posttoday

ไทยยินดีช่วยโรฮีนจาตามหลักมนุษยธรรม

29 พฤษภาคม 2558

เมียนมาพร้อมรับความช่วยเหลือแก้โรฮีนจา ขณะไทยยินดีช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม

เมียนมาพร้อมรับความช่วยเหลือแก้โรฮีนจา ขณะไทยยินดีช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
             
การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา จัดโดยรัฐบาลไทยซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ร่วมกับ  17 ประเทศ  อาทิ เมียนมาร์ บังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อหาทางออกให้กับผู้อพยพชาวโรฮีนจา

ขณะเดียวกันมี 3 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ คือ สหรัฐ สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น  รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหรประชาชาติ (UNODC)
               
โดยนายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงหลังการประชุมว่า ทุกประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเชิญได้ตอบรับร่วมการหารือทั้งมหด และเป็นได้ด้วยท่าทีสร้างสรรค์ จนสำเร็จได้ในหนึ่งวันนำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยืนยันว่าจะส่งทีมค้นหาและกู้ภัยต่อไป

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ประกาศชัดเจนนว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้ขึ้นเรือที่กองทัพไทย 2 ลำ สำหรับการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น ประกอบด้วย 1. การช่วยชีวิตผู้อพยพทางเรือ 2. การปราบปรามขชบวนการค้ามนุษย์ และ 3.คือการพัฒนาในระยะยาว โดยนำการพัฒนาเข้าไปสู่ประเทศต้นทาง เมียนมายินดีต้อนรับจะเข้าไปช่วยพัฒนา เป้าหมายระยะยาว คือ คนไม่จำเป็นต้องหนีออกมา อยู่อย่างสงบสุข มีงานทำ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็คงไม่มีใครอยากออกมา

ทั้งนี้ ประเทศได้ไทยยังอนุญาตให้สหรัฐฯ บินในน่านน้ำและน่านฟ้าไทยได้ โดยมีฐานการบินที่สุบังของมาเลเซีย โดยต้องร่วมมือกับการบังคับบัญชาขึ้นกับฝ่ายไทยด้วย สำหรับความช่วยเหลือด้านการเงินนั้น ไอโอเอ็มได้ขอความช่วยเหลือเป็นเงิน 26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพทางเรือ โดยสหรัฐฯ ประกาศบริจาค 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่ ประเทศออสเตรเลียจากเดิมที่เคยบริจาค 6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเช้าวันนี้ (29 พ.ค.) จะเพิ่มความช่วยเหลืออีก 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ให้กับในรัฐยะไข่ของเมียนมา และเมืองค็อกบาซาร์ในบังคลาเทศ ส่วนประเทศญีปุ่นจะรีบพิจารณาเพิ่มความช่วยเหลือ และสวิตเซอร์แลนด์ประกาศจะให้ความช่วยเหลือในด้านความร่วมมือด้านเทคนิค โดยเฉพาะการโยกย้ายถิ่นฐาน

ขณะที่ นางแอนน์ ซี ริชาร์ด ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ ฝ่ายประชากร ผู้อพยพและการอพยพย้ายถิ่นฐานของสหรัฐฯ กล่าวว่า การโยกย้ายถิ่นฐานไม่ใช่ทางออกทางแรกและทางเดียวสำหรับวิกฤตในครั้งนี้ หากต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศต้นทาง ทำให้ประชาชนไม่ต้องรู้สึกต้องการอพยพหลบหนี จนตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และการเพิ่มโควต้าสำหรับผู้อพยพนั้น สหรัฐฯรับผู้อพยพเป็นจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่จะสามารถรองรับได้

ส่วนบรรยากาศระหว่างการประชุม นายวิลเลียม สวิง ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม กล่าวว่า การแก้ปัญหา ควรคำนึงถึงสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของชาติกับการมีมนุษยธรรม และควรแก้ปัญหาด้วยการจับกุมและลงโทษตัวการ ไม่ใช่การจับผู้ที่เป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญที่อาเซียนควรนำไปพิจารณาแก้ไข

ด้านนายวอลเคอร์ เทิร์ค ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ด้านการปกป้อง ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระบุว่า เป้าหมายสูงสุดของการจัดการปัญหา คือการให้สัญชาติคนที่โยกย้ายถิ่นฐาน ถือเป็นความรับผิดชอบเต็มของเมียนมาร์ ที่ต้องยอมรับประเด็นปัญหาโดยเร็ว รวมถึงให้ผู้ที่ต้องโยกย้ายถิ่นถานมีสิทธิขั้นพื้นฐานเสมอกับพลเมืองเมียนมาร์ทั่วไปด้วย 

“ควรมีการสร้างความเข้าใจถึงอันตรายของการออกทะเล ให้คนเหล่านั้นได้รับทราบ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่ประเทศต้นทางได้ ต้องได้รับการปกป้อง โดยการแก้ปัญหาจะทำไม่ได้เลย หากไม่มีการพูดถึงสาเหตุต้นตอที่แท้จริง”นายวอลเคอร์ กล่าว

ขณะที่ นายทิต ลิน ผู้แทนพิเศษจากกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา กล่าวว่า ในแต่ละประเทศมีปัญหาภายในของตัวเอง และมีอำนาจรัฐถาธิปัตย์ภายในอาณาเขตของตน ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ดี และการชี้นิ้วไปยังประเทศใดว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาจะไม่ช่วยอะไร เนื่องจากเหตุผลในการโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

“ที่ผ่านมาเมียนมาร์ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพในทะเลอย่างรวดเร็วภายหลังได้รับการติดต่อ และได้แสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับนานาชาติแล้ว รวมถึงจะเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้พูดคุยกับประเทศที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป และขอแสดงความผิดหวังต่อการแถลงของผู้แทนจาก UNHCR ว่าไม่รอบด้าน และได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หาก UNHCR ไม่เข้าใจปัญหาได้ดีกว่านี้ ก็จะไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้”นายทิต ลิน กล่าว