posttoday

วาติกันรอวันปฏิรูป

10 มีนาคม 2556

ไม่เพียงแต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นที่จับตามองใกล้ชิดจากทั่วโลก เพราะเป็นวิกฤตสุญญากาศครั้งแรกในรอบเกือบ 600 ปี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ไม่เพียงแต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นที่จับตามองใกล้ชิดจากทั่วโลก เพราะเป็นวิกฤตสุญญากาศครั้งแรกในรอบเกือบ 600 ปี ของนครรัฐวาติกัน แต่ความน่าสนใจของการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งนี้ ยังเป็นเพราะมรสุมสารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้าสู่คริสตจักรโรมันคาทอลิกในยุคการสื่อสารออนไลน์ไร้พรมแดน ซึ่งเขย่าศรัทธาศาสนิกชนคาทอลิก 1,200 ล้านคนทั่วโลกเป็นวงกว้าง

ล่วงละเมิดฉาวสะท้านวาติกัน

ไม่มีปัญหาใดจะใหญ่หลวงและกระทบต่อชื่อเสียงของคริสตจักรคาทอลิกได้เท่ากับเรื่องนี้อีกแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเขย่าวิกฤตศรัทธาไปในหลายประเทศทั่วโลก ไล่ตั้งแต่สหรัฐ ไอร์แลนด์ แคนาดา เบลเยียม นอร์เวย์ ออสเตรีย และออสเตรเลีย ซึ่งพบหลักฐานการแจ้งความเอาผิดกับบาทหลวง และตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง

สหรัฐนับเป็นประเทศหนึ่งที่พบปัญหานี้มากที่สุด จากข้อมูลขององค์กรอิสระที่ติดตามปัญหาดังกล่าว บิชอปแอกเคาต์ทิบิลิตี พบว่ามีการยื่นฟ้องโบสถ์โรมันคาทอลิกในสหรัฐมากถึงกว่า 3,000 คดี และมีการจ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อรวมเป็นเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ จนสังฆมณฑลบางแห่งต้องประสบภาวะล้มละลาย

ขณะที่ไอร์แลนด์ก็เคยเกิดปัญหาอื้อฉาวเช่นนี้ จนฉุดให้ความสัมพันธ์กับวาติกันตกต่ำลงถึงขีดสุดในปี 2011 จากกรณีของบาทหลวง ฌอน ฟอร์จูน ซึ่งการสอบสวนของตำรวจ พบว่าบาทหลวงผู้นี้ก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนเด็กชายมาแล้วหลายครั้งต่อเนื่องกันนานหลายปี

บาทหลวงรายนี้ถูกตั้งข้อหารวมกันถึง 66 ข้อหา ก่อนเลือกที่จะจบเรื่องราวอื้อฉาวลงด้วยการฆ่าตัวตายในปี 1999 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ขณะที่สังฆมณฑลแห่งเมืองเฟิร์นส์ยอมออกมาขอโทษในปี 2003 และจ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อหลายราย โดยมีเหยื่อรายหนึ่งได้รับค่าชดเชยไป 3 แสนยูโร (ราว 11.7 ล้านบาท)

แม้สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งปัจจุบันทรงมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ จะทรงดำเนินการหลายอย่างเพื่อพยายามแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ อาทิ การขับบาทหลวงชื่อดังที่พบการกระทำผิดออกจากตำแหน่ง และตรัสขอโทษต่อสาธารณชนถึงเรื่องทำนองนี้ ทว่าหลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มเหยื่อที่รวมตัวกันหลังผ่านประสบการณ์เลวร้ายต่างก็ยังไม่พอใจ พร้อมเรียกร้องให้ว่าที่ประมุของค์ใหม่แห่งวาติกัน ดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของคริสตจักรคาทอลิก

แฉยับ คอร์รัปชันเขย่าวงการ

ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนเช่นนี้ ไม่ได้มีแต่เว็บไซต์วิกิลีกส์ที่ล้วงนำความลับมาแฉไปทั่วโลกเท่านั้น เมื่อช่วงต้นปี 2012 ได้เกิดกรณีฉาว “วาติลีกส์” ขึ้นในแวดวงคาทอลิก เมื่อมีมือดีลักลอบขโมยเอกสารวงในจากโต๊ะทรงงานของโป๊ปออกมาแฉผ่านสื่อ ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงปัญหาการ “คอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นในระดับผู้บริหารของวาติกัน ความไม่โปร่งใสในการจัดการทางการเงิน การพัวพันกับการฟอกเงินผิดกฎหมาย รวมไปถึงการปกปิดเรื่องอื้อฉาวทางเพศ การวิพากษ์วิจารณ์กันภายในอย่างรุนแรง กระทั่งการแบล็กเมล์พระผู้ถูกกล่าวหาว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ

ปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสทางการเงินนั้น ยังถูกหยิบยกขึ้นหารือกันระหว่างการประชุมพระคาร์ดินัล 103 รูป เพื่อเตรียมการเลือกตั้งโป๊ปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย

ในการเลือกตั้งวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งต้องได้เสียงของพระคาร์ดินัล 2 ใน 3 หรือราว 77 จากทั้งหมด 115 เสียง เพื่อให้เกิดควันสีขาวลอยออกมาจากปล่องไฟของโบสถ์ซีสทีนนั้น กำลังเต็มไปด้วยการลุ้นระทึกของผู้ที่จับตามองจากทั่วโลกว่า ผู้ที่จะขึ้นเป็นประมุของค์ใหม่จะยังคงมาจากยุโรป หรือเป็นคาร์ดินัลจากเอเชีย หรืออาจได้โป๊ปผิวสีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

แต่ไม่ว่าจะเป็นสีผิว เชื้อชาติ หรือภาษาใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันก็คือ โป๊ปพระองค์ใหม่จะต้องเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา หรือกอบกู้ภาวะวิกฤตในขณะนี้ให้ได้

“สำนักงานบริหารศาสนจักรจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปขนานใหญ่ และสิ่งหนึ่งที่ต้องไปด้วยกันกับคำว่าปฏิรูปก็คือ ความโปร่งใส” คาร์ดินัลวอลเตอร์ แคสเปอร์ จากเยอรมนี กล่าวกับเอเอฟพี