posttoday

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชีวิตที่คุ้มค่าของอัจฉริยะนักลงทุน

21 สิงหาคม 2554

ในบ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโอมาฮา มลรัฐเนแบรสกา ของสหรัฐ ชายวัย 80 ปี

ในบ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโอมาฮา มลรัฐเนแบรสกา ของสหรัฐ ชายวัย 80 ปี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ในบ้านหลังเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองโอมาฮา มลรัฐเนแบรสกา ของสหรัฐ ชายวัย 80 ปี ผู้หนึ่งกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ในห้องทำงาน ห้องนั้นเต็มไปด้วยหนังสือมากมายวางเรียงรายอยู่บนชั้น บนโต๊ะทำงาน มีอูคูเลเล (กีตาร์ขนาดเล็ก) วางอยู่ข้างๆ ถ้วยข้าวโพดคั่วที่เหลืออยู่เพียงครึ่งถ้วย

หากมีใครบังเอิญได้เห็นภาพนี้ก็คงไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร เพราะคงคิดอยู่ในใจว่า นี่คือคุณปู่ธรรมดาๆ ท่านหนึ่ง แต่หากทราบว่าชายดังกล่าวคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก ผู้มีทรัพย์สิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) หลายคนก็คงรู้สึกทึ่งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ เพราะผู้คนมักคิดว่ามหาเศรษฐีจะต้องมีบ้านหรูราคาแพง อีกทั้งมีไลฟ์สไตล์ที่สนุกสนานและน่าตื่นเต้น แต่บัฟเฟตต์นั้นกลับเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อาศัยอยู่ในบ้านขนาดเล็กราคา 6 แสนเหรียญสหรัฐ ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2501 อีกทั้งในยามว่างยังชอบอ่านหนังสือเงียบๆ อยู่คนเดียว พร้อมทั้งนั่งกินข้าวโพดคั่วอย่างเอร็ดอร่อย

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชีวิตที่คุ้มค่าของอัจฉริยะนักลงทุน

แม้จะชื่นชอบชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นส่วนตัว แต่บัฟเฟตต์ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะที่เป็นสุดยอดอัจฉริยะทางด้านการลงทุน จนได้รับฉายา “เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา” (Oracle of Omaha) บัฟเฟตต์คือนักลงทุนมือฉมังที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่อปีไม่เคยน้อยกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นเลย

ทั้งนี้ ว่ากันว่าเจ้าตัวนั้นมีหัวด้านการลงทุนตั้งแต่ยังเล็ก โดยเมื่ออายุเพียง 6 ขวบ บัฟเฟตต์ก็เริ่มขายโค้กกระป๋องและหมากฝรั่งจนสามารถทำกำไรได้ ตอนอายุ 11 ขวบ ก็ซื้อหุ้นครั้งแรก ช่วงที่เรียนมัธยมนั้นก็ลงทุนในธุรกิจของบิดา และพอเรียนจบมหาวิทยาลัย บัฟเฟตต์ก็มีเงินเก็บสูงถึง 9 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 2.6 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินในปัจจุบัน

บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จมากกว่านักลงทุนรายอื่น โดยสามารถทำให้ราคาหุ้นของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ บริษัทซึ่งบัฟเฟตต์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และดำรงตำแหน่งซีอีโอนั้น เพิ่มขึ้นจาก 4 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เป็น 7.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ ได้ในเวลาแค่ 40 ปี เรียกได้ว่าคงไม่มีนักลงทุนรายไหนประสบความสำเร็จในอาชีพนี้เท่าบัฟเฟตต์

นักลงทุนทั่วโลกจึงจับตามองการเคลื่อนไหวของบัฟเฟตต์อย่างใกล้ชิด ถึงกับมีเว็บไซต์ “Buffett Watch” เพื่อคอยติดตามการซื้อหุ้นของเทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา กาย สปายเออร์ ผู้ถือหุ้นเบิร์กเชียร์เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นบริษัทใดสักแห่ง นักลงทุนจะจับตามองความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างแน่นอน”

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2552 บัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท เบอร์ลิงตัน นอร์ทเทิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทสร้างทางรถไฟขนาดใหญ่ เป็นเงินมูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 สามารถปิดในแดนบวก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มกระแสคาดการณ์ถึงมูลค่าหุ้นและหนุนการลงทุนในบริษัทเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ บัฟเฟตต์ก็ไม่เคยหวงแหนวิชาความรู้ที่มี โดยมักให้คำแนะนำและเคล็ดลับดีๆ ในเรื่องการลงทุนอยู่เสมอ บัฟเฟตต์ให้ความสำคัญกับคุณค่าของหุ้นที่มั่นคงในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น อีกทั้งยังเป็นนักลงทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นที่มีคุณค่าของกิจการหรือมีมูลค่าหุ้นที่แท้จริงสูง

นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ก็มักจะลงทุนสวนกระแสอยู่เสมอ เนื่องจากทราบดีว่า เมื่อเกิดกระแสในหุ้นตัวใด นักลงทุนก็จะแห่กันเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้น ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโอกาสการทำกำไรก็น้อยลง บัฟเฟตต์จึงเลือกที่จะแหวกแนว โดยจะเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ราคาตก หรือไม่ก็เมื่อนักลงทุนมีการเทขายหุ้นดีๆ ทิ้งจนราคาหุ้นดิ่งลง

บัฟเฟตต์เคยเปรียบการลงทุนของตนเองไว้ว่า เหมือนสิงโตที่รอตะครุบเหยื่อในพงหญ้าสูง และจะเข้าจู่โจมเมื่อถึงเวลาที่เหยื่อเข้ามาใกล้ หรือกล่าวอีกอย่างคือ จะรอจนกว่าราคาหุ้นที่ต้องการมาอยู่ในจุดที่น่าสนใจที่สุดแล้วค่อยซื้อ

อย่างไรก็ตาม ก่อนซื้อหุ้นทุกครั้งบัฟเฟตต์ก็ไม่เคยลืมที่จะวิเคราะห์บริษัทต่างๆ อย่างถี่ถ้วน โดยจะมองย้อนไปในอดีตเพื่อดูว่าบริษัทมีประวัติการประกอบการอย่างไรในภาวะต่างๆ ดังนั้นบัฟเฟตต์ก็จะไม่มีวันซื้อหุ้นของบริษัทใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประวัติดีจนเป็นที่ประจักษ์

อีกทั้งจะไม่ซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนไม่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจอย่างแน่นอน เช่น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัทเทคโนโลยี ส่งผลให้ราคาหุ้นภาคเทคโนโลยีขณะนั้นสูงขึ้น แต่บัฟเฟตต์ก็หลีกเลี่ยงที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ เลย

ผลปรากฏว่าฟองสบู่แตกในภาคเทคโนโลยี ส่งผลให้นักลงทุนเหล่านี้สูญเสียเงินจำนวนมาก แต่ในส่วนของบัฟเฟตต์นั้นก็สามารถทำกำไรจากการลงทุนในภาคอื่นๆ ได้อย่างงดงาม

ปัจจุบันบัฟเฟตต์ถือหุ้นหลายตัวอยู่ในมือ เช่น โคคาโคลา แมคโดนัลด์ และยิลเลตต์ แต่ที่พยายามหลีกเลี่ยงมากสุดก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เนื่องจากมองว่าตลาดพวกนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป จนไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางของมันได้

บัฟเฟตต์มักเลือกที่จะลงทุนในหุ้นจำนวนไม่มาก แต่จะลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก และเมื่อลงทุนแล้วก็จะไม่ค่อยขายออก สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช้อารมณ์ในการลงทุน แต่ใช้ความรู้และประสบการณ์

บัฟเฟตต์ มองว่า อารมณ์นั้นเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนที่มักซื้อขายหุ้นอย่างหุนหันอย่างไม่มีเหตุผลมักลงเอยด้วยการขาดทุน ดังนั้นหากจะซื้อหุ้นให้ถูกก็ควรเลือกซื้อหุ้นในจุดที่ราคายังต่ำและกิจการมีโอกาสเติบโตได้มาก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทำการบ้านมาอย่างดี

เมื่อมีหลักการการคิดและทำงานเช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจว่าล่าสุดมีการเปิดเผยว่า บริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ มีผลกำไรอย่างก้าวกระโดดสูงถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท) ในไตรมาส 2 ของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 จากผลกำไร 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งๆ ที่ขาดทุน 1,530 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

อีกทั้งหากดูการซื้อหุ้นตัวอื่นๆ ของบัฟเฟตต์ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชายผู้นี้สามารถเก็งกำไรหุ้นได้อย่างชาญฉลาด

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชีวิตที่คุ้มค่าของอัจฉริยะนักลงทุน

นักวิเคราะห์ต่างชาติถึงกับจัดอันดับการลงทุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดของบัฟเฟตต์ 10 อันดับ (Warren Buffet’s Greatest Investments) โดยอันดับ 1 นั้นคือ การซื้อหุ้นโคคาโคลา เมื่อปี 2531 โดยในครั้งนี้นักวิเคราะห์ต่างคัดค้านการซื้อหุ้นบริษัทเครื่องดื่มชื่อดัง เพราะมองว่าอีกไม่นานบริษัทเครื่องดื่มรายอื่นๆ ก็จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด อีกทั้งในช่วงนั้นโคคาโคลาก็มีผลกำไรต่ำกว่าปีก่อนหน้าถึง 2%

อย่างไรก็ตาม บัฟเฟตต์ก็ไม่ได้สนใจคำเตือนของนักวิเคราะห์เหล่านี้ และเดินหน้าซื้อหุ้นที่ตนมีความเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้ดี โดยภายในปี 2538 บัฟเฟตต์ก็ถือหุ้นของโคคาโคลากว่า 1 แสนหุ้น ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดมาก เพราะในปี 2553 มีการเปิดเผยว่า หุ้นโคคาโคลาที่ถืออยู่นั้นมีมูลค่าสูงขึ้น 766% และทำกำไรได้ราว 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.7 แสนล้านบาท)

ในส่วนการลงทุนยอดเยี่ยมอันดับ 2 คือ การเข้าซื้อหุ้นของบริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส โดยบัฟเฟตต์นั้นซื้อหุ้นของบริษัทครั้งแรกเมื่อปี 2507 ในช่วงนั้นราคาหุ้นของบริษัทดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากทางบริษัทได้ก่อเรื่องอื้อฉาว

ผู้ถือหุ้นจึงรีบเทขายหุ้นและในที่สุดราคาก็ตกลงเหลือเพียง 35 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น ท่ามกลางความตื่นตระหนกของนักลงทุน บัฟเฟตต์กลับมองว่า อเมริกัน เอ็กซ์เพรส เป็นบริษัทที่มั่นคงและมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี อีกทั้งเจ้าตัวนั้นก็เริ่มมองเห็นว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้บัตรเครดิตกันมากขึ้น

ดังนั้น บัฟเฟตต์จึงไม่ลังเลที่จะซื้อหุ้นของบริษัทเลย และถึงตอนนี้ก็สามารถทำกำไรได้มากกว่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็นมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น 290%

นอกจากที่จะขึ้นชื่อในเรื่องความฉลาดในการลงทุนแล้ว บัฟเฟตต์ยังขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นเศรษฐีที่ใจบุญ โดยได้ประกาศจะบริจาคเงิน 4.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.26 ล้านล้านบาท) หรือ 75% ของทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์กรการกุศล 5 แห่ง เมื่อตนเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะบัฟเฟตต์มองว่า คนเราไม่ควรให้เงินทองกับลูกหลานจนท่วมหัวจมหู เพราะจะกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

อีกทั้งบัฟเฟตต์ยังขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นพลเมืองดีอีกด้วย โดยล่าสุดได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยและเพิ่มภาษีผู้ที่มีรายได้มาก อีกทั้งยังตำหนิมหาเศรษฐีของสหรัฐว่า กำลังกินแรงเพื่อนร่วมชาติด้วยการได้รับการลดหย่อนภาษีที่แปลกประหลาด

บัฟเฟตต์ เปิดเผยว่า ตนนั้นจ่ายภาษีเมื่อปี 2553 ไปจำนวนเกือบ 7 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนที่มหาศาล แต่ก็คิดเป็นการเสียภาษีเพียงแค่ 17.4% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีจริง

เมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการขึ้นภาษีคนรวย บัฟเฟตต์ ก็ตอบว่า “ความสำเร็จในอาชีพการงานไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะชีวิตคนเรามีบทบาทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของการเป็นลูก พ่อ แม่ พลเมืองของประเทศ เจ้านาย ฯลฯ”

ดังนั้น ความสำเร็จที่แท้จริงก็คือ การสร้างความสมดุลของบทบาทต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตของคนเรา ซึ่งบัฟเฟตต์นั้นก็หวังว่า ก่อนที่จะลาจากโลกใบนี้ ตนก็จะได้ลิ้มลองความสำเร็จนี้สักที แต่หลายคนก็เชื่อว่าหากยังคงใช้ชีวิตอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานบัฟเฟตต์ก็จะได้สมความปรารถนา