posttoday

ยุโรปลุยสกัดผูกขาด หวังครองตลาดดิจิทัล

29 มิถุนายน 2560

การสั่งปรับกูเกิลในวงเงินที่สูงมาก คือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ายุโรปต้องการขจัดการผูกขาดตลาดโดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐ

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป (อียู) ในการเดินหน้าสกัดการผูกขาดตลาดของบริษัทไอทีรายใหญ่ปรากฏชัดยิ่งขึ้นในขณะนี้ จากคำตัดสินล่าสุดของหน่วยต่อต้านการผูกขาดการค้า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ที่สั่งปรับ “กูเกิล อิงค์” ยักษ์ไอทีสัญชาติสหรัฐ วงเงิน 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ(ราว 9.1 หมื่นล้านบาท) คิดเป็น 3% ของรายได้ 9.03 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ของ อัลฟาเบท บริษัทแม่กูเกิล ซึ่งนับเป็นการสั่งปรับเอกชนรายเดียวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของยุโรปในเคสการผูกขาด

อีซีกล่าวหาว่ากูเกิลปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าแสดงผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิ้น โดยเน้นแสดงบริการช็อปปิ้งในเครือข่ายบริษัทเป็นหลัก ขณะที่บล็อกโฆษณาของบริษัทคู่แข่งและใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟน บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอื่นๆ ซึ่งในกลุ่มประเทศยุโรปนั้น ส่วนแบ่งตลาดของกูเกิลคิดเป็นกว่า 90% 

“สิ่งที่กูเกิลทำคือการกระทำผิดกฎหมายภายใต้กฎต่อต้านการผูกขาดตลาดของอียู เนื่องจากปิดโอกาสการแข่งขันสำหรับบริษัทอื่นในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือปิดทางเลือกของผู้บริโภคยุโรปในการเข้าถึงทางเลือกบริการและนวัตกรรมต่างๆ” มาร์เกรธ เวสเทเกอร์ หนึ่งในกรรมาธิการอีซี กล่าว พร้อมเสริมว่า อีซีจะให้เวลากูเกิล 90 วัน ในการหยุดเอื้อประโยชน์ต่อบริการในเครือ ไม่เช่นนั้นอาจเผชิญค่าปรับอีกกว่า 5% ของรายได้เฉลี่ยทั่วโลกของอัลฟาเบท

การสั่งปรับกูเกิลในวงเงินที่สูงมากดังกล่าว คือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ายุโรปต้องการขจัดการผูกขาดตลาดโดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่จากสหรัฐ หลังสืบสวนกูเกิลมานานถึง 7 ปี และกูเกิลเองไม่ใช่บริษัทไอทีสหรัฐรายแรกและรายเดียวที่ต้องเผชิญการสืบสวนของยุโรป

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. อีซีสั่งปรับเฟซบุ๊ก บริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่สัญชาติสหรัฐ 122 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4,148 ล้านบาท) กรณีแจ้งข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับการเข้าซื้อวอตส์แอพ แอพพลิเคชั่นแชตชื่อดังเมื่อปี 2014 หลังเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประกาศปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยอนุญาตให้แพลตฟอร์มโฆษณาบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม แอพพลิเคชั่นแชร์ภาพถ่ายในเครือบริษัท สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ของวอตส์แอพได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎต่อต้านการผูกขาด เนื่องจากอาจสร้างความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน โดยเฟซบุ๊กสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ใช้ที่มากกว่ามาช่วยสร้างกำไรให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของบริษัท

ในเวลาไล่เลี่ยกับการสั่งปรับเฟซบุ๊ก อเมซอน ยักษ์อี-คอมเมิร์ซสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำธุรกิจจำหน่ายอี-บุ๊ก หลังอียูขู่จะสั่งปรับบริษัทกรณีละเมิดกฎต่อต้านการผูกขาดตลาดเมื่อปี 2015

การเดินหน้าจัดการปัญหาผูกขาดตลาด ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้บรรดาบริษัทยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยผลักดันแผน ดิจิทัล ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต สตราเตจี (ดีเอสเอ็มเอส) ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อปี 2015 โดยมีจุดมุ่งหมายยกเครื่องตลาดดิจิทัลของอียู หวังให้บริษัทยุโรปไล่ตามเอกชนจีนและสหรัฐทัน เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค

แผนดีเอสเอ็มเอสมีลักษณะคล้ายคลึงกับเงื่อนไขของตลาดเดียวกับอียู โดยเน้นที่หลัก “เสรีภาพ 4 ประการ” ประกอบไปด้วย การเคลื่อนย้ายเสรีข้ามพรมแดนของคน สินค้า บริการ และเงินทุน ขณะที่บรรดาภาคธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการค้าออนไลน์ได้ภายใต้การแข่งขันที่เท่าเทียมกัน

สำหรับ 3 เสาหลักในแผนการดีเอสเอ็มเอส ได้แก่ การลดการบล็อกคอนเทนต์ตามพื้นที่ (Geoblocking) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าดิจิทัล คอนเทนต์จากประเทศใดก็ได้ในอียู การเพิ่มความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ และการส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ โดยอียูจะวางระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อเอื้อต่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้บริษัทแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม     

การสั่งปรับกูเกิลล่าสุดจึงนับว่าอยู่ในขอบเขตของเสาที่ 3 ในแผนการดีเอสเอ็มเอส เนื่องจากข้อกล่าวหาจากทางอียูที่ระบุว่ากูเกิลปรับเปลี่ยนผลการค้นหาสินค้า ถือเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอื่นๆ โดยตรงในด้านอี-คอมเมิร์ซ หลังอียูเปิดเผยเมื่อเดือน พ.ค. ว่า จะเพิ่มการสืบสวนกรณีการผูกขาดในตลาดอี-คอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัย ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในยุโรปโตขึ้นมากกว่า 3 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.57 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.73 ล้านล้านบาท) ได้อานิสงส์จากการที่ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มอนาคตอันสดใสของตลาดอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงภาคธุรกิจไอที จึงเป็นความหวังใหม่ในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งประมาณการเบื้องต้นระบุว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 1.7% ในปีนี้ ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่ 1.8%

ด้าน มอร์ริสัน แอนด์ โฟเออร์สเตอร์ บริษัทกฎหมายในสหรัฐ เปิดเผยว่า หากมีระเบียบปฏิบัติทางกฎหมายที่เหมาะสม แผนการดีเอสเอ็มเอสสามารถปูทางสู่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของยูโรโซน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.39 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 25 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2020 และจำนวนบุคลากรในภาคส่วนดังกล่าวคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 10 ล้านรายภายในปี 2020 จาก 6 ล้านรายในปี 2016 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐในขณะนี้ การเข้าไปแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเทคโนโลยีด้วยนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย หมายความว่าอียูอาจจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการแทรกแซงบางอย่าง หากต้องการผลักดันให้ยุโรปมุ่งสู่การเป็นดิจิทัล ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต และเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก

การลงดาบสั่งปรับกูเกิลจึงนับเป็นสัญญาณแรกในการขจัดการผูกขาดตลาด เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าในเวลาต่อไป และดูท่าแล้วว่า บรรดาบริษัทไอทีสหรัฐคงต้องเตรียมรับมือการสืบสวนของอียูอีกหลายระลอกในอนาคต

ภาพ...เอเอฟพี