posttoday

ต่างชาติหวั่นความเสี่ยงศก.หลังเลือกตั้ง

25 มีนาคม 2562

ต่างชาติวิตกความ ไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบธุรกิจการลงทุน นักวิเคราะห์มองไทยอาจเจอความเสี่ยง 3 ระยะ

ต่างชาติวิตกความ ไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบธุรกิจการลงทุน นักวิเคราะห์มองไทยอาจเจอความเสี่ยง 3 ระยะ

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติมองว่าผลการเลือกตั้งที่ไม่ชี้ขาดและความไม่แน่นอนของกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน

"กระบวนการรอผลเลือกตั้งช่วงแรกและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กำลังจะสร้างความไม่แน่นอนบางอย่างขึ้น สำหรับนักลงทุน" นายปีเตอร์ มัมฟอร์ด หัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ของบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเชีย กรุ๊ป กล่าว

รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและตราสารหนี้ไทยเกือบ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากวิตกความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าสุทธิที่ 1,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเดียวกันเมื่อปี 2561

ทั้งนี้ ไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า การเลือกตั้งของไทยที่ดำเนินไปอย่างเป็นประชาธิปไตยและน่าเชื่อถือ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจะช่วยขจัดความชะงักงันของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งหยุดชะงักไปนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557 นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ยังอาจหาทางเปิดเจรจาให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

ด้านบริษัทที่ปรึกษา คอนโทรล ริสก์ และริสก์แมป ประเมินว่า ความเสี่ยงหลังการเลือกตั้งของไทยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ความเสี่ยงฉับพลัน ความเสี่ยงระยะกลาง และความเสี่ยงระยะยาว

รายงานระบุว่า ความเสี่ยงฉับพลันมาจากแนวโน้มเกิดการเดินขบวนประท้วงภายในประเทศ แม้มีความเสี่ยงจำกัดที่จะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ แต่หากมีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อฝ่ายใดก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการ เนื่องจากจะกดดันดีมานด์สินค้าและเสี่ยงกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ

สำหรับความเสี่ยงระยะกลางนั้น คอนโทรล ริสก์ ระบุว่าเป็นกรณีการเลื่อนหรือยกเลิกโครงการการลงทุนบางอย่าง รวมถึงการเพิ่มกฎระเบียบใหม่เพื่อควบคุมมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจพลังงานและเหมืองแร่เสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่คอนโทรล ริสก์ มองว่า ความเสี่ยงระยะยาวคือความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการแทรกแซงทางการเมืองจากฝ่ายทหาร หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผล ให้ชาติตะวันตกเพิ่มแรงกดดันต่อไทย ซึ่งมีแนวโน้มขยายวงกว้างครอบคลุมทั้งการค้าและความสัมพันธ์ทางการทูต