posttoday

สหรัฐฯ สั่งห้ามนำเข้า "น้ำปลาไทย" เสี่ยงก่อมะเร็ง

23 ตุลาคม 2561

สหรัฐฯ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทย ระบุไทยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าน้ำปลาไทยไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง ด้านร้านอาหารไทยในสหรัฐฯเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำปลาแล้ว

สหรัฐฯ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทย ระบุไทยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าน้ำปลาไทยไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง ด้านร้านอาหารไทยในสหรัฐฯเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำปลาแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาไทย เนื่องจากต้องการให้ทางการไทยตรวจสอบและพิสูจน์สารปนเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการหมักน้ำปลาเสียก่อนว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง เนื่องจากในกระบวนการหมักน้ำปลาไทย จะใช้ปลาตัวเล็กในการหมักจึงไม่สามารถชำแหละเพื่อเอาไส้ปลาออกก่อนได้

ทาง FDA สหรัฐระบุว่า จากการสุ่มตรวจนั้นพบว่า น้ำปลาไทยสารทำให้เกิดมะเร็ง ต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือต้องต้ม แม้ว่าประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการไทยเองมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ สคร.ห่วงว่าประเด็นจะส่งผลต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 กว่าร้าน และยังมีร้านอาหารเอเชียจากกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งต่างก็จำเป็นต้องบริโภคน้ำปลาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารทั้งสิ้น

รายงานจากสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสหรัฐระบุให้ บริษัทโรงน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด เข้าในบัญชี Import Alert 16-120 และกักกันการนำเข้า เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบ HACCP สำหรับสินค้าอาหารทะเล โดยระบุว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร Histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย clostridium butolinum ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้จากการตรวจสอบรายการ Import Alert พบว่าก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐเคยสั่งระงับการนำเข้าน้ำปลาไทย 3 แห่งก่อนหน้านี้คือ

1) Saigon International (2004) จ.ราชบุรี

2) Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) ครั้งแรก วันที่ 21 เม.ย. 57 และครั้งที่ 2 วันที่ 20 พ.ค. 57

3) Thang Nguan Hah 92 หมู่ 1 วัดปลาคู่อำเภอเมือง สมุทรสงคราม 21 เม.ย.57

การสั่งห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยดังกล่าวเริ่มส่งผลให้ร้านอาหารไทยในสหรัฐรายร้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำปลาแล้ว โดยบางร้านแก้ปัญหาโดยการใช้เกลือแทน ซึ่งส่งผลให้รสชาติและกลิ่นของอาหารต้องผิดเพี้ยนไป

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า ขณะนี้ได้มีการประสานกับบริษัทผู้ที่ถูกห้ามนำเข้าแล้ว ทราบว่าอยู่ระหว่างการแก้ไข โดยเคสนี้จะแตกต่างจากเคสของน้ำปลาทิพรสก่อนหน้านี้ ซึ่งทางสหรัฐขอให้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีสารเจือปนและให้ต้ม

ทั้งนี้ น้ำปลาของไทยเริ่มถูกกักกันและห้ามนำเข้าไปยังสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2557 หลังจาก เจ้าหน้าที่ของFDA ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำปลาเครื่องหมายการค้า ‘ทิพรส’ ของบริษัททั่งซังฮะ (Tang Sang Hah) ตามกฎระเบียบของFDA ที่จะต้องสุ่มตัวอย่างตรวจสอบ พบว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาของบริษัททั่งซังฮะ อาจก่อให้เกิดสาร Histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium Butolinum ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสินค้าอาหารทะเลภายใต้กฎระเบียบ HACCP

อย่างไรก็ตาม กระบวนการหมักน้ำปลาโดยใช้ความเค็มเป็นกระบวนการปกติของคนเอเชียที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล สามารถถนอมอาหารโดยใช้ความเค็ม แต่ไม่สามารถนำไปต้มได้เพราะจะทำให้รสชาติเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าครั้งนี้จะสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำปลาของไทย