posttoday

พบร้านอาหารไทยในออสเตรเลียเอาเปรียบลูกจ้าง

22 กุมภาพันธ์ 2562

องค์กรแรงงานของออสเตรเลีย พบร้านอาหารไทยในนครบริสเบน จ่ายค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นนักเรียนต่างชาติ 3 รายต่ำกว่ามาตรฐาน

องค์กรแรงงานของออสเตรเลีย พบร้านอาหารไทยในนครบริสเบน จ่ายค่าจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นนักเรียนต่างชาติ 3 รายต่ำกว่ามาตรฐาน

สำนักข่าวเอสบีเอสของออสเตรเลียรายงานว่า องค์กร แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน หรือผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม ระบุว่าได้รับการร้องเรียนจากนักเรียนไทย 3 คน อายุราว 20 ปี ที่เข้าไปทำงานในร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในนครบริสเบน นั้นได้รับค้าจ้างที่ไม่ถูกต้องตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงระหว่าง 12-17 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างเพิ่มพิเศษสำหรับลูกจ้างแคชชวล (casual loading) และอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ (weekend penalty rate) ซึ่งเป็นสิทธิที่ลูกจ้างควรได้รับตามข้อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมร้านอาหาร (Restaurant Industry Award)

นักเรียนไทยทั้ง 3 รายซึ่งถือวีซ่านักศึกษานั้นได้รับค่าแรงที่ขาดไปรวมกัน 27,164 ดอลลาร์ นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ของ แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน ยังพบว่าร้านดังกล่าวละเมิดการบันทึกหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานและการจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง และไม่มีช่วงเวลาให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างทำงานอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี นางซานดรา พาร์กเกอร์ ผู้ตรวจการขององค์กร แฟร์ เวิร์ก ออมบัดส์แมน ระบุว่า ขณะนี้้ร้านอาหารดังกล่าวได้เลี่ยงการถูกดำเนินคดีด้วยการยอมจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้แก่ลูกจ้างทั้งสามคนแล้ว รวมถึงจะปรับปรุงมาตรการต่างๆไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

นางพาร์กเกอร์ยังระบุอีกว่า “ลูกจ้างทุกคนในออสเตรเลียมีสิทธิในที่ทำงานที่เหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือถือวีซ่าใด เป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นสิ่งที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ที่นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นในอัตราที่เรียกกันว่า ‘อัตราท้องตลาด’ และตัดราคาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของตามข้อกำหนดของอุตสาหกรรม อัตราค่าจ้างในตลาดแรงงานของออสเตรเลียสำหรับลูกจ้างเหล่านี้เป็นอัตราที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (22 ก.พ. 2019) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำแห่งชาติ (National minimum wage) อยู่ที่ 18.93 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 420 บาท) หรือ 719.20 ดอลลาร์ต่อการทำงาน 38 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์ (ก่อนหักภาษี)