posttoday

ใกล้เวลาปิดตำนาน 300 ปี 'ยากูซ่า'

03 มิถุนายน 2561

"ยากูซ่า" องค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือกลุ่มที่สื่อต่างชาติเรียกว่าเป็น "มาเฟียญี่ปุ่น" ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

โดย...สุภีม ทองศรี

"ยากูซ่า" องค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือกลุ่มที่สื่อต่างชาติเรียกว่าเป็น "มาเฟียญี่ปุ่น" ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ โดยแก๊งยากูซ่าอาศัยการทำธุรกิจสีดำหลากหลายรูปแบบเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร ทั้งจากการพนัน การรีดไถเงินจากกลุ่มต่างๆ ขายยาเสพติดและอาวุธ รวมถึงยังเข้าไปพัวพันกับบรรดานักการเมืองด้วย

อย่างไรก็ดี ยากูซ่าในยุคปัจจุบันกำลังเสื่อมอำนาจลงอย่างเห็นได้ชัด และจำนวนสมาชิกยังลดลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสภาวะกดดันจากหลายด้าน ทั้งสมาชิกแก๊งที่เริ่มกลับตัวกลับใจมากขึ้น ภาคประชาชนที่กล้ารวมพลังต่อต้านยากูซ่า และการปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาล

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จำนวนสมาชิกแก๊ง ยากูซ่าเมื่อปี 2017 อยู่ที่ 3.45 หมื่นคน ถือเป็นการลดลง 13 ปีติดต่อกัน และเป็นยอดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 1958 ส่วนสถิติจำนวนสมาชิกสูงสุดเคยอยู่ที่ 1.84 แสนคน เมื่อปี 1964

ด้าน เจค อาเดลสไตน์ นักข่าวอเมริกันที่ทำงานในญี่ปุ่นมานาน คาดว่า แก๊งยากูซ่าอาจพยุงตัวอยู่รอดไปจนถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว เกมส์ 2020 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเทศกาลกอบโกยรายได้ของแก๊ง แต่จำนวนสมาชิกจะ ลดลงหลังพ้นโอลิมปิกไปแล้ว

ทางการเร่งปราบปราม

อิทธิพลและจำนวนสมาชิกแก๊งยากูซ่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2011 ซึ่งมุ่งปราบปรามยากูซ่าอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามเจ้าของบริษัทเอกชนจ่ายค่าคุ้มครองให้ยากูซ่า ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำให้รายได้ของกลุ่มลดลงอย่างมาก ขณะที่ยังมีกฎหมายอีกฉบับกำหนดให้หัวหน้าแก๊งต้องรับผิดชอบถ้ามีลิ่วล้อทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นเองก็มีส่วนร่วมช่วยผลักดันการปราบปราม เช่น รัฐบาลท้องถิ่นในฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของแก๊งยากูซ่า ได้ออกแผนจูงใจให้สมาชิกออกจากแก๊งยากูซ่า ด้วยการเสนอเงิน 4.2 ล้านเยน (ราว 1.2 ล้านบาท) เป็นค่าที่พัก และค่าเดินทางไปสัมภาษณ์งานที่ถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า สมาชิกแก๊งยากูซ่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการสอบสวนคดีอาญาทั้งหมด 17,737 คดี โดยแบ่งเป็นคดียาเสพติด 4,693 คดี คดีทำร้ายร่างกาย 2,095 คดี และคดีลักทรัพย์ 1,874 คดี

ใกล้เวลาปิดตำนาน 300 ปี 'ยากูซ่า'

ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

แม้ว่าทางการญี่ปุ่นพยายามปราบปรามยากูซ่าในระยะหลัง แต่หลายกลุ่มได้ตั้งบริษัทที่ถูกกฎหมายขึ้นมาช่วยบังหน้า โดยส่วนมากจะเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และยังลามไปถึงภาคธุรกิจการเงิน

ทั้งนี้ กลุ่มยากูซ่ายังขยายการทำธุรกิจไปต่างแดนเพื่อหาทางต่อท่อน้ำเลี้ยงให้องค์กร โดยไปทำกิจการในสหรัฐและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ความพยายามดังกล่าวในการก่ออาชญากรรมต่างแดนจะทำให้ยากูซ่าตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลต่างชาติมากขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ อาเดลสไตน์ เปิดเผยว่า แก๊งยากูซ่าบางแห่ง เช่น ในฟุกุโอกะ และเกาะคิวชู ได้หาทางท้าทายอำนาจรัฐแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" โดยเสนอเงินราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นบาท) ให้กับคนที่กล้า ปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

แรงกดดันจากภาคประชาชน

ไม่เพียงภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการปราบปรามและขจัดอิทธิพลของกลุ่มยากูซ่าแล้ว ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปก็ร่วมใจต่อต้านยากูซ่าเช่นกัน โดยเซาท์ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ รายงานว่า ชาวญี่ปุ่นเริ่มแสดงความไม่พอใจชาวแก๊งใต้ดินมากขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้จากบางรายลุกขึ้นมาต่อต้านกลุ่มที่ป้วนเปี้ยนอยู่ในย่านใกล้บ้าน ทำให้ ยากูซ่าบางกลุ่มจำต้องละทิ้งเขตอิทธิพลของตัวเองและย้ายออกไป หลังเจอกระแสกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ แรงกดดันจากประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศาลญี่ปุ่นยอมเข้ามาร่วมมือปราบยากูซ่าด้วย โดยศาลครอบครัวกรุงโตเกียวได้ตัดสินให้อดีตสมาชิกแก๊งยากูซ่าคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนนามสกุลเพื่อปกปิดตัวตน หลังจากชายคนดังกล่าวกลับตัวกลับใจออกมาจากแก๊ง และให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสามารถจับกุมหัวหน้าแก๊งได้

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะการเปลี่ยนนามสกุลหรือรายละเอียดส่วนตัวอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งกว่าที่อดีตชาวแก๊งคนนี้จะสามารถเปลี่ยนนามสกุลได้นั้นใช้ระยะเวลานานหลายปี และต้องเผชิญอุปสรรคมากมายจากทางการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธคำขอดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลว่าจะก่อความสับสนขึ้นในสังคม

ใกล้เวลาปิดตำนาน 300 ปี 'ยากูซ่า'

ช่วยอดีตสมาชิกคืนสู่สังคม

เซาท์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ยาสุมาสะ อาโอกิ วัย 69 ปี อดีตสมาชิกแก๊งอินิกาวะ-คาอิ หนึ่งในแก๊งใหญ่ของประเทศในกรุงโตเกียว พยายามหาทางช่วยให้สมาชิกชาวแก๊งคนอื่นๆ สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง หลัง อาโอกิกลับตัวกลับใจได้ในที่สุดหลังจากพ้นโทษจำคุก 15 ปี จากการก่อเหตุลักพาตัวชายคนหนึ่ง

"ผมเคยเป็นสมาชิกของอินิกาวะคาอิ ตั้งแต่วัยรุ่น และเคยติดคุก 15 ปีเมื่อผมอยู่ในคุก ผมค้นพบว่าไม่ต้องการเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าอีกต่อไปแล้ว" อาโอกิ กล่าว

เมื่อเดือน ม.ค. 2014 อาโอกิได้เปิดศูนย์พักพิงให้อดีตสมาชิกยากูซ่าที่กลับตัวกลับใจ ด้วยความหวังว่าจะช่วยเหลืออดีตสมาชิกยากูซ่า และ อาโอกิตัดสินใจว่าจะทำโครงการนี้ในช่วงที่เหลือของชีวิต โดยตอนนี้มีผู้เข้ามาร่วมโครงการนี้ 71 คน

อย่างไรก็ตาม อาโอกิ ยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาอยู่ในที่รับรองจะกลับสู่สังคมได้ เพราะมีประมาณ 10% ที่กลับไปสู่วงจรมาเฟียอีกครั้ง แต่ก็หวังว่าการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำให้ยากูซ่ามีสมาชิกน้อยลง และเชื่อว่าจะล่มสลายไปในที่สุด

ทั้งนี้ การช่วยอดีตสมาชิกกลับสู่สังคมนับว่าเป็นความพยายามที่กล้าหาญอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาแก๊งยากูซ่ามักจะไม่มีความปรานีให้กับใครก็ตามที่ออกจากกลุ่ม หรือช่วยเหลือคนที่พยายามออกจากกลุ่ม โดยจะสั่งลงโทษคนทรยศคนนั้น เช่น ให้ตัดนิ้วตัวเอง ขณะที่บางคนหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งพอพบตัวอีกทีก็กลายเป็นซากศพไร้วิญญาณอยู่ตามภูเขาหรือตามชายหาดไปแล้ว