posttoday

คุกไทยเอาบ้างมั้ยเรือนจำบราซิลให้นักโทษเก็บกุญแจห้องขังไว้เอง

22 มีนาคม 2562

เรือนจำบราซิลลบภาพลักษณ์เก่า หนึ่งในประเทศที่ระบบราชทัณฑ์แย่ที่สุดในโลก ให้นักโทษเก็บกุญแจห้องขังไว้เอง

เรือนจำบราซิลลบภาพลักษณ์เก่า หนึ่งในประเทศที่ระบบราชทัณฑ์แย่ที่สุดในโลก ให้นักโทษเก็บกุญแจห้องขังไว้เอง

เรือนจำบราซิลขึ้นชื่อเรื่องความสยองขวัญ ทั้งการก่อจลาจล นักโทษแหกคุก ไปจนถึงการเปิดศึกสังหารคู่อริจนถึงขั้นตัดหัวนักโทษด้วยกันเองโชว์ก็มี ส่งผลให้บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบราชทัณฑ์ที่แย่ที่สุดในโลก

ในเดือน ม.ค. 2017 การเปิดการวิวาทระหว่างแก๊งนักโทษที่เป็นคู่อริกันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 56 ราย และภายใน 20 วันแรกของปีเดียวกันมีนักโทษเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงถึง 130 ราย จนบางครั้งหนทางที่จะช่วยให้เรือนจำสงบสุขก็คือการยิงนักโทษที่เป็นหัวโจกทิ้งให้รู้แล้วรู้รอดไป

บราซิลมีประชากรนักโทษเกือบ 700,000 ราย ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รองจากสหรัฐและจีน เมื่อเทียบแล้วเรือนจำในบราซิลต้องรองรับนักโทษเกินความสามารถถึง 165% บางแห่งนั้นแออัดจนแทบจะไม่มีที่ให้นักโทษนอน

และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ นักโทษบราซิลมีอัตราการทำผิดซ้ำซากถึง 70% เนื่องจากนักโทษส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงและมีปัญหา บางคนขาดการศึกษาหรือไม่มีงานทำ บวกกับสภาพภายในเรือนจำก็ยิ่งบ่มเพาะให้ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมแย่ลงและมีแนวโน้มก่ออาชญากรรมมากขึ้นเมื่อได้รับการปล่อยตัว

แต่ล่าสุดนี้มีโครงการหนึ่งที่จะเข้ามาลบภาพลักษณ์เลวร้ายของเรือนจำบราซิล นั่นคือ สมาคมช่วยเหลือนักโทษบราซิล (FBAC) องค์กรไม่แสวงกำไรที่เฝ้าจับตาการดำเนินงานของสมาคมเพื่อการปกป้องและช่วยเหลือนักโทษ  (APAC) ซึ่งเป็นเรือนจำเอกชน

นักโทษของเรือนจำ APAC ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากเรือนจำทั่วไป  ทุกคนจะมีกุญแจไขห้องขังของตัวเอง เพราะเรือนจำแห่งนี้เชื่อว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขังหากพวกเขาได้รับโอกาสที่เหมาะสม และเพื่อเตรียมพร้อมให้นักโทษเหล่านี้กลับคืนสู่สังคม

1 วันของนักโทษในเรือนจำ APAC เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยจะแบ่งเวลาให้ทั้งการเรียนและการทำงาน เช่น งานฝีมือ ทำสวนปลูกผัก ทำขนม ช่างไม้ และงานในครัว  ส่วนในช่วงพักก็จะมีการเล่นกีฬาหรือทำงานศิลปะ รวมทั้งจะมีการอบรมทางศาสนาสำหรับนักโทษที่สนใจด้วย ไปจนถึงช่วง 4 ทุ่มที่ทุกคนต้องกลับเข้าเรือนนอน

นอกจากนี้ เรือนจำยังจัดอาหารอย่างถูกสุขลักษณะและบริเวณที่สะอาดสะอ้าน ทั้งยังมีการเรียกนักโทษด้วยชื่อแทนเลขประจำตัว  ต่างจากเรือนจำของรัฐโดยสิ้นเชิง

มาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วนักโทษไม่หนีเหรอ คำตอบจากผู้ต้องขังคือ “ไม่มีใครหนีจากความรักหรอก กุญแจเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความเชื่อใจกันเท่านั้น”  นั่นแปลว่าผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำนี้อย่างมีความสุข

ด้านผลลัพธ์ของโครงการนั้น ปรากฏว่าอัตราการกระทำความผิดซ้ำของนักโทษเหลือเพียง 7-20% ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็อยู่ที่ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายของเรือนจำของรัฐเท่านั้น ทั้งยังไม่เคยมีการก่อจลาจลหรือใช้ความรุนแรงในเรือนจำแห่งนี้เลย

ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับเรือนจำของไทยที่บางแห่งก็มีปัญหาเรือนนอนแออัดหรือนักโทษก่อความวุ่นวายไม่น้อย