ดูเหมือนว่า Change.org จะเป็นองค์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เลย เพราะ Change.org เป็นบริษัทเอกชน ที่มีโครงสร้างและการดำเนินงานเหมือนบริษัททั่วๆ ไป มีรายได้จากการโฆษณา จากการร่วมทุน และจากการเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรที่ต้องการทำกิจกรรมร่วมกัน มีพนักงานถึง 300 คน และมีประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร หรือซีอีโอ คือ เบน แรตเทรย์ ซึ่งเคยติดโผบุคคลที่ทรงอิทธิพลระดับโลกของนิตยสาร Time

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า อีเมลของผู้ลงนามในแคมเปญต่างๆ อาจไปปรากฏในเสิร์ชเอนจิ้นหรือตกอยู่ในมือภาคเอกชนอื่นๆ เพราะ Change.org จะปกปิดอีเมลของเจ้าของลายเซ็นก็ต่อเมื่อสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์

อีกประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ สถานะขององค์กรนี้ที่ดูคล้ายจะเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เพราะตามหลังด้วยโดเมน .org แต่ในทางปฏิบัติเป็นบริษัทที่แสวงหากำไร ซึ่งมักจะใช้โดเมน .com ประเด็นนี้ทำให้บริษัทถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าหลอกลวงและซ่อนรูป ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบสถานะที่แท้จริง ซึ่งทางบริษัทชี้่แจงว่า บริษัทมีเป้าหมายทางสังคม เมื่อมีรายได้ก็นำรายได้มาส่งเสริมเป้าหมายนั้น

เสียงวิจารณ์เหล่านี้ไม่ทำให้ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ลดน้อยลงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่ามีผู้ใช้งานอยู่เนืองๆ แม้แต่ในประเด็นระดับโลก แต่เสียงวิจารณ์ทำให้หลายๆ คนทราบว่า แท้จริงแล้วตัวตั้งตัวตีในการแก้ไขประเด็นสังคมอาจไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากผลประโยชน์จากประเด็นสังคมแบบ 100% แต่เป็นองค์กรที่ได้ผลกำไรจากประเด็นสังคมอยู่ไม่น้อย ยังไม่นับปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่หลายฝ่ายพยายามชี้ให้เห็น

ในประเด็นนี้ผู้ที่สนใจจะใช้บริการของเว็บไซต์นี้จะต้องเข้าใจก่อนว่า Change.org ไม่ใช่ NGO แต่เป็น Social Enterprise หรือภาคธุรกิจที่ทำงานด้านประเด็นสังคม ไม่อาจจะกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เพราะทำงานเกี่ยวกับมิติทางสังคม อีกทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนประเภท B Corporation หรือบริษัทที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนทางสังคม

อย่างที่โฆษกของบริษัทนี้กล่าวไว้ก็คือ "บริษัทมีเป้าหมายทางสังคม เมื่อมีรายได้ก็นำรายได้มาส่งเสริมเป้าหมายนั้น"


นอกจาก Change.org แล้วยังมีเว็บไซต์ในลักษณะคล้ายๆ กันอีกจำนวนหนึ่ง มีเป้าหมายร่วมกันนั่นคือ การระดมพลังขับเคลื่อนสังคม แต่มีฟังก์ชั่นแตกต่างกันออกไป

 

1.Avaaz
เป็นเครือข่ายนักเคลื่อนไหวเพื่อกิจกรรมทางสังคม เป็นแหล่งนัดพบของผู้มีอุดมการณ์ด้านปัญหาสิทธิมนุษยชน คอร์รัปชั่น ความยากจน หรือปัญหาโลกร้อน เว็บไซต์จะเป็นผู้ประสานงาน และทำหน้าที่เหมือนออร์แกไนเซอร์ในการระดมพลังสะท้อนปัญหาต่างๆ โดยเงินทุนของกลุ่มได้มาจากการบริจาค และไม่รับเงินบริจาคจากองค์กรหรือบุคคลหนึ่งๆ มากกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐ ตอกย้ำว่า Avaaz พยายามสลัดตัวให้พ้นจากอิทธิพลของภาคเอกชนและรักษาสถานะขององค์กรที่ไม่หวังผลกำไร

 

2.Care2
อีกหนึ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับแอกทิวิสต์ที่มีอายุอานามยาวนานกว่าใครเพื่อน เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 1998 ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานนักเคลื่อนไหวจากทั่วโลก ด้วยความที่เน้นการระดมพลังในหมู่นักกิจกรรมมืออาชีพจริงๆ เว็บไซต์นี้จึงเรียกร้องข้อมูลของสมาชิกมากเป็นพิเศษเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นนักสู้ตัวจริงเสียงจริง

 

3.SumOfUs
เป็นองค์กรเอกชนออนไลน์เน้นหนักในการจับตาภาคธุรกิจว่าได้ล่วงละเมิดประเด็นสาธารณะ เช่น ปัญหาโลกร้อน สิทธิแรงงาน และสิทธิสัตว์หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นเอ็นจีโอแห่งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็ว่าได้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำกำไร และรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในอุดมการณ์ แต่ถึงแม้จะเป็นเอ็นจีโอ แต่ก็ใช้โมเดลทางธุรกิจแบบสตาร์ทอัพในการเคลื่อนไหวและดำเนินงาน

 

ภาพ - Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP