posttoday

โกงสอบมหาวิทยาลัยดัง! เขย่า "อเมริกัน ดรีม"

18 มีนาคม 2562

การเปิดโปง "ขบวนการทุจริตการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ" ได้สั่นคลอนอย่างรุนแรงต่อความเชื่อที่อยู่คู่ชาวอเมริกันมายาวนานอย่าง "อเมริกัน ดรีม"

การเปิดโปง "ขบวนการทุจริตการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ" ได้สั่นคลอนอย่างรุนแรงต่อความเชื่อที่อยู่คู่ชาวอเมริกันมายาวนานอย่าง "อเมริกัน ดรีม"

*************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

นับเป็นข่าวอื้อฉาวครั้งเลวร้ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์แวดวงการศึกษาของสหรัฐ เมื่อทางการสหรัฐได้เปิดโปง “ขบวนการทุจริตการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดแรงการสั่นคลอนครั้งรุนแรงต่อความเชื่อที่อยู่คู่ชาวอเมริกันมายาวนานอย่าง “อเมริกัน ดรีม” (American Dream)

แอนดรูว์ เลลลิ่ง อัยการรัฐแมสซาชูเซตส์ เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาในขบวนการโกงสอบครั้งนี้ 50 คน เกือบทั้งหมดล้วนเป็นคนดังที่มีชื่อเสียงในหลายวงการตั้งแต่ซีอีโอบริษัทไปจนถึงนักแสดงชั้นนำในฮอลลีวู้ด ที่ได้ว่าจ้างให้สถาบันเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยและโค้ชกีฬาสร้างกลโกงขึ้นมา เพื่อดันให้ลูกหลานของตัวเองเข้ามหาวิทยาลัยดังในสหรัฐได้ จนทำให้ขบวนการโกงนี้มีเงินสะพัดมากถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 793 ล้านบาท) นับตั้งแต่เริ่มขบวนการในปี 2011

การเปิดโปงขบวนการอื้อฉาวในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดในแบบอเมริกัน ดรีม ที่เชื่อว่าคนอเมริกันทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต หากทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำอะไรสักอย่าง นั้นอาจเป็นเพียงสโลแกนขายฝัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว “เงิน” คือสิ่งที่สามารถตัดสินอนาคตของคนได้

ทุกวันนี้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐนั้นแทบจะไม่ต่างกับ “สนามทดสอบความได้เปรียบทางสังคม” ท่ามกลางอัตราการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเอเอฟพีระบุว่า สำหรับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีนักศึกษาเพียง 4.6% จากจำนวนทั้งหมดที่ยื่นผลสอบราว 4 หมื่นคน ที่สามารถเข้าเรียนที่นี่ได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีอัตรานักศึกษาที่สามารถเข้าเรียนได้อยู่ที่ 4.3% และ 5.5% ตามลำดับ

คนรวยได้เปรียบทุกขั้นตอน

ทว่าแม้อัตราการแข่งขันจะสูงมากเพียงใด แต่สิ่งนี้กลับไม่เป็นปัญหาสำหรับนักเรียนในสหรัฐที่มีพ่อแม่ฐานะดี ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ตั้งแต่ก่อนที่จะลงสนามสอบนักเรียนชาวอเมริกันกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงห้องเรียนโปรแกรมพิเศษราคาแพง ติวเตอร์หัวกะทิ หรือคอร์สเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

จากข้อมูลของสมาคมผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษาอิสระ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ปกครองในสหรัฐต้องจ่ายเงินต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยที่ 200 ดอลลาร์ (ราว 6,350 บาท) ไปจนถึงหลายพันดอลลาร์ สำหรับการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ปกครองที่ไม่ได้มีฐานะดี

“สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ในระดับอนุบาลแล้ว ซึ่งการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงนั้นจะนำไปสู่อาชีพที่ทรงเกียรติและชีวิตที่มีความสุข แต่สำหรับเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ร่ำรวยแล้วนั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยนับเป็นสิ่งที่เครียดมาก” แองเจลา เปเรซ นักศึกษามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ซีเอ็นเอ็นและเอเอฟพีระบุว่า เด็กที่ร่ำรวยในสหรัฐยังมีสิทธิพิเศษถึงขั้นไม่ต้องไปลงสนามสอบแข่งขัน แต่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ด้วยการที่ผู้ปกครองบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับมหาวิทยาลัย เช่น ในกรณีของ จาเร็ด คุซเนอร์ ลูกเขยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ในปี 1998 หลังจากที่พ่อของเขาบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย 2.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 79 ล้านบาท)

ขณะที่แม้แต่ในวันที่ต้องลงสนามสอบแข่งขัน ผู้ปกครองที่มีฐานะในสหรัฐบางรายยังสร้างสะพานวิเศษที่ทำให้ลูกหลานของตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ด้วยการ “โกง”

ในกรณีที่มีการเปิดโปงครั้งล่าสุดนี้ รูปแบบที่ผู้ปกครองและสถาบันเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยใช้โกงมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของสถาบันเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้ไปเข้าสอบ SAT และ ACT แทนลูกของตัวเอง หรือไปแก้ไขคำตอบในข้อสอบให้ถูกต้อง และอีกรูปแบบ คือ การติดสินบนโค้ชกีฬาให้สร้างประวัติปลอม เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษเข้ามหาวิทยาลัยได้จากความสามารถทางกีฬา โดยมีค่าใช้จ่ายในการทุจริตต่อครั้งอยู่ที่ 2 แสน-6.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.3-205 ล้านบาท)

“เห็นได้ชัดเจนว่าการที่คนรวยถูกกล่าวหาว่ายอมทำผิดกฎหมาย เพื่อเอาลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังนั้นอื้อฉาวเพียงใด แต่สิ่งที่เลวร้ายมากกว่านั้นคือ การโกงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในทุกฤดูกาลแห่งการสมัครเรียนเข้ามหาวิทยาลัย และทุกอย่างในแวดวงการศึกษาก็สนับสนุนให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” เรนเนสฟอร์ด สตวฟเฟอร์ นักข่าวจากนิวยอร์กไทมส์ กล่าว