posttoday

2562 ปีแห่งความผันผวน ศึกค้าโลกจุดความเสี่ยงต่อ

04 มกราคม 2562

เศรษฐกิจโลกปี62 ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่มีประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจโลกปี62 ยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่มีประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง

*************************************

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจโลกปีหมู 2562 อาจไม่หมูดังชื่อ เพราะเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “สงครามการค้า” ที่ต้องรอลุ้นผลเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีน “เบร็กซิต” ที่ใกล้ถึงกำหนดเส้นตายในเดือน มี.ค.นี้ “เศรษฐกิจจีนขาลง” ที่อาจฉุดหลายประเทศลงไปด้วย “เฟด” ที่จะส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางไปจนถึงตลาดหุ้นทั่วโลกในปีนี้ และ “การเลือกตั้ง” ที่น่าจับตาในหลายประเทศของเอเชีย

“สงครามการค้า”กดดันเศรษฐกิจต่อ

สงครามการค้าที่ทำให้ทั่วโลกโล่งใจมาได้พักหนึ่งกับการสงบศึกชั่วคราว 90 วัน จะกลับมาเป็นประเด็นร้อนที่เขย่าเศรษฐกิจโลกให้ผันผวนอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยผู้แทนของสหรัฐและจีนจะร่วมประชุมกันนัดแรกที่กรุงปักกิ่งในเดือน ม.ค.นี้ หากมองในเชิงบวกนั้น นักวิเคราะห์มองไปที่สัญญาณต่อเนื่องของจีนที่ผ่อนคลายลง อาทิ การเตรียมเปิดตลาดมากขึ้น การเตรียมร่างกฎหมายห้ามบังคับให้บริษัทต่างชาติถ่ายโอนเทคโนโลยี การเตรียมลดการอุดหนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การลดภาษีรถยนต์สหรัฐเหลือ 15% และการรับซื้อสินค้าเกษตรและพลังงานของสหรัฐเพิ่ม

ทว่าก็ยังไม่มีสำนักวิเคราะห์ใดที่เชื่อว่าสงครามการค้าจะจบลงได้ภายใน 90 วัน เพราะปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีนคือหนังม้วนยาวที่ลามไปถึงภาคเทคโนโลยีของจีน ทั้งในแง่เทคโนโลยี 5จี ที่จะมีการประมูลคลื่นในหลายประเทศปีนี้ ซึ่งจีนเป็นเบอร์ 1 ด้านอุปกรณ์ 5จี อยู่ รวมไปถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่จีนมีเป้าหมายเป็นผู้นำโลกด้านเอไอภายในปี 2030 นอกจากนี้ แกนนำฝั่งเดโมแครตหลายคนและสายเหยี่ยวรอบตัวผู้นำสหรัฐก็ยังมีท่าทีแข็งกร้าว ดังนั้น จึงยังวางใจไม่ได้ และอาจต้องเตรียมรับผลกระทบตามมาอีก เช่นล่าสุดที่บริษัทแอปเปิ้ล อิงค์ ต้องหั่นคาดการณ์รายได้ไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ลง เพราะคาดว่ารายได้จะหายไปเยอะในตลาดจีน

ฟาก “เศรษฐกิจจีน” คาดว่าจะรับผลกระทบสงครามการค้าที่ดีเลย์ไปเห็นผลในปีนี้มากกว่า ซึ่งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดว่าจีดีพีจีนปีนี้จะโตได้เพียง 6.2% ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี จากเดิมที่โตได้ 6.5% ในปีที่แล้ว โดยปัจจุบันจีนและหลายประเทศส่งออกในเอเชียเริ่มเจอแรงกดดันหนักขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของจีนในเดือน ธ.ค. ปรับลงแตะ 49.7 จาก 50.2 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2017 และหลุดระดับ 50 หรือเข้าขั้นถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ซึ่งสะท้อนว่าภาคการผลิตจีนกำลังย่ำแย่หนัก สอดคล้องกับดัชนีพีเอ็มไอในอีกหลายที่ เช่น ไต้หวัน ที่ 47.7 หรือต่ำสุดนับแต่เดือน ก.ย. 2015 ของมาเลเซียอยู่ที่ 46.8 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 53.8 ลดลงจาก 56.5 และฟิลิปปินส์ปรับลงแตะ 53.2 จาก 54.2

อย่างไรก็ดี จีนยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินหรือการคลังครั้งใหญ่ เหมือนที่เคยใช้มาเมื่อราว 10 ปีก่อน แต่ระบุเพียงว่าจะจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้มาตรการกระตุ้นอย่างรอบคอบ แต่เชื่อว่าหากสถานการณ์ในปีหน้ายังไม่กระเตื้องขึ้น จีนอาจจำเป็นต้องงัดยากระตุ้นแรงมาใช้ในที่สุด

ขณะที่ “ราคาน้ำมันโลก” น่าจะกลับมากระเตื้องขึ้นในปีนี้ เพราะการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) และรัสเซีย จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ แต่หลายสำนักยังเชื่อว่าจะขึ้นได้ไม่มาก เพราะยังมีแรงกดดันเรื่องซัพพลายล้นตลาดอยู่ โดยเฉพาะการผลิตจากฝั่งเชลออยล์ในสหรัฐ โดยซิตี้แบงก์คาดว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปีนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 49 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ให้ที่ 59 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ราคาเมื่อวานนี้อยู่ที่ราว 45.35 ดอลลาร์/บาร์เรล

ด้าน “ธนาคารกลางสหรัฐ” หรือ เฟด ปรับลดคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ลงเหลือ 2 ครั้ง จากคาดการณ์เดิมที่ 3 ครั้ง และตลาดทุนคาดการณ์ว่ามีสิทธิจะลดลงเหลือเพียง 1 ครั้งด้วย หากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง ขณะที่รอยเตอร์สรวมความเห็นนักวิเคราะห์ว่า ปี 2562 น่าจะเป็นปีที่แบงก์ชาติทั่วเอเชียได้ “พักยาว” เพราะมีแรงกดดันจากเฟดลดลง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะไม่ขยายตัวมากนัก ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ เช่น เงินทุนไหลออกกดดันค่าเงินของตัวเองอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดเอาไว้

การเมืองเอเชีย 2562 ร้อนแรง

“จีน” เปิดศักราชใหม่พุ่งเป้าไปที่ “ไต้หวัน” โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน กล่าวปราศรัยในวาระครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์กับไต้หวันที่ดีขึ้น ย้ำถึงการผนึกรวมไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเตือนไม่ให้พยายามแยกตัวเป็นอิสระจากจีน โดยย้ำว่าจะไม่ตัดทางเลือกการใช้แสนยานุภาพทางทหารเพื่อผนึกรวมไต้หวันเข้ากับจีนด้วย ทำให้ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวตอบโต้แข็งกร้าวไม่ยอมรับการรวมชาติ และไต้หวันไม่ยอมรับหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน ทำให้สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันกลายมาเป็นประเด็นร้อนใหม่ทางการเมืองฝั่งเอเชียในปีนี้ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ด้านสถานการณ์บน “คาบสมุทรเกาหลี” ยังคงเป็นภาคต่อที่ต้องติดตามว่าจะได้ไปต่อหรือล้มเหลวลง หลังจากที่มีการเปิดศักราชใหม่แก้ปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือมาในปีที่แล้ว โดยผู้นำสองเกาหลีได้ลงนามปฏิญญาปันมุนจอม เพื่อสันติภาพ ความรุ่งเรือง และการรวมชาติบนคาบสมุทรเกาหลี อีกทั้งยังมีการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ที่สิงคโปร์

สุดท้าย ปัจจัยการเมืองโลกที่ต้องจับตาย่อมหนีไม่พ้นการเลือกตั้งใหญ่ทั่วเอเชีย ตั้งแต่ “ประเทศไทย” ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี ในเดือน ก.พ. จากนั้นไปต่อที่การเลือกตั้งทั่วไปใน “อินเดีย” ในเดือน มี.ค.-เม.ย. และการเลือกตั้งประธานาธิบดี “อินโดนีเซีย” ในวันที่ 17 เม.ย.

สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครมองว่าจะเกิดเซอร์ไพรส์ เพราะฝ่ายรัฐบาลทุ่มอัดนโยบายประชานิยมกันหนัก และฝ่ายค้านยังไม่สามารถทำคะแนนไล่สูสีได้ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งประธานาธิบดี โจโก วิโดโด มีคะแนนนำ ปราโบโว ซูเบียนโต ที่เกือบ 55% ต่อ 30.6% เช่นเดียวกับในอินเดีย ที่คาดว่าพรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมที จะยังชนะแม้จะได้เสียงลดลง ซึ่งชัยชนะต่อเนื่องจะทำให้รัฐบาลอินเดียสามารถสานต่อยุทธศาสตร์ทั้งในและระหว่างประเทศที่ช่วยคานจีนในปีแห่งความผันผวนนี้ด้วย