posttoday

เมื่อ "นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่เป็นอย่างที่หวัง

10 มีนาคม 2562

ถอดประสบการณ์จาก "ฝรั่งเศส" และ "แคนาดา" เมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศไม่เป็นอย่างที่ประชาชนคาดหวังไว้

ถอดประสบการณ์จาก "ฝรั่งเศส" และ "แคนาดา" เมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศไม่เป็นอย่างที่ประชาชนคาดหวังไว้

ในประเทศที่ต้องตกอยู่ในวังวนของนักการเมืองกลุ่มเดิมๆ แบกความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการบริหารประเทศ เมื่อมี “คนรุ่นใหม่” เสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหา ย่อมเกิดประกายในแววตาของประชาชน ที่จะได้เห็นประเทศชาติพัฒนาไปข้างหน้า พร้อมกับชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุยชนที่พึงมีเต็มขั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างที่วาดฝัน การบริหารจัดการบ้านเมืองของผู้นำที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่ แถมยังหนุ่มยังแน่นอย่าง นายกรัฐมนตรี “จัสติน ทรูโด” ของแคนาดา หรือ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ยังทำให้ประชาชนต้อง

ปลายปีที่ผ่านมา แผ่นดินฝรั่งเศสต้องลุกเป็นไฟ เมื่อชนชั้นแรงงานลุกฮือขึ้นมาประท้วงในนาม “กลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง” ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์เดินขบวนใหญ่ในรอบ 10 ปี และเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี เพื่อประท้วงการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงของรัฐบาล ภายใต้การนำของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง จนบานปลายไปสู่ความไม่พอใจนโยบายการบริหารที่ประเทศ ที่ดูเหมือนจะเอาใจ “คนรวย” เป็นพิเศษ และมีการเรียกร้องให้มาครงลาออกจากตำแหน่ง

คนฝรั่งเศสเริ่มฮึ่มๆ ใส่ผู้นำของตัวเองมาตั้งแต่ 1 ปี หลังมาครงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. 2017 จากการที่ประชาชนเทคะแนนให้กับเขาถึงร้อยละ 66 แต่ปลายปี 2018 ผลสำรวจ Ifop Poll ชี้ว่า คนฝรั่งเศสเริ่มไม่พอใจประธานาธิบดีหนุ่มวัย 40 ปี เสียแล้ว

โดยคะแนนความนิยมของเขาร่วงลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เหลือเพียง 29% กลุ่มตัวอย่างบอกว่า นับตั้งแต่มาครงเข้ามามีอำนาจ ภาพลักษณ์ประธานาธิบดีหนุ่มที่มีความมั่นใจและความสามารถในการบริหารบ้านเมืองเต็มปรี่ค่อยๆ จางหายไป รวมถึงท่าทีแบบอำนาจนิยม และการเดินหน้าหั่นงบประมาณ ซึ่งมาครงประกาศว่าจะตัดค่าใช้จ่ายสาธารณะเพื่้อนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้าง ก็ยิ่งเริ่มทำให้ประชาชนเบือนหน้าหนี

New York Time ชี้ว่า มาครงเสียคะแนนความนิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงานและชนชั้นกลาง แต่ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรวย เนื่องจากความพยายามของรัฐบาลมาครงที่จะลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้สูงของเขา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มองว่า ไม่สมเหตุสมผลเพราะจะเป็นช่องที่ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำระหว่างคนจน-คนรวยมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อ "นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่เป็นอย่างที่หวัง เอ็มมานูเอล มาครง

ส่วน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา วัย 48 ปี ก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างกัน หลังชาวแคนาดาได้นายกฯ คนหนุ่มไฟแรง ที่มีความหล่อระดับเวิลด์คลาส เข้ามาบริหารประเทศได้ราว 2 ปี ตั้งแต่เขาชนะเลือกตั้งเมื่อเดือน ต.ค. 2015 ความนิยมของทรูโดก็ค่อยๆ ถดถอยลง

สื่อแคนาดาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลที่มีคนหนุ่มสาวไฟแรง สนใจแต่จะเป็นข่าวและสร้างความนิยมให้ตัวเอง โดยผลสำรวจจาก CBC Poll ชี้ให้เห็นว่า ปลายเดือน มี.ค. 2018 คะแนนนิยมพรรคฝ่ายค้านแซงหน้าพรรคเสรีนิยมของทรูโด ที่คะแนนร่วงลงมาอยู่ที่ 33.7 เปอร์เซ็นต์

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียไปทั้งหมด นิก นาโนส นักวิจารณ์การเมืองชาวแคนาดา บอกกับ The Washington Post ว่า ทรูโดไม่มีประสบการณ์บริหารงานระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สร้างความประทับใจให้ชาวแคนาดา

แต่ทรูโดก็ยังถือเป็นทางเลือกที่ดี นโยบายของเขาให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีอย่างมาก แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้เขาเสียคะแนนจากกลุ่มเพศชาย นาโนส บอกว่า ทรูโดยังมีเวลาพลิกสถานการณ์ โดยจะต้องมุ่งเน้นไปที่ชนชั้นกลาง และผลักดันนโยบายที่ให้สิทธิชายและหญิงอย่างเท่าเทียม

กระทั่งเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลทรูโดเผชิญข้อครหาว่ามีส่วนเข้าไปพัวพันในการคอร์รัปชั่น ด้วยการที่เขาพยายามแทรกแซงคดีทุจริตของบริษัท SNC-Lavalin บริษัทด้านวิศวกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ให้รอดพ้นจากการถูกไต่สวน ซึ่งเรื่องอื้อฉาวนี้ส่งผลให้รัฐมนตรีและผู้ช่วยบางคนต้องกระเด็นออกจากเก้าอี้ ยิ่งฉุดรั้งให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมัวหมองมากขึ้น

ยังไม่รวมกรณีถูกประชาชนค่อนแคะว่าเป็นลูกไล่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ซึ่งรวมถึงกรณีที่จับลูกสาวหัวเหวย ที่สนามบินแวนคูเวอร์ จนทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนเลวร้ายลงเรื่อยๆ อีกด้วย

เมื่อ "นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่เป็นอย่างที่หวัง จัสติน ทรูโด

ภาพ เอเอฟพี