posttoday

Golden City อินเดียวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อวาน

30 กันยายน 2560

ในบรรดา 29 รัฐ และอีก 7 ดินแดนสหภาพของอินเดียนั้น รัฐราชาสถานเป็นรัฐที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด

ในบรรดา 29 รัฐ และอีก 7 ดินแดนสหภาพของอินเดียนั้น รัฐราชาสถานเป็นรัฐที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุด มีประวัติศาสตร์น่าสนใจที่สุด และมีภูมิประเทศแตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่นของอินเดีย คือ มีพื้นที่กว่าร้อยละ 10 ของทั้งประเทศเลยทีเดียว แต่ประชากรที่นี่มีเพียงร้อยละ 5.7 ของทั้งประเทศเท่านั้น จึงทำให้ราชาสถานเป็นรัฐที่มีประชากรเฉลี่ยค่อนข้างเบาบาง และมักอาศัยกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐนี้เป็นทะเลทรายธาร์ หรือที่เรียกว่า Great Indian Dessert ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2 แสนตารางกิโลเมตร ถ้าคิดไม่ออกว่าใหญ่แค่ไหน ก็เทียบง่ายๆ ว่า ประเทศไทยเรามีพื้นที่ทั้งประเทศประมาณ 5.1 แสนตารางกิโลเมตร ดังนั้นทะเลทรายธาร์ ก็มีขนาดเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทยนั่นเอง

Golden City อินเดียวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อวาน

ใจกลางของทะเลทรายธาร์ คือ เมืองไจซัลเมอร์ (Jaisalmer) แม้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่แห้งแล้งที่สุด แต่ไจซัลเมอร์คือหนึ่งในเมืองมรดกโลก และเป็นเมือง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไจซัลเมอร์ ได้รับการขนานนามว่า Golden City หรือเมืองสีทอง เพราะสมัยก่อนเป็นที่โล่งๆ ท่ามกลางทะเลทราย เมื่อมองไปจะเห็นกลุ่มอาคารบ้านเรือน ป้อมปราการ ที่สร้างด้วยหินทรายสีเหลืองโดนแสงอาทิตย์ตกกระทบเปล่งประกายเป็นสีเหลืองทองออกมา เขาก็เลยเรียกว่าเป็น Golden City กัน ไจซัลเมอร์เป็นเมืองเก่าที่มีอายุกว่าหลายร้อยปี และมีป้อมปราการ ไจซัลเมอร์ ที่ปัจจุบันอนุญาตให้มีคนอาศัยอยู่ข้างในกว่า 5,000 คน เป็นคนที่สืบ เชื้อสายมาจากข้าราชบริพารที่เคยอยู่ในวังสมัยก่อน บ้านเรือนต่างๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เกสต์เฮาส์ เพียงแต่ว่าถ้าจะตกแต่งบ้าน ก็ขอให้คงธีมหินทรายสีเหลือง เพื่อคงความเป็น Golden City ไว้ ซึ่งทำให้สวยงาม และเป็นโบราณสถานที่ดูมีชีวิตชีวา ช่วงเวลากลางวันอากาศจะร้อนมาก แต่พอเริ่มตกเย็น ทะเลทรายแห่งนี้ก็เริ่มคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่พากันมาดูพระอาทิตย์ตกบนเนินทะเลทรายธาร์ ซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่ไม่ควรพลาดของทะเลทรายทุกๆ แห่ง

Golden City อินเดียวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อวาน

ไจซัลเมอร์ นอกจากจะเป็นเมืองใจกลางทะเลทรายธาร์แล้ว ยังมีความพิเศษอีกอย่างก็คือ เป็นที่ตั้งของทุ่งกังหันลมขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอินเดีย มีกำลังการผลิตติดตั้งกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเรื่องพลังงานไฟฟ้า ถือว่ามีความสำคัญกับอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประเทศที่ใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก บางคนอาจจะสงสัยว่าประเทศอินเดีย เนี่ยนะ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ใช้พลังงานหมุนเวียน คำตอบคือ ใช่แล้ว เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการจัดการเกี่ยวกับพลังงานของประเทศ โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าหลักๆ แล้วคือว่าการพัฒนาแหล่งพลังงาน พื้นฐานให้มีประสิทธิภาพแล้วก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราใช้กันอยู่บนโลก ถูกคิดค้นโดยชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านก่อสร้าง เทคโนโลยีทางด้านโลหะศาสตร์ อินเดียเป็นคนคิดทั้งนั้น รวมถึงด้านพลังงาน ประเทศนี้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น พลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ประเทศนี้ก็มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง รวมถึงพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินก็พัฒนาได้ไม่ด้อยไปกว่ายุโรปเลย ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบันลดโลกร้อน และที่ผ่านมาก็มีความพยายามจัดการกับเรื่องของพลังงานเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นก็คือ ทุ่งกังหันลมที่มีกำลังผลิตติดตั้งถึง 1,064 เมกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตกระแสไฟฟ้าเกือบร้อยละ 60 ของประเทศนี้ได้มาจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ดังนั้น สิ่งที่เขาพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง

Golden City อินเดียวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อวาน

เมืองที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของรัฐราชาสถานเป็นอย่างมากอีกเมืองหนึ่งก็คือ เมืองบาร์เมอร์ (Barmer) เมืองนี้ไม่ใช่ปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวสักเท่าไรนัก ด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างโหดร้าย ถ้าหน้าร้อนอุณหภูมิสามารถพุ่งขึ้นถึง 51 องศาเซลเซียส ในขณะที่หน้าหนาวก็เย็นได้ถึง 0 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เพราะที่นี่อุดมไปด้วยแร่ธาตุใต้ดิน โดยเฉพาะทรัพยากรด้านพลังงาน ซึ่งมีทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ด้วยความที่มีถ่านหินมากนี่เอง จึงมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีประสิทธิภาพสูง ที่เรียกว่า STPS หรือ Super Thermal Power Station อย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน JSW ที่เมือง บาร์เมอร์ (Barmer) แห่งนี้

ถึงแม้ว่าดูไปแล้วอินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้ดูสะอาดสักเท่าไรนัก ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังมีปัญหาขยะ น้ำเน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันนั่นเอง สิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามทำคือ การพัฒนาสิ่งเหล่านั้น ให้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมรณรงค์ช่วยภาวะลดโลกร้อน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ มีแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีกังหันลม มีโซลาร์ฟาร์ม มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริม พร้อมๆ กับใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมๆ อยู่ โดยทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในประเทศ

Golden City อินเดียวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อวาน

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศอินเดียจะพยายามผลิตกระแสไฟฟ้าจากการใช้ เชื้อเพลิงหลายๆ รูปแบบ เช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากการใช้แร่ยูเรเนียม รวมไปถึงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้ามากที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประเทศนี้ยังมีประชากรอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ นโยบาย Power for all ที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีไฟฟ้าใช้ ก็ได้รับการสนับสนุนไปควบคู่กัน ดังนั้นแหล่งพลังงานที่จะเอามาใช้ก็คงไม่ใช่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเสียทั้งหมด เพราะว่า ต้นทุนก็อาจจะยังแพงอยู่ แล้วหลายๆ แหล่งก็ยังไม่มีเสถียรภาพสักเท่าไร ดังนั้น แหล่งพลังงานหลักที่จะขับเคลื่อนนโยบาย Power for all ก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

คงไม่ผิดนักถ้าจะเปรียบเปรยไปว่า หาก Golden City เกิดจากหินทรายสีเหลืองที่โดนแสงอาทิตย์ตกกระทบเกิดเป็นประกายสีทองออกมาแล้ว แสงอาทิตย์ที่ตกกระทบ Golden City นั้นยังเกิดเป็นประกายแห่งความคิดที่ทำให้ผู้นำอินเดียได้กล่าวไว้ว่า "ไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอินเดียแทนที่จะหยุดใช้ เราควรหันกลับมาใช้เทคโนโลยีจากถ่านหิน แต่เป็นถ่านหินที่สะอาดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งไม่สมควรอย่างยิ่งที่ประเทศใดจะนำวิถีของประเทศตนมาเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่น" อินเดียจึงเป็นกรณีศึกษาอีกหนึ่งประเทศที่มีความเชื่อว่าการจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องยกเลิกถ่านหิน ยกเลิกนิวเคลียร์ แล้วติดตั้งกังหันลม หรือแผงโซลาร์เซลล์ทั่วทั้งประเทศ แต่ควรเลือกใช้วิธีการที่สมเหตุสมผลมากกว่า นั่นก็คือ การพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะนี่คือ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศอินเดียต่อไป

ติดตามชมเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ รายการ โลก 360 องศา ทุกวันเสาร์ ทาง ททบ.5 เวลา 20.55 น.