posttoday

ใกล้ยุคสืบทอดธุรกิจ ชี้ชะตาอนาคตเศรษฐกิจจีน

18 มกราคม 2562

บริษัทเอกชนจีนจำนวนมากเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากจีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และวันนี้ถึงเวลาที่ผู้ก่อตั้งจะส่งต่ออาณาจักรธุรกิจให้ผู้สืบทอด

บริษัทเอกชนจีนจำนวนมากเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากจีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และวันนี้ถึงเวลาที่ผู้ก่อตั้งจะส่งต่ออาณาจักรธุรกิจให้ผู้สืบทอด

******************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปและเปิดประเทศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว บริษัทเอกชนมากมายได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มจำนวนชนชั้นกลางของจีน อย่างไรก็ดี เอกชนเกือบทั้งหมดจากยุคนั้นเติบโตได้จากน้ำพักน้ำแรงของ “ตัวบุคคล” ซึ่งปัจจุบันมีอายุมากแล้ว และเข้าใกล้เวลาเกษียณอายุมากขึ้นทุกขณะ

ซ่ง ฉิงฮุ่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ฉิงฮุ่ย รีเสิร์ช บริษัทวิจัยในเมืองเสิ่นเจิ้น กล่าวกับเซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ว่า การสืบทอดของธุรกิจเอกชนมีความสำคัญอย่างมากกับเสถียรภาพและสภาพทางเศรษฐกิจของจีน เพราะผู้ประกอบการเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา และความสำเร็จของการสืบทอดธุรกิจอาจจะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเศรษฐกิจจีนในทศวรรษต่อไป

ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ วินด์ อินฟอร์เมชั่น บริษัทด้านการตลาด เปิดเผยผลสำรวจจากบริษัทเอกชนราว 2,000 แห่ง ในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ พบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทเอกชนทั้งหมดมีประธานบริษัทอายุเกิน 55 ปี และอีก 15% มีประธานอายุเกิน 60 ปี

นอกจากนี้ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) เปิดเผยผลการศึกษาธุรกิจครอบครัวในจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว พบว่า เอกชนเพียง 21% มีแผนสืบทอดธุรกิจไว้แล้ว ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกถึง 28%

อย่างไรก็ดี โรเจอร์ คิง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและผู้ประกอบการเอเชียของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง กล่าวว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของยุคนี้ คือ การดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับเข้ามาสู่ธุรกิจครอบครัว เนื่องจากจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากในด้านเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ก็เลือกมุ่งสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีมากขึ้น

พีดับเบิลยูซี พบว่า ผู้ประกอบการจีนมีแผนส่งต่อตำแหน่งหรือสิทธิในบริษัทให้กับคนในครอบครัวน้อยกว่าทั่วโลก โดยผู้ประกอบการจีนเพียง 42% ระบุว่าจะส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไปในครอบครัว ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 57%

ผลสำรวจระบุว่า คนรุ่นใหม่มองว่าธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าน้อยกว่า และไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อเทียบกับการไปทำงานที่อื่นในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ธนาคาร การลงทุน และเทคโนโลยี

ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่เลือกเมินธุรกิจครอบครัว คือ หลิ่วฉิง ลูกสาวของ หลิ่วฉวนจื้อ ผู้ก่อตั้งเลอโนโว บริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ โดยหลิ่วไปทำงานกับโกลด์แมน แซคส์ ในปี 2002 หลังได้รับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และไปรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของ ตีตี้ ชูซิง (Didi Chuxing) สตาร์ทอัพบริการเรียกรถรับส่งในปี 2014

หลิ่วได้เลื่อนขั้นเป็นประธานของ ตีตี้ ชูซิง ในปี 2015 และช่วยปั้นตีตี้ให้เป็นยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถรับส่งของจีน ทั้งยังเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพมูลค่าสูงที่สุดของโลกด้วยมูลค่าระหว่าง 5-5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.58-1.64 ล้านล้านบาท) สูงกว่ามูลค่าตลาดรวมกันของ เลอโนโว กรุ๊ป และเลเจนด์ โฮลดิ้งส์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเลอโนโว ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกันที่ 1.11 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 4.48 แสนล้านบาท)

คนดังเริ่มวางมือ

ปี 2018 เป็นปีที่มีผู้ประกอบการชื่อดังประกาศแผนสืบทอดธุรกิจหรือสืบทอดอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม

ตลอดปีที่ผ่านมา มีมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์ของจีนอย่างน้อย 7 คน ที่ประกาศส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ เช่น แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานหัวเว่ย หยาง กั๋วเฉียง ผู้ก่อตั้งและประธาน คันทรี การ์เด้น อู๋ หยาจุน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานของ ลองฟอร์ พร็อพเพอร์ตี จู กงซาน ประธาน จีซีแอล พาวเวอร์ เฉา เต๋อว่าง ผู้ก่อตั้งและประธาน ฟูเย่า กลาซ และ ว่าน หลง ประธานและซีอีโอ ดับบลิวเอช กรุ๊ป

ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของทั้ง 7 คน อยู่ที่ 65 ปี และเป็นการสืบทอดธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน โดยผู้บริหาร 6 ใน 7 คนดังกล่าวได้ประกาศแผนส่งต่อธุรกิจให้กับคนในครอบครัว มีเพียงแจ็คหม่าเพียงคนเดียวที่ส่งต่อให้กับคนนอกครอบครัว

ยุค 4.0 ปัจจัยท้าทาย

อีกหนึ่งความท้าทายสำหรับธุรกิจครอบครัวของจีน คือ การดำเนินธุรกิจในยุค 4.0 ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น โดย เจเรมี เฉิง ผู้จัดการศูนย์ศึกษาธุรกิจและผู้ประกอบการครอบครัวเอเชีย กล่าวว่า รูปแบบธุรกิจที่เคยได้ผลดีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาจจะกลายเป็นใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบันแล้ว เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาทำลายธุรกิจเดิม

“แทนที่จะคิดเรื่องการส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป ครอบครัวควรคิดเรื่องการใช้ความสามารถของคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่อยู่ภายใต้ธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่”เฉิง กล่าว

เฉา เต๋อว่าง จาก ฟูเย่า กลาซ คือ ตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ หลังจากที่ปล่อยให้ เฉา ฮุย ลูกชายของตัวเองที่ทำงานกับบริษัทมา 9 ปี ลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวในปี 2015 จากนั้นจึงประกาศเข้าซื้อบริษัทของลูกชาย ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์อิสระของฟูเย่า ในวงเงิน 224 ล้านหยวน (ราว 1,048 ล้านบาท) เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับได้ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ออกไปพิสูจน์ความสามารถ และท้ายที่สุดก็ผนวกเข้ามาเป็นธุรกิจของครอบครัว และได้ปูทางสู่การรับตำแหน่งประธานของฟูเย่าในอนาคตไปพร้อมกัน

ฉิงฮุ่ย รีเสิร์ช ยังระบุว่า อีกหนึ่งความท้าทายของธุรกิจครอบครัวในจีน คือ แผนสืบทอดธุรกิจเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงการเปลี่ยนผ่านและยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นพอดี โดยธุรกิจครอบครัวในจีนส่วนใหญ่เป็นบริษัทในภาคการผลิต และมีพื้นที่เติบโตอย่างจำกัดในอนาคต ดังนั้น จึงนับเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายคนรุ่นต่อไปที่เข้ามารับไม้ต่อว่า จะทำให้กิจการขยายตัวไปพร้อมกับสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจได้อย่างไร