posttoday

ซ่อนกล หรือโปร่งใส: ประเทศประชาธิปไตยไว้ใจ Blind Trust หรือไม่

20 มีนาคม 2562

Blind Trust คำที่มีการถกกันอย่างร้อนแรงว่าเหมาะสมหรือไม่ในบ้านเรา ในสหรัฐกับอังกฤษเขามองเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง

Blind Trust คำที่มีการถกกันอย่างร้อนแรงว่าเหมาะสมหรือไม่ในบ้านเรา ในสหรัฐกับอังกฤษเขามองเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง

หลังจากที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ประกาศจะโอนหุ้นมูลค่า 5,000 ล้านบาทไปให้กองทุน หรือที่เรียกว่า Blind Trust  เป็นผู้บริหารจัดการ คำคำนี้ก็กลายเป็นที่สนอกสนใจของประชาชนขึ้นมาทันที  แต่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่า Blind Trust คืออะไร

Blind Trust ก็คือบุคคลที่สาม (trustee) ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินของผู้โอน (trustor)  โดยที่ผู้โอนทรัพย์สินไม่สามารถควบคุมสั่งการ หรือเข้าแทรกแซงการจัดการของกองทุนหลังโอนทรัพย์สินแล้ว รวมทั้งไม่สามารถขอข้อมูลของทรัพย์สินที่กองทุนถือครองอยู่ได้  ส่วนกองทุนนั้นมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจซื้อขายทรัพย์สิน Blind Trust นิยมใช้กันในกลุ่มนักการเมือง หรือกลุ่มคนที่อยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหา เช่น นักข่าว ผู้นำศาสนา เพื่อป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างดำรงตำแหน่ง

แม้ในบ้านเราอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับ Blind Trust แต่นักการเมืองในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐและอังกฤษ สองประเทศต้นแบบประชาธิปไตยของโลก นิยมใช้กันแพร่หลาย โดยทางฝั่งของสหรัฐนั้นกฎหมายจริยธรรมทางการเมือง ปี 1978 กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยทรัพย์สินที่ถือครองเว้นแต่ทรัพย์สินนั้นได้โอนไปยัง Blind Trust ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

ในอังกฤษก็ยอมรับใหม่มีการใช้ Blind Trust เช่นกัน ทว่ามีการอภิปรายกันมายาวนานถึงเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากในช่วงที่พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลในปี 1992-1997 นั้นมีการรับเงินสนับสนุนจาก Blind Trust แต่ภายหลังมีชื่อของเจ้าของเงินเหล่านี้หลุดรั่วออกมา โดยบางคนได้รับตำแหน่งในสภาหลังพรรคแรงงานชนะเลือกตั้ง จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนในปี 1998 และพบว่าการใช้ Blind Trust ขัดต่อหลักการเปิดเผยและตรวจสอบได้ และลงความเห็นให้ห้ามใช้กองทุนดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนักการเมือง ผู้นำพรรคการเมือง หรือสมาชิกสภา นำมาสู่การบัญญัติกฎหมายพรรคการเมือง การเลือกตั้ง และการลงประชามติปี 2000 ในมาตรา 57 ว่า ให้คืนเงินบริจาคที่ได้จากผู้บริจาคที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

ในส่วนของออสเตรเลีย มีท่าทีกังขาต่อ Blind Trusts เช่นเดียวกับอังกฤษ โดยเอกสารของรัฐสภาออสเตรเลียเรื่อง Conflicts of Interest Avoidance - Is there a Role for Blind Trusts? (การหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน - Blind Trusts จะมีบทบาทหรือไม่?) อ้างข้อมูลจากการศึกษาโดนคณะศึกษาของกระทรวงเครือจักรภพ ที่กรุงลอนดอน โดยย้ำว่าข้อมูลของคณะนี้มีความถูกต้อง ที่ระบุว่า Blind Trusts ไม่มีประสิทธิภาพในการหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนในบรรดาประเทศเครือจักรภาพ

รายงานที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติของออสเตรเลียย้ำเช่นกันว่า การใช้ Blind Trusts ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้นักการเมืองมีความน่าเชื่อ, มีความซื่อสัตย์ และมีการใช้ตำแหน่งทางการเมืองอย่างถูกต้อง เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า รัฐมนตรีที่ปล่อยทรัพย์สินให้ Blind Trusts จัดการ จะไม่ได้แทรกแซงทรัพย์สินนั้นผ่านนอมินีรูปแบบต่างๆ