posttoday

ฝ่ายค้านบังคลาเทศลั่นคว่ำบาตรรัฐบาลใหม่

14 มกราคม 2557

ฝ่ายค้านบังกลาเทศประกาศไม่ยอมรับครม.ชุดใหม่ ชี้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฝ่ายค้านบังกลาเทศประกาศไม่ยอมรับครม.ชุดใหม่ ชี้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) พรรคฝ่ายค้าน ประกาศไม่ยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ชิค ฮาสินา โดยกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่นคลอนความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตยของภูมิภาคเอเชียใต้

ทั้งนี้ ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา พรรคสันนิบาต อาวามิ ของนายกรัฐมนตรีฮาสินาและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 4 พรรค ได้ประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีทั้ง 49 ที่นั่ง หลังสามารถเอาชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านและพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรไม่ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้กลายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ประเทศมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปี 1991 ที่รัฐสภาบังคลาเทศไม่มีฝ่ายค้าน

เมียร์ซา ฟารุค อิสลาม อลามเกียร์ เลขาธิการพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า ประชาชนต้องการเสรีภาพและความยุติธรรมในการเลือกตั้ง ซึ่งการที่ประชาชนปฏิเสธที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 5 ที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ยุติธรรม อีกทั้ง พรรครัฐบาลได้เข้ามาครอบงำการบริหารประเทศ โดยเฉพาะกำลังตำรวจและกองทัพ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบในการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านจึงเรียกร้องให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ที่เป็นกลางเข้ามาจัดการเลือกตั้งเพื่อความยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮาสินาประกาศในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่า รัฐบาลชุดนี้ได้รับเลือกจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และฝ่ายค้านทำลายความชอบธรรมของตนเองด้วยการประกาศคว่ำบาตรไม่ลงเลือกตั้ง โดยรายงานระบุว่า นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศคนล่าสุดเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม โดยสั่งจำคุกผู้นำการประท้วงกว่า 24 คน อีกทั้งยังสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษากฎหมาย

ในขณะที่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรออกมาแสดงเห็นว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงและการประท้วงหลายแห่ง ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวบังคลาเทศได้ ล่าสุด โรเบิร์ต มีเนนเดซ ประธานคณะกรรมการต่างประเทศวุฒิสภาของสหรัฐ ส่งหนังสือถึงผู้นำพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันเพื่อหาข้อยุติในการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม แต่ทว่า นายกรัฐมนตรี ชิค ฮาสินา ไม่สนใจแรงกดดันดังกล่าว

เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบังคลาเทศนี้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจบังคลาเทศอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เสียหายกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ