posttoday

หลักฐานสะท้านโลก! มนุษย์ดึกดำบรรพ์2เผ่าผสมพันธุ์ข้ามกลุ่ม

26 สิงหาคม 2561

การศึกษาพันธุกรรมของซากกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุ 90,000 ปีพบหลักฐานการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ของมนุษย์

การศึกษาพันธุกรรมของซากกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุ 90,000 ปีพบหลักฐานการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ของมนุษย์

นิตยสาร Nature ตีพิมพ์ผลการค้นพบอันน่าตื่นเต้นของคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาพันธุกรรมของซากกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์อายุ 90,000 ปีของเด็กสาววัย 13 ปี ทางตอนใต้ของภูมิภาคไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย พบว่า ดีเอ็นเอของเด็กสาวรายนี้มีพันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลกับพันธุกรรมของมนุษย์เดนิโซแวน แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ทั้ง 2 สายพันธุ์ผสมพันธุ์กันข้ามกลุ่ม

มนุษย์นีแอนเดอร์ทาลกับเดนิโซแวน เป็นสายพันธุ์หนึ่งของมนุษย์ปัจจุบัน แต่มีลักษณะที่ยังดูคล้ายเอป หรือลิงไม่มีหาง เดิมมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ต่อมาอาศัยอยู่ในแถบยูเรเชีย (เอเชีย+ยุโรป) จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 40,000 ปีก่อน

สวานเต ปาอาโบ นักพันธุกรรมศาสตร์แห่งสถาบันวิวัฒนาการมานุษยวิทยามักซ์ พลังค์ ในเมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำทีมงานนักวิทยาศาสตร์ที่พบข้อมูลดังกล่าว กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้พบข้อมูลดังกล่าว เพราะหลักฐานของการผสมข้ามเผ่าพันธุ์ของญาติมนุษย์ปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่น้อยมากทั่วโลก

ปาอาโบ เผยว่า สถานที่พบหลักฐาน คือถ้ำแห่งหนึ่งใกล้กับประเทศมองโกเลีย พบทั้งซากของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลกับเดนิโซแวน ซึ่งก็ถือเป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นได้ยากแล้ว ที่ยากกว่านั้นคือยังพบทายาทของมุนษย์ 2 สายพันธุ์ จนเรียกได้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง จากการวิจัยพบว่า เด็กหญิงดังกล่าวมีแม่เป็นมนุษย์นีแอนเดอร์ทาล ส่วนพ่อเป็นมนุษย์เดนิโซแวน

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ทาลกับเดนิโซแวนผสมพันธุ์ข้ามสาย และยังผสมพันธุ์กับมนุษย์ยุคปัจจุบัน จนทำให้มีพันธุกรรมของทั้ง 2 สปีชีส์หลงเหลือยู่ในมนุษย์บางกลุ่มทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่พบในกระดูกของเด็กสาววัย 13 ปี เป็นหลักฐานแรกที่ยืนยันการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มเป็นรุ่นแรก

หลักฐานชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า มนุษย์ 2 เผ่าไม่เพียงพบกันบ่อยกว่าที่คาด แต่ยังอาจร่วมเพศข้ามกลุ่มกับบ่อยๆ ด้วย จนทำให้พันธุกรรมทั้ง 2 ทั้งกลุ่มยังปรากฏตัวอยู่ในมนุษย์รุ่นของเรา เช่น ดีเอ็นเอมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลก็ยังแฝงอยู่ในตัวเรามากกว่าที่เคยคาดการณ์กันได้ ขณะที่มนุษย์เดนิโซแวนทิ้งร่องรอยทางดีเอ็นเอเอาไว้ในประชากรในเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย

ทั้งนี้ นีแอนเดอร์ทาลและมนุษย์ปัจจุบันได้พบกันครั้งแรกเมื่อราว 40,000 ปีก่อน และได้ผสมข้ามพันธุ์กัน โดยเชื้อชาติที่พบดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ทาลมากที่สุด คือ ชาวอิตาลี ส่วนมนุษย์เดนิโซแวน ได้ชื่อมาจากถ้ำเดนิโซวา ในแถบเทือกเขาอัลไต ภูมิภาคไซบีเรีย ต่อมาอพยพลงใต้มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสเตรเลียและเมลานีเซีย ผสมข้ามพันธุ์กับมนุษย์ปัจจุบันเมื่อ 40,000 ปีก่อน

ภาพ เอเอฟพี

ที่มา www.m2fnews.com