posttoday

ประเมินแผ่นดินไหวเนปาลเสียหาย1.6 แสนล้านบาท

06 พฤษภาคม 2558

นักเศรษฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิค ประเมินตัวเลขความเสียหายแผ่นดินไหวเนปาลเสียหาย 1.6 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านดอลล่าร์ คิดเป็น 20% ของจีดีพีประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิค ประเมินตัวเลขความเสียหายแผ่นดินไหวเนปาลเสียหาย  1.6 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านดอลล่าร์ คิดเป็น 20% ของจีดีพีประเทศ    

ศ.สุชัชวีร์   สุวรรณสวัสดิ์  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่าจากการประเมินตัวเลขความเสียหาย เหตุแผ่นดินไหวในเนปาล ที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 เม.ย.2558  ขนาดรุนแรง 7.9 แมกนิจูด นั้นยอดผู้เสียชีวิตในเนปาลอย่างเป็นทางการ กว่า 7,500 คน บาดเจ็บ 14,398 คน จำนวนบ้านเรือนพังทลาย 160,786 หลัง จำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายอีก 143,673 หลัง โดยนักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค คาดความเสียหาย 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของจีดีพีเนปาล ที่ 42.06 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อปี 2556  ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเนปาลกว่า 8 ล้านราย หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ  การกู้ภัยในพื้นที่ห่างไกลเป็นความจำเป็นเร่งด่วนและมีขั้นตอนการตรวจสอบอาคาร ประเมินผล เยียวยาและฟื้นฟูต่อไป

ทั้งนี้ วสท.ได้จัด โครงการ Thailand Hugs for Nepal ระหว่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และการบินไทย ที่เดินทางลงสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการวิศวกรรมที่นครกาฏมาณฑุ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ถึง 1 พ.ค. 2558  โดยทีมผู้เชี่ยวชาญได้ประสานงานกับสถานฑูตไทยในเนปาล กระทรวงการต่างประเทศ  สมาคมเทคโนโลยีแผ่นดินไหวแห่งชาติ หรือ National Society for Earthquake Technology (NSET)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการวิจัยหลายทศวรรษแต่ก็ไม่อาจคาดเดาแผ่นดินไหวได้ ในด้านเทคโนโลยีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวซึ่งมีราคาสูงมากมีใช้ในชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ญี่ปุ่นและเม็กซิโก ประกอบด้วยสถานีวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดิน ไหวซึ่งสามารถจับคลื่นพี ที่เดินทางผ่านเปลือกโลกได้เร็วกว่าคลื่นเอส อันเป็นคลื่นที่ทำให้แผ่นดินเกิดการสั่นไหว สามารถเตือนภัยได้ไม่กี่นาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะมีเวลาเพียง 15-20 วินาที ในการหาที่หลบหรือวิ่งออกจากอาคาร  ส่วนระบบเตือนภัยในญี่ปุ่นนับแต่ปี 2550 จะเชื่อมโยงเป็นคำเตือนไปยังคอมพิวเตอร์ หน่วยงานท้องถิ่นและอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมถึงโรงงานต่างๆจะปิดทำการอัตโนมัติ

ด้านรศ. สิริวัฒน์ ไชยชนะ   เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า แม้ว่ารอยเลื่อนในเนปาลจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือยังคงมีอยู่ เนื่องจาก แนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในย่านนี้ที่ค่อนข้างจะแอคทีฟ คือมีการสะสมพลังงานและปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดในย่านนีตามลำดับปี คือ

1.เกาะสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย ค.ศ.2004  (9.2 แมกนิจูด)  2.เกาะนีอาส อินโดนีเซีย ค.ศ.2005 และ 2007 (8.7 และ 8.5 แมกนิจูด) 3.เมืองเหวินฉวน จีน ค.ศ.2008  (7.9 แมกนิจูด) 4.หมู่เกาะอันดามัน อินเดีย ค.ศ.2009 (7.5 แมกนิจูด) 5.มัณฑะเลย์ เมียนมาร์ ค.ศ.2011 (6.8 แมกนิจูด) 6.เมืองชเวโบ เมียนมาร์ ค.ศ.2012 (6.8 แมกนิจูด)  7.มหาสมุทรอินเดีย อินโดนีเซีย ค.ศ.2012 (8.2 และ 8.6 แมกนิจูด) 8.มณฑลเสฉวน จีน ค.ศ.2013 ( 6.6 แมกนิจูด)

 9.แม่ลาว จ.เชียงราย ประเทศไทย ค.ศ.2014 (6.1 แมกนิจูด) 10.เนปาล ค.ศ.2015 (7.9 แมกนิจูด)

สำหรับในประเทศไทยโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวนั้น นักวิชาการคาดว่าจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับเพียง 6 แมกนิจูดกว่าๆ และใหญ่ที่สุดไม่เกิน 7 แมกนิจูด โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แบบเนปาลในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในแนวราบและน้อยกว่าเนปาลมาก ต่อปีอาจมีเพียงประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการเตรียมพร้อมรับมืออย่างถูกต้อง และควรบังคับใช้กฏหมายให้ทุกอาคารสูงจะต้องรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับ 7ได้ เนื่องจากอาคารที่มีความสูง จะมีผลกระทบสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้คนที่อยู่ภายใน วสท.จะนำประสบการณ์แผ่นดินไหวในเนปาลมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจ.เชียงราย การเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสีย ตลอดจนนำประสบการณ์แผ่นดินไหวเนปาลไปเผยแพร่จัดแสดงในศูนย์เรียนรู้แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ซึ่ง วสท.และกรมทรัพยากรธรณีกำลังร่วมกันพัฒนาการเรียนรู้