posttoday

"โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก

30 พฤศจิกายน 2561

อะไรคือความต่างในการขึ้นทะเบียน 'โขนไทย' กับ 'โขลเขมร' ในมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก

อะไรคือความต่างในการขึ้นทะเบียน  'โขนไทย' กับ 'โขลเขมร' ในมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศรับรอง “โขนไทย” (Khon mask dance drama) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติอันจับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ในการประชุมที่กรุงพอร์ตลูอิส ประเทศมอริเชียส เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจาก “ละครโขลวัดสวายอันแดต” (Lkhon Khol Wat Svay Andet) ของกัมพูชา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งโขนไทย กับละคอนโขลวัดสวายอันแดตของกัมพูชา ขึ้นทะเบียนคนละประเภทกัน

 

"โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวหลังการประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทย เป็นมรดกโลก

 

โดยยูเนสโกมีการกำหนดเกณฑ์และแบ่งแยกการพิจารณาเป็น 3 ประเภท คือ 1.มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (representative list of intagible cultural heritage of humankind) 2.ภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน (urgent list) และ 3.มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการสงวนรักษา (good practice) ซึ่งละครโขลของกัมพูชาขึ้นทะเบียนในรายการที่สอง เป็นมรดกที่ต้องได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้คงไว้สืบไป ส่วนโขนไทยที่ยื่นพิจารณาในประเภทที่หนึ่ง คือ เป็นมรดกที่แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของมรดกชิ้นนี้

 

"โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวหลังการประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทย เป็นมรดกโลก

ก่อนหน้านี้ ชาวไทยและกัมพูชาเกิดความขัดแย้งกันเรื่องที่มาของโขน (ไทย) และละคอนโขล (กัมพูชา) ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นต้นแบบและอีกฝ่ายลอกเลียนแบบ และพยายามขัดขวางไม่ให้แต่ละฝ่ายเสนอมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก จนหวุดหวิดจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ

M2F ได้เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า โขนในไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่เราสามารถทราบได้ว่า โขลในกัมพูชารับมาจากราชสำนักไทยแน่นอน เช่น ในงานวิชาการเรื่อง “วาทกรรมนาฏศิลป์ราชสำนักกัมพูชายุคหลังอาณานิคม” โดย ซาซากาวาา ฮิเดโอะ ในวารสาร Southeast Asian Studies ฉบับที่ 42 เดือน มี.ค. 2005 ชี้ว่า ในรัชสมัยนักองค์ด้วง กัมพูชาอยู่ภายใต้อำนาจสยาม และรับนาฏศิลป์จากสยามไปเผยแพร่ หลังจากกัมพูชาเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว นาฏศิลป์ในราชสำนักยังถือว่าสยามเป็นต้นแบบ

 

"โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก ภาพ : กระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวหลังการประกาศขึ้นทะเบียนโขนไทย เป็นมรดกโลก

 

อย่างไรก็ตาม คำอ้างที่ชาวกัมพูชามักยกขึ้นมาโต้เถียงคือ ไทยขโมยโขนไปจากกัมพูชา เมื่อคราวที่กองทัพไทยสมัยอยุธยามาตีเมืองนครธมแล้วกวาดต้อนครูนาฏศิลป์ไปด้วย วาทกรรมนี้เกิดขึ้นจากชาวฝรั้่งเศสเช่นกัน เช่น ข้ออ้างของ อะเดมาด เลอแคลร์ (Adémard Leclère) ชาวฝรั่งเศสที่เขียนบทความเรื่องนาฏศิลป์เขมร ที่แม้จะไม่อาจบ่ายเบี่ยงข้อเท็จจริงได้ว่า โขนละครเขมรสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดมใช้ภาษาไทยและมีนักแสดงจากไทยในคณะ แต่กลับอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า แม้จะได้จากไทย แต่ไทยรับมาจากเขมรยุคนครวัดอีกทอดหนึ่ง การอ้างนี้ถูกฮิเดโอะตำหนิว่าไม่มีมูล และชี้ว่า หากไทยรับไปจากยุคนครวัดจริงก็ต้องมีการปรับให้เป็นเอกลักษณ์ไทย จนกลายเป็นแบบฉบับไทย ไม่ใช่รับจากศตวรรษที่ 13 โดยไม่มีการปรับเปลี่ยน

 

"โขนไทย - โขลกัมพูชา" ความต่างในมรดกโลก ภาพ : koonkhmer.com

 

ในส่วนของการขึ้นทะเบียนละคอนโขล กระทรวงวัฒนธรรมของกัมพูชา ก็ได้ออกมาแถลงข่าวน่ายินดีครั้งนี้ว่า ผลประสบความสำเร็จที่ละครโขลกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดก เกิดจากความพยายามของรัฐบาล ภาคสังคม และแรงสนับสนุนจากประชาชน ทั้งละคอนโขลยังช่วยให้กัมพูชาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวทีโลก การตัดสินใจขึ้นทะเบียนละคอนโขลเป็นมรดกโลก คือความภาคภูมิใจของกัมพูชา หลังกระทรวงวัฒนธรรมได้ยื่นเรื่องต่อยูเนสโกตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่ สมเด็จฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คแสดงความยินดีในโอกาสนี้ด้วย ระบุว่า ถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของชาวกัมพูชา

ด้านสื่อกัมพูชารายงานว่า ต้นแบบของละครโขล เกิดขึ้นในต้นยุคอาณาจักรนครวัดนครธม โดยปรากฏรูปสลักบนผนังปราสาทนครวัด ส่วนละคอนโขลของวัดสวายอันแดตเริ่มมีการแสดงครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 และจากหนังสือมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชา อ้างว่าละครโขลชุดนี้พัฒนาจากรูปแบบการร่ายรำดั้งเดิมของบุรุษเขมรเอง และแสดงแต่เฉพาะเรื่องเรียมเกร์ หรือ รามเกียรติ์ฉบับภาษาเขมร ในอดีตกัมพูชามีคณะละคอนโขลที่ริเริ่มจากศิลปินชั้นครูทั้ง 8 คน แต่เมื่อเกิดสงครามครูนาฏศิลป์ต่างล้มหายตายจากไป หลงเหลือแต่เพียงคณะ “ละคอนโขลของวัดสวายอันแดต” ที่ต้นกำเนิดพื้นเพอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญ ราว 15 กม. และถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงยุคปัจจุบัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ M2F