posttoday

คาดระบบเซนเซอร์ไม่ปลอดภัย ชนวนเหตุไลอ้อนแอร์ตกทะเลอินโดฯ

28 พฤศจิกายน 2561

อินโดนีเซียเผยผลสอบ เหตุไลอ้อนแอร์ดิ่งทะเลชวา พบสภาพเครื่องไม่พร้อมตั้งแต่ก่อนขึ้นบิน

อินโดนีเซียเผยผลสอบ เหตุไลอ้อนแอร์ดิ่งทะเลชวา พบสภาพเครื่องไม่พร้อมตั้งแต่ก่อนขึ้นบิน

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งของอินโดนีเซีย (KNKT) ได้เผยรายงานผลการสอบสวนเหตุที่เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 แม็กซ์ ของสายการบินไลอ้อนแอร์ ประสบเหตุตกที่นอกชายฝั่งของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังขึ้นบินออกจาสนามบินในกรุงจาการ์ต้าได้เพียง 13 นาที จนส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 189 รายเสียชีวิต ในเบื้องต้นต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย

รายงานระบุว่า ทีมสอบสวนได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นของระบบเซนเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆของเครื่อง ซึ่งมีการแสดงค่าที่ผิดพลาด จนเป็นสาเหตุให้ระบบความปลอดภัยอัตโนมัติของเครื่องต้องทำงานผิดพลาด จนส่งผลให้เครื่องเชิดหัวขึ้น

 

คาดระบบเซนเซอร์ไม่ปลอดภัย ชนวนเหตุไลอ้อนแอร์ตกทะเลอินโดฯ

 

เสียงภายในห้องนักบินที่มีการบันทึกไว้ในกล่องดำที่มีการกู้ซากขึ้นมาได้นั้น ระบุว่า นักบินต้องต่อสู้กับระบบความปลอดภัยของเครื่องที่ส่งผลให้เครื่องเชิดหัวขึ้น แต่นักบินพยายามกดหัวเครื่องลง

โดยข้อมูลที่ได้จากกล่องดำนั้น เผยว่านักบินพยายามแก้ไข และควบคุมระบบความปลอดภัยอัตโนมัติของเครื่อง ซึ่งเป็นเหตุให้เครื่องบินเกิดอาการปักหัวดิ่งลงซ้ำหลายครั้ง จนนักบินต้องวิทยุแจ้งขอบินกลับไปที่สนามบินหลักในกรุงจาการ์ต้า
 
รายงานการสอบสวนยังระบุอีกว่า แม้เครื่องลำนี้จะเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ แต่ก็พบปัญหาหลายครั้งในระหว่างทำการบิน ซึ่งทางไลอ้อนแอร์ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบความผิดพลาดของเซนเซอร์อยู่หลายครั้ง ซึ่งส่งผลให้เครื่องมีสภาพที่ไม่พร้อมให้บริการมาตั้งแต่ขึ้นบินแล้ว

 

คาดระบบเซนเซอร์ไม่ปลอดภัย ชนวนเหตุไลอ้อนแอร์ตกทะเลอินโดฯ

 

รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับที่ นาย Peter Lemme ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและการสื่อสารผ่านดาวเทียมและอดีตวิศวกรของโบอิ้ง ได้เขียนข้อมูลระบุในเว็บบล็อกส่วนตัวของเขาว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 แม็กซ์นี้ จะมีเซนเซอร์ที่ปลายจมูกด้านหน้าของเครื่อง ซึ่งจะตรวจจับว่าเครื่องบินอยู่ในระดับใด ระบบก็จะสั่งการให้มีการปรับแผงปีกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เครื่องเชิดหัวขึ้น (aerodynamic stall)

อย่างไรก็ตามสำนักงานความปลอดภัยด้านการคมนาคมของอินโดนีเซีย ยังไม่ได้ชี้ชัดถึงสาเหตุที่ทำให้เครื่องลำดังกล่าวตก โดยต้องรอรายงานการสอบสวนฉบับสุดท้ายซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ สำหรับเครื่องรุ่น 737 แม็กซ์ดังกล่าวถูกใช้งานในสายการบินต่างๆทั่วโลกแล้วถึง 200 ลำ