posttoday

'ภูเก็ต' ภาพจำกับภาพจริง

18 พฤศจิกายน 2560

ภาพจำของภูเก็ตคือ ความแพง แต่ภาพจริงของเมืองนี้คือ ความเป็นท้องถิ่น

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ 

 ภาพจำของภูเก็ตคือ ความแพง แต่ภาพจริงของเมืองนี้คือ ความเป็นท้องถิ่น

 สองภาพที่ทับซ้อนจนเกือบมิดชิด แต่ยังโชคดีที่ไม่ถูกกลืนกินจนไม่เหลือตัวตน

 ไข่มุกมีราคาแพงและงดงามฉันใด ภูเก็ตก็มีค่าครองชีพสูงและสวยงามฉันนั้น สมชื่อกับสมญานาม “ไข่มุกแห่งอันดามัน” อันเป็นจุดหมายปลายทางของคนที่มีกำลังจ่ายแต่มีไลฟ์สไตล์หลากหลาย ทั้งกินหรูอยู่สบายและยังอยากโลคัล

 อย่างที่จะสาธยายต่อจากนี้ที่อาจสลับภาพไปมาเหมือนความทับซ้อนแต่ไม่ซับซ้อนของมัน

 เมื่อกล่าวถึงไข่มุกไปแล้ว ก็ขอกล่าวถึงไข่มุกต่อไปให้ถึงที่มา

 ณ “ฟาร์มไข่มุกอมร” สถานที่เลี้ยงหอยมุกจานที่สามารถผลิตมุกตามธรรมชาติ ก่อนนำมาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นเครื่องประดับราคาแพง

'ภูเก็ต' ภาพจำกับภาพจริง 03 ไข่มุกธรรมชาติ เครื่องประดับล้ำค่าของชาวภูเก็ต

 บนแพเลี้ยงมุกกลางทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่จะอธิบายความแตกต่างระหว่างมุกจริงและมุกปลอม ทราบได้โดยง่ายเมื่อสัมผัสแค่ผิวของมัน หากสัมผัสแล้วผิวมุกสาก ไม่ลื่น ก็สามารถประเมินได้เลยว่าเป็น มุกจริง

 เพราะมุกปลอมจะทำจากพลาสติกซึ่งทำให้ผิวลื่นไม่มีผิวสัมผัสเป็นธรรมชาติ ซึ่งตามท้องตลาดที่ขายราคาถูกอาจมีแต่มุกตื่นๆ เอ้ย! ลื่นๆ

 เมื่อเรียนรู้กระบวนการเลี้ยง การประคบประหงมจนเกิดความรู้สึกร่วมไปกับเจ้าไข่มุกแล้ว เรือลำเดิมจะพากลับเข้าฝั่งเพื่อไปยังร้านขายมุกอมร สถานที่ที่จะโชว์ให้เห็นขั้นตอนหลังจากเก็บมุกมาจากทะเล ซึ่งมุกนั้นไม่ต้องเจียระไน ตัวหอยให้มาอย่างไรก็จะได้ลักษณะนั้น

 การหามุกกลมสวยและสีสวยจึงเป็นเรื่องยากและเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงแพง

 บัตรเครดิตของหลายคนอาจถลอกก็ตอนนี้ เพราะอมรเป็นหนึ่งในเจ้าผลิตมุกและทำเครื่องประดับได้สวยงามระดับประเทศ

 มงกุฎนางงามหลายสมัยใช้มุกของอมร โดยราคาเครื่องประดับจากมุกมีตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักร้อย ซึ่งแน่นอนว่าร้านค้าจะเรียงลำดับจากแพงไปหาย่อมเยา

'ภูเก็ต' ภาพจำกับภาพจริง 04 เจ้าหน้าที่ฟาร์มไข่มุกโชว์วิธีหามุกในตัวหอย

 ก่อนตัดสินใจซื้อจึงควรเดินดูให้ทั่วทุกชั้น ไม่แน่ว่าของราคาดีอาจมาตอนท้ายก่อนถึงประตูทางออกก็ได้

 ทว่านอกจากความงดงามจากธรรมชาติ ภูเก็ตยังมีสวยงามของวัฒนธรรมซึ่งสามารถเห็นได้ชัด ณ “ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต”

 กิจกรรมในชุมชนมีทั้งการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนที่มาอาศัยตั้งรกรากอยู่บนเกาะภูเก็ต การเดินชมอาคารบ้านเรือนเก่าที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งในอดีต เยือนศาลเจ้าศูนย์รวมแห่งศรัทธาที่อยู่เคียงข้างกับโบสถ์คริสต์ ถ่ายรูปกับสตรีทอาร์ต และลิ้มรสอาหารพื้นเมือง

 ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต จะทำให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้คน บนพื้นฐานของความหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนา แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

 การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงวัย เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ย่านนี้มีชีวิตชีวา

 การเดินเล่นกับเจ้าบ้านอย่าง สมยศ ปาทาน จึงสนุกและมีความรู้ในทุกๆ ก้าว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถหาไกด์ที่จะปลุกชีวิตเมืองเก่ามาเล่าให้ใหม่ได้อย่างสนุกสนาน

 สมยศพาไปไหว้เจ้าที่ ศาลเจ้าแสงธรรม ศาลเจ้าเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอย่างสงบ ในอดีตที่นี่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนที่เดินทางจากบ้านมาแสวงโชคในต่างแดน ใช้ศรัทธาและความเชื่อเป็นเครื่องนำทาง หลอมรวมด้วยความสามัคคีจึงได้สร้างศาลเจ้าแสงธรรมขึ้นมา

 ภายในมีงานศิลปะปูนปั้นแกะสลักองค์เทพเจ้าต่างๆ และจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ที่ได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในปี 2540 ด้วย

 จากนั้นได้เดินผ่านร้านกาแฟ ร้านค้า และเกสต์เฮาส์ ที่ปรับอาคารเก่าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรมณีย์ก่อนทะลุเพื่อไปเจอกับตึกแถวเก่าที่มีป้ายเขียนด้วยลายมือบนประตูว่า “ไต่สุ้นอั้น” หรือโรงตีเหล็กโบราณที่หลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน

 โกโป้ เจ้าของบ้านอยู่ในชุดทำงาน (ไม่ใส่เสื้อ สวมแต่กางเกงขายาว) ออกมาต้อนรับพร้อมค้อนในมือ

'ภูเก็ต' ภาพจำกับภาพจริง 05 เครื่องประดับสุดประณีตของเจ้าสาวย่าหยา

 โกเล่าว่า ในยุคเหมืองแร่เฟื่องฟู ถนนดีบุกแห่งนี้เต็มไปด้วยโรงตีเหล็กตลอดเส้นทาง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป โรงตีเหล็กของโกกลายเป็นแห่งเดียวที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่บนถนนสายนี้

 โดยยังยึดวิธีการตีเหล็กแบบดั้งเดิม ใช้เตาเผาเหล็กโบราณขนาดใหญ่อัดแน่นไปด้วยเขม่าควันสีดำเมี่ยม ใช้แรงงานคนทุ่มค้อนทุบจนเหล็กกล้ากลายเป็นเครื่องมือช่าง ซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีออร์เดอร์น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่โกโป้ก็ยังคงรักษาโรงตีเหล็กหลังนี้ไว้ และยังตีเหล็กขายให้ชาวบ้านอยู่ต่อไป

 รวมถึงเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยว นักศึกษา มาศึกษาเรื่องการตีเหล็กผ่านการลงมือทำจริงด้วย

 นอกจากนี้ บนถนนกระบี่ยังเป็นที่ตั้งของ “บ้านเลขที่ 88” บ้านของอี๋โป้เต้ง คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนที่ใจดีเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม

 ภายในบ้านมีรูปภาพเก่าแก่ของเจ้าของบ้าน มีอุปกรณ์เครื่องครัวโบราณ เช่น หินโม่แป้ง เตาไฟ และตาชั่ง รวมถึงยังมีเอกลักษณ์ของบ้านภูเก็ต คือบ่อน้ำกลางบ้านที่ด้านบนเปิดช่องว่างไว้เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ตลอดปี

 สำหรับใครที่ต้องการหาข้อสรุปเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต แนะนำให้ไปจบที่ “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” ที่ได้ปรับเปลี่ยนโรงเรียนจีนชื่อดังในอดีต เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้รูปแบบพิพิธภัณฑ์

 โดยได้บันทึกความเป็นมาและตัวตนของบรรพบุรุษผ่านนิทรรศการที่น่าสนใจ ให้ซึมซับเรื่องราวความเป็นมาของอาคารบ้านเรือน ตรอกซอกซอย ผู้คน และบรรยากาศของชุมชนซึ่งทุกรายละเอียด คือความหมายของปัจจุบัน

 ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ นอกเขตชุมชนเมืองเก่า ได้มีเมืองใหม่ที่หน้าตาคล้ายกันเกิดขึ้นมา ณ “พิพิธภัณฑ์เพอรานากัน” ที่ได้จำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมมาแสดงได้สมจริง

 ไม่ว่าจะเป็น เตี่ยมฉู่ ภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า ตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ ตลอดจนรายละเอียดภายในบ้านที่พยายามทำให้เป็นความจริงมากที่สุด รวมถึงห้องนิทรรศการที่เกี่ยวกับความเชื่อ ธรรมเนียมประเพณี อาหารท้องถิ่น การแต่งกาย และเครื่องประดับโบราณที่หาได้ยาก

 คำว่า เพอรานากัน เป็นภาษามาลายู มีความหมายว่า เกิดที่นี่ ซึ่งหลากหลายชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อชายต่างแดนแต่งงานกับหญิงท้องถิ่น ลูกหลานของพวกเขาจะมีเชื้อสายผสมเรียกว่า เพอรานากัน

 อีกด้านหนึ่งในเรื่องของวิถีชีวิตชาวไทยภูเก็ตแท้ๆ เอง ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยสามารถเรียนรู้แบบเจาะลึกได้กับ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางโรง ที่เปิดเรื่องด้วยการเซอร์ไพรส์ปาร์ตี้ สับปะรดลอยแก้ว หวานฉ่ำกลางสวนสับปะรด พืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่สร้างรายได้ให้เกษตรเป็นกอบเป็นกำ รวมถึงการแปรรูปเป็นขนมและของหวานเช่นที่ชิมอยู่ด้วย

 จากนั้นเรื่องราวได้ดำเนินต่อไปที่ สวนผลไม้ลุงเสรี มีความพิเศษตรงสวนลำไยรสชาติหวานกรอบ ซึ่งลุงเสรีลองผิดลองถูกจนสามารถปลูกลำไยในผืนดินใต้ และยังคงรสชาติหอมหวานสูสีกับลำไยทางแดนเหนือได้สำเร็จ

 และปิดท้ายที่ มณีรัตน์ฟาร์มแพะ ที่นี่แพะจะถูกเลี้ยงในโรงเรือนสะอาด แทบไม่มีกลิ่น และนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมความแสนรู้ของมันเมื่อถึงเวลารีดนมได้ ถึงคิวตัวไหนมันจะรีบวิ่งแจ้นมาขึ้นแท่นรีดนมโดยไม่ขัดขืน เพื่อไปรับรางวัลเป็นอาหารชนิดพิเศษที่อร่อยกว่าหญ้าธรรมดา

'ภูเก็ต' ภาพจำกับภาพจริง 06 ห้องนิทรรศการจัดแสดงชุดพื้นเมืองของชาวภูเก็ต

 นอกจากนี้ มณีรัตน์ยังเปิดบ้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนมแพะทั้งนมพร้อมดื่ม โยเกิร์ตพร้อมดื่ม (อร่อยมาก) โลชั่น และแชมพู รวมถึงมีโฮมสเตย์ให้พักผ่อนมองแพะกินหญ้า

 อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตไม่มีดีแค่ทะเล ซึ่งนอกจากวิถีชีวิตผู้คนยังหมายรวมถึงธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่าง ชะนี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัตว์ป่าอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต แต่เมื่อราว 50 ปีที่แล้วพวกมันถูกล่าอย่างหนักเพื่อจับไปโชว์ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปตามชายหาดและบาร์จนทำให้พวกมันสูญพันธุ์

 กระทั่งเมื่อมีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 ทำให้มีผู้ครอบครองจำนวนมากนำชะนีมามอบให้ภาครัฐเนื่องจากเกรงกลัวความผิด ทางมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยจึงเข้ามาช่วยเหลือชะนีเหล่านั้นให้ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ และเกิดเป็น “โครงการคืนชะนีสู่ป่า” ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

 จุดมุ่งหมายของโครงการ เพื่อช่วยเหลือ ดูแลสุขภาพ ฟื้นฟู และฝึกชะนีที่ถูกทอดทิ้งให้กลับมามีสัญชาตญาณสัตว์ป่าก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว ป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ที่สุดผืนสุดท้ายของภูเก็ต

 รวมถึงให้การศึกษาเชิงอนุรักษ์และรณรงค์ต่อต้านการถ่ายรูปคู่กับสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายให้แก่นักเรียนและนักท่องเที่ยวไทยทั้งไทยและต่างชาติ

 หลังจากความพยายามมากกว่า 25 ปี โครงการสามารถฟื้นฟูประชากรชะนีมือขาวที่เคยสูญพันธุ์ไปจากป่าให้กลับมากู่ก้องเสียงร้องทั่วผืนป่าทวงบัลลังก์ราชินีแห่งพงไพรบนเขาพระแทวอีกครั้ง และพวกมันยังสามารถสืบพันธุ์เพิ่มพูนจำนวนประชากรในป่า

 นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ทั่วโลกต่างยอมรับและยกย่องให้เป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยเหลือ อนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรชะนีที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและดีที่สุดในโลก

 แม้ภูเก็ตจะถูกโปรโมทให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับลักซ์ชัวรี่ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่าลักซ์ชัวรี่คืออะไร? ในยุคนี้ที่คนมีเงินต้องการหาประสบการณ์แปลกใหม่ ท้าทาย มีเอกลักษณ์ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ

 โลคัลจึงอาจหมายถึง “ลักซ์ชัวรี่ยุคใหม่” ได้อย่างไม่ผิดแผกแต่อย่างใด

 นิยามใหม่นี้จะส่งผลดีไปถึงชุมชนรากหญ้าและผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องต่อสู้กับตลาดใหญ่ที่รุนแรง รวมถึงยังส่งผลดีไปถึงตัวนักท่องเที่ยวที่จะได้เห็นภูเก็ตทั้งสองแบบ

 ทั้งภาพจำและภาพจริงที่หาชมได้ “ไม่” ยาก เพียงต้องแง้มม่านประเพณีออกมาดู

...........ใต้ภาพ..........

00(รูปเปิด) บ้านคนภูเก็ตเสมือนจริงในพิพิธภัณฑ์เพอรานากัน

03 ไข่มุกธรรมชาติ เครื่องประดับล้ำค่าของชาวภูเก็ต

04 เจ้าหน้าที่ฟาร์มไข่มุกโชว์วิธีหามุกในตัวหอย

05 เครื่องประดับสุดประณีตของเจ้าสาวย่าหยา

06 ห้องนิทรรศการจัดแสดงชุดพื้นเมืองของชาวภูเก็ต

07 โกโป้สาธิตการตีเหล็กด้วยอุปการณ์ดั้งเดิม

08 บรรยากาศเมืองเก่าภูเก็ต

09 อาคารเก่าบนถนนถลางถูกปรับโฉมเป็นร้านค้า

10 ชะนีสีทองในโครงการคืนชะนีสู่ป่า เขาพระแทว

11 นักท่องเที่ยวต่างชาติเยี่ยมชมเหล่าชะนีที่ถูกเลี้ยงดูอย่างปลอดภัย

12 การรีดนมแพะ

13 ถึงเวลาให้อาหารแกะในโรงเรือน

14 สับปะรดลอยแก้วหวานชื่นใจกลางไร่สับปะรด

15 ปล่องไฟลำเลียงควันในบ้านตีเหล็ก

16 สับปะรดภูเก็ตหวานกรอบเป็นเอกลักษณ์

17 เครื่องมือช่างฝีมือการตีเหล็กของโกโป้