posttoday

6 ปีอันสูญเปล่า "อินเดีย"เหลวขจัดข่มขืน

29 กรกฎาคม 2561

แม้อินเดียจะแก้กฎหมายเพิ่มโทษในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ แต่ภัยเหล่านี้กลับยิ่งทวีความรุนแรงกว่าในอดีต

แม้อินเดียจะแก้กฎหมายเพิ่มโทษในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ แต่ภัยเหล่านี้กลับยิ่งทวีความรุนแรงกว่าในอดีต

**********************************

โดย...ชลทิพย์ สุริสาร

เมื่อปี 2012 “อินเดีย” ทำให้ทั่วโลกตกตะลึงและสะเทือนใจอย่างที่สุดจากเหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาสาววัย 23 ปี โดยเธอถูกชายฉกรรจ์ 6 คนรุมข่มขืนระหว่างนั่งรถบัสกลับบ้าน แล้วโยนออกมาจากรถโดยสาร เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ทำให้หญิงสาวเสียชีวิตลงหลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 2 สัปดาห์

เหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดชนวนการประท้วงหลายต่อหลายครั้งในประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายพันคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการแก้ปัญหา

จากการประท้วงดังกล่าวจึงนำไปสู่การแก้กฎหมายของประเทศอินเดียในอีก 1 เดือนต่อมา โดยรัฐบาลกลางของอินเดียได้ผ่านกฎหมายระบุให้เพิ่มโทษในคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืนและการคุกคามทางเพศ ซึ่งประกอบไปด้วย การขยายระยะเวลาในการจำคุก รวมถึงเพิ่มโทษให้ประหารชีวิตในกรณีที่เหยื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี

อย่างไรก็ดี ถึงเวลาผ่านมาแล้วกว่า 6 ปี นับตั้งแต่เหตุสะเทือนใจในครั้งนั้น แต่ผู้หญิงอินเดียจำนวนมากยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง เพราะภัยคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงยังคงไม่หายไปไหน กลับยิ่งทวีความรุนแรงกว่าในอดีต

ข้อมูลจากหน่วยงานบันทึกข้อมูลอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง หลังจากปี 2012 นั้นไม่ได้ดีขึ้น โดยจำนวนของคดีข่มขืนที่อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาคดีในปี 2016 นั้นมีจำนวน 1.33 แสนคดี เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่มีจำนวน 1 แสนคดี

จากสถิติของรัฐบาลอินเดียในปี 2016 ระบุว่า ในทุกๆ 13 นาที จะมีผู้หญิงอินเดียถูกข่มขืน 1 คน หรือคิดง่ายๆ เป็น 4 คน ต่อ 1 ชม.ทั่วทั้งประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ภายใน 1 วันจะมีผู้หญิงถึง 6 คน ถูกแก๊งรุมโทรมข่มขืน ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าสาวอินเดีย 1 คน จะถูกฆาตกรรมในทุกๆ 69 นาที เพื่อหวังเอาสินสอดของฝ่ายหญิง และสถิติยังได้บอกอีกว่า ผู้หญิงอินเดียจะถูกสาดด้วยน้ำกรดเฉลี่ยแล้วกว่า 19 คน/เดือน

สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเด็กตกเป็นหมายในการข่มขืนมากขึ้น โดยจากบันทึกข้อมูลอาชญากรรมของทางการ
บ่งชี้ว่า เด็กตกเป็นเหยื่อคดีข่มขืนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วงปี 2012-2016 โดยคดีข่มขืนเด็ก คิดเป็น 40% ของคดีข่มขืนทั้งหมด

ด้านผลสำรวจล่าสุดของมูลนิธิ ทอมป์สัน รอยเตอร์ แสดงให้เห็นว่า ประเทศอินเดียครองอันดับ 1 ประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง ตามมาด้วยประเทศอัฟกานิสถาน ซีเรีย และซาอุดิอาระเบีย ตามลำดับ ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวมาจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 578 คน จากหลายภาคส่วน เช่น นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย และนักข่าว

6 ปีอันสูญเปล่า "อินเดีย"เหลวขจัดข่มขืน

ทำไมไม่ดีขึ้น?

หนังสือพิมพ์ ฮินดูสถาน ไทมส์ ของอินเดีย รายงานว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เหตุข่มขืนและการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอยู่ในระดับสูงนั้น ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น ความสมดุลของจำนวนประชากรชาย-หญิง และการบังคับใช้กฎหมาย

รายงานระบุว่า เมืองที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี แนวโน้มเกิดเหตุข่มขืนจะน้อยกว่าเมืองที่ประชากรยากจน แต่ฮินดูสถาน ไทมส์ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุใดสถานการณ์จึงเป็นเช่นนั้น

ขณะที่ปัจจัยต่อมาคือความไม่สมดุลของผู้ชายและผู้หญิง ยิ่งผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุข่มขืนยิ่งน้อยลง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้อินเดียกลับมีสัดส่วนผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง เนื่องจากคนอินเดียชื่นชอบลูกชายมากกว่า โดยข้อมูลระบุว่า ผู้ชาย 112 คนจะเกิดจากผู้หญิง 100 คน ซึ่งแตกต่างจากสัดส่วนเฉลี่ยตามธรรมชาติที่ผู้ชาย 105 คน จะเกิดจากผู้หญิง 100 คน

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้การแก้ปัญหาข่มขืนไม่คืบหน้า โดยรายงานระบุว่า ศาลอินเดียพิจารณาตัดสินคดีข่มขืนช้ามาก ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษย์คาดการณ์ว่า หากไม่มีคดีฟ้องร้องใหม่เพิ่ม ศาลอินเดียยังต้องใช้เวลาราว 20 ปี ในการปิดคดีดังกล่าวทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น “การไม่ตระหนักรู้” และการเมินเฉยต่อความรุนแรงของเหตุข่มขืน ถือเป็นปราการล่องหนที่ขัดขวางการลุกขึ้นมารณรงค์แก้ไขปัญหา โดยผู้ชายและผู้หญิงในอินเดียจำนวนมากยังปฏิเสธที่จะเชื่อว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาร้ายแรง ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิและความมั่นคงของผู้หญิงเท่าที่ควร

6 ปีอันสูญเปล่า "อินเดีย"เหลวขจัดข่มขืน

โต้บ่อนทำลายชื่อเสียง

อย่างไรก็ดี รอยเตอร์สรายงานว่า ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาผู้หญิงและเด็กของอินเดียที่ไม่เปิดเผยชื่อ มองว่า การใช้ผลสำรวจความคิดเห็นเพื่อที่จะบอกว่า อินเดียเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิงนั้นเป็นความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของอินเดีย

นอกจากนี้ สันเจ กุมาร์ (Sanjay Kumar) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม (CSDS) หนึ่งในองค์กรอิสระด้านงานวิจัยชั้นนำของอินเดีย ได้วิจารณ์ผลสำรวจนี้ว่า ผลสำรวจดังกล่าวขาดความโปร่งใส และมุ่งตั้งคำถามไปที่กระบวนการการทำสำรวจ เช่น วิธีการคัดสรรผู้เชี่ยวชาญว่ามีเพศและมีสัญชาติอะไร ซึ่งการสำรวจควรจะระบุให้ชัดเจน

ท้ายที่สุด ไม่ว่าอินเดียจะออกมาวิจารณ์ผลสำรวจดังกล่าวอย่างไร ภาพจำของคนทั่วโลกต่อสถานการณ์ความเลวร้ายของคดีข่มขืนผู้หญิงและเด็กของอินเดียที่แพร่ผ่านสื่อต่างๆ ทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2012 ก็ยากที่จะลบเลือน ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ หลายคนจึงทำได้แค่หวังว่า ผู้หญิงในอินเดียจะสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต

ภาพ : เอเอฟพี