posttoday

ส่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พลังไม้ไผ่ ที่ ‘บ้านผาปัง’

16 มีนาคม 2562

การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ “ไบโออีโคโนมี”

การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ “ไบโออีโคโนมี” แล้วพัฒนาให้เชื่อมโยงไปถึงการท่องเที่ยวชุมชน เป็นแนวทางที่ภาครัฐพยายามจะผลักดันให้เกิดกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อปลายทางสำคัญคือชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง

แต่โจทย์ที่ว่าแล้วจะทำ “อะไรและอย่างไร” ของแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่าง และนั่นก็คือจุดตั้งต้นที่จะทำให้การพัฒนาของแต่ละแห่งยั่งยืนอยู่ได้แตกต่างกันไป

หากลองเปิดกูเกิลแล้วเสิร์ชข้อมูลโดยใช้คำว่า “ชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง” จะพบกับทั้งข่าว บทความ คลิปวิดีโอมากมายที่เล่าเรื่องของชุมชนแห่งนี้

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนชุมชนผาปัง ได้ฟังการเล่าความเป็นมาของกลุ่มของลูกหลานคนในชุมชนที่ได้รวมตัวกัน กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน ได้เห็นว่านี่คือชุมชนที่รู้ความต้องการและรู้ถึงวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายของตนเอง

อดไม่ได้ที่ต้องนำมาเล่าต่อ เพื่อจุดประกายความคิดให้กับผู้อ่านที่อาจกำลังคิดหาทางจะพัฒนาชุมชนหรือบ้านเกิดของตนเองอยู่

เริ่มจากมองเห็นปัญหา

ส่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พลังไม้ไผ่ ที่ ‘บ้านผาปัง’

รังสฤษฎ์ คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง คือผู้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชนที่ถอดมาจากประสบการณ์การลองผิดลองถูกของชุมชนมาตลอดเวลาเกือบ 15 ปี ให้ฟังว่า ผาปังเป็นโมเดลการพัฒนาจากการพึ่งพาทรัพยากรฐานชีวภาพของชุมชนเอง เป็นพื้นฐานที่ปูให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ก่อน แล้วค่อยขยายออกไปภายนอก ตามแนวพระราชดำริ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

“จุดเริ่มต้นก่อนจะมาถึงวันนี้ที่ผาปังกลายเป็นชุมชนซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไม้ไผ่และผลิตสินค้าที่หลากหลายจากไม้ไผ่ ได้ก่อตัวขึ้นจากที่กลุ่มลูกหลานในชุมชนเองที่มองเห็นปัญหาว่าหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เป็นมา คือผู้คนอพยพย้ายออกจากชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อจำกัดในพื้นที่ จะทำให้ในที่สุดบ้านเกิดของพวกเขา จะต้องกลายเป็นบ้านร้างแน่นอน”

ข้อจำกัดที่ รังสฤษฎ์ กล่าวถึงนั่นก็คือ บ้านผาปัง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเต็งรังผสมกับป่าไผ่ ที่ราบเชิงเขาเป็นหินลูกรังปนทรายไม่สามารถทำการเกษตรได้ มีเทือกเขาเป็นเขาหินปูนบังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จึงเป็นพื้นที่เงาฝนขาดแคลนแหล่งน้ำ

“ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. จะไม่มีฝนตกเลยแตกต่างจากพื้นที่อื่นของภาคเหนือที่มีฝนตกหนาแน่นแล้ว และหลังจากนั้นเมื่อฝนตกก็ไม่มีระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง”

ภาวะเช่นนี้ทำให้ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนในท้องถิ่นทยอยย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ในเมืองใหญ่ บ้างก็ไปอยู่พื้นที่อื่นที่เอื้ออำนวยกับการทำการเกษตรมากกว่า รังสฤษฎ์ บอกถึงปัญหาว่าขนาดของ ต.ผาปังจึงเล็กลงเรื่อยๆ จากชุมชนใหญ่เหลือประชากรเพียง 1,000 คน และเกือบครึ่งเป็นผู้สูงอายุ อัตราการตายสูงกว่าการเกิด

“เมื่อมองเห็นปัญหาแล้ว ก็เกิดการพูดคุยระหว่างกลุ่มของลูกหลานชุมชนผาปังที่ได้ออกไปเรียนหนังสือ มีวิชาความรู้หลากหลายสาขา บางคนทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานราชการ

แต่ทั้งหมดมีความคิดตรงกันนั่นคือความเป็นห่วงชุมชน จึงมีแนวคิดว่าจะต้องสร้างวิสาหกิจขึ้นมาจากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้คนมีอาชีพ เห็นทางทำมาหากินไม่ย้ายถิ่นฐานไปไหนอีก”

ออกแบบภูมิสถาปัตย์การพัฒนา

ส่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พลังไม้ไผ่ ที่ ‘บ้านผาปัง’

ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง กล่าวว่างานนี้ไม้ไผ่ซึ่งจัดเป็นพืชหลักของชุมชนที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติเป็นพืชไม่กี่ชนิดที่อยู่ได้ท่ามกลางอากาศแห้งแล้ง จึงถูกเลือกให้เป็นพระเอกหรือตัวนำของการพัฒนาชุมชน

“ในช่วงการเริ่มต้น ทุกคนมองตรงกันว่าการขับเคลื่อนคราวนี้คงจะพึ่งกลไกรัฐไม่ได้เพราะโครงสร้างการทำงานของรัฐไม่เอื้ออำนวยขาดความต่อเนื่อง เช่นปีที่ผ่านมา อ.แม่พริก จ.ลำปาง เปลี่ยนปลัดอำเภอไปแล้วถึง 6 คน แต่ละคนอยู่ไม่ถึง 3 เดือน ในขณะชุมชนนั้นอยู่กับที่

ทางกลุ่มจึงได้ออกแบบ “ภูมิสถาปัตย์การพัฒนา” ให้เป็นรูปแบบของตนเอง คิดให้ครบแล้วค่อยลงมือทำ คือเห็นว่าการพัฒนาจะต้องได้รับการผลักดันจาก “ผู้นำเชิงคณะ” ไม่คิดแบบมหาดไทยที่กำหนดว่าผู้ใหญ่บ้านต้องรู้ทุกเรื่อง ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

ดังนั้น ผู้นำเชิงคณะที่ว่า รังสฤษฎ์ บอกว่ามาจากกลุ่มคนที่ห่วงใยชุมชนทั้งหลายที่มีประสบการณ์ความรู้หลากหลาย ทั้งการเกษตร วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ การบริหารการตลาด

“ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่าถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อไปก็ผิดหมด พวกเราแน่ใจว่าครั้งนี้ติดกระดุมไม่ผิดเม็ดแน่นอนตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุกคนจึงทยอยลาออกจากงานประจำมาลุยงานชุมชนเต็มตัว ส่วนตัวผมเองตามมาช่วงหลังเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว”

สร้างหนังที่ชื่อว่า “ผาปัง”

ส่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พลังไม้ไผ่ ที่ ‘บ้านผาปัง’

รังสฤษฎ์ เล่าให้ฟังต่อว่า การพัฒนาชุมชนผาปังไม่ต่างอะไรกับการสร้างหนัง เพียงแต่หนังเรื่องนี้ชื่อว่าผาปัง ซึ่งหนังเรื่องนี้มีไม้ไผ่เป็นพระเอกแล้วมีผู้นำเชิงคณะเป็นผู้กำกับ

“เวลานั้นคิดแล้วว่าการจะพาพระเอกให้ตีบทแตก จะต้องสร้างนวัตกรรมจากไผ่ให้เกิดขึ้นมากที่สุด นั่นคือนอกจากจะพลังงานชีวภาพได้แล้ว จะต้องนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นเวชภัณฑ์ เสื้อผ้า ยารักษาโรค และนั่นเป็นที่มาของชุมชนเริ่มมีความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ทางด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์”

จากความร่วมมือและการสนับสนุนของส่วนต่างๆ ทำให้ปัจจุบันผาปังสามารถผลิตก๊าซจากไม้ไผ่ที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือนชุมชนได้ในชื่อ “ผาปังแบมบูแก๊ส” หรือ PBG ที่ทำให้ชุมชนไม่ถูกกระทบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ รังสฤษฎ์ ขยายความว่า

“การเผาถ่านไม้ไผ่ด้วยอุณภูมิและเวลาที่เหมาะสม ทำให้ได้ถ่านที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งเวลานี้ชุมชนผาปังเองผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์ ได้และได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว

เหมาะสำหรับชุมชนบนภูเขา หรือเกาะซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ตั้งอยู่ในภูมิประเทศไม่เหมาะที่จะตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเร็วๆ นี้จะได้รับการนำไปใช้ในชุมชนต่างๆ โดยจะมีการอบรมให้ความรู้กับตัวแทนชุมชนต่างๆ ที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กนี้จะเข้าไปติดตั้งด้วย”

ไม้ไผ่ให้ประโยชน์มากกว่าที่คิด

หลังจากได้สะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลาสิบกว่าปี ยิ่งได้เห็นประโยชน์ที่กว้างขวางของไม้ไผ่ รังสฤษฎ์ กล่าวว่า ประโยชน์มหาศาลของไม้ไผ่ทำให้รู้ว่าเหตุใดประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ถึงได้ประกาศให้ไผ่เป็นพืชอนุรักษ์และส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมากที่สุด

“เช่นกรณีของจีนที่มีอยู่ 22 มณฑลมีการส่งเสริมปลูกไม้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจถึง 20 มณฑล เพราะไม้ไผ่เมื่อเผาในอุณหภูมิที่เหมาะสม แล้วนำมาบดจะได้ผงถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูง หรือ Activated Charcoal ที่นำไปใช้ผลิตเครื่องสำอาง ยา เครื่องมือแพทย์ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องกรองอากาศ เครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองน้ำ และอีกหลายอุตสาหกรรม

ขณะที่ส่วนของเยื่อไผ่นำไปใช้ในการผลิตเป็นเสื้อผ้า เป็น Bamboo Fiber สามารถใช้ผลิตตัวเครื่องรถไฟฟ้า และระดับความแข็งแรงมีการพัฒนาถึงขั้นเป็นท่อส่งก๊าซจากรัฐยะไข่ในเมียนมา ขึ้นไปถึงคุนหมิง ของจีนแล้ว”

ประโยชน์มหาศาลของไม้ไผ่ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยเรามากนัก รังสฤษฎ์ บอกว่า ปัจจุบันไทยยังนำเข้าถ่านจากกัมพูชามาเป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ไทยมีศักยภาพที่จะปลูกและเผาถ่านไผ่ให้ได้เกรดที่มีคุณภาพ และส่งเข้าอุตสาหกรรมขั้นสูงที่มีความต้องการอีกสูงมาก

“ปัจจุบัน Activated Charcoal ที่ชุมชนผาปังผลิตได้มีคำสั่งซื้อเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนมีแผนที่ต้องขยายกำลังการผลิต จากปัจจุบันที่มีเตาเผาอยู่ 10 เตา และเตาวิจัย 2 เตา ส่วนที่จะลงทุนใหม่นี้จะเป็นโรงงานเผาที่กำลังการเผาจะได้ถ่านประมาณ 3 ตัน/เดือน และเวลานี้มีออร์เดอร์
ที่แน่นอนเข้ามาแล้ว

ขยายกิจการให้กว้างขวางขึ้น

ส่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ พลังไม้ไผ่ ที่ ‘บ้านผาปัง’

ออร์เดอร์บางส่วนมาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ปัจจุบันมีการนำเข้า Activated Charcoal จากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้เกิดจากความร่วมมือของชุมชนกับ ตลท. ให้เป็นตัวกลางในการให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้นบางส่วนเข้ามาร่วมทุนในกิจการของชุมชนด้วย

รังสฤษฎ์ เน้นว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ โดยเมื่อปี 2560 ชุมชนได้จดทะเบียนบริษัทของชุมชนขึ้นมา 3 บริษัทได้ คือ บริษัท ไผ่ชุมชน บริษัท ถ่านไผ่ผาปัง เพื่อผลิตถ่านไผ่ Activated Charcoal และบริษัท กรีน คอมมูนิตี้ ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลการหาตลาด การค้าสินค้าในชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดถือหุ้นโดยคนในชุมชนและเปิดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้นได้บางส่วน แต่จะไม่ให้ครอบงำชุมชน

“วิสาหกิจชุมชนผาปัง ที่มีการพัฒนาในรูปแบบ การสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มร่วมกัน หรือ CSV นอกจากจะขยายกิจการในกลุ่มพลังงานชีวภาพ การผลิตส่วนผสมในสินค้าอุตสาหกรรม อย่าง Activated Charcoal แล้วยังมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องไผ่อย่างครบวงจร
ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดปี มีสินค้าชุมชนอื่นๆ ที่ล่าสุดมีแผนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศทั้งสินค้าจากกล้วย กระเจี๊ยบ ลำไยอบแห้ง”

วัดแกนกลางของชุมชน

รังสฤษฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากการพัฒนาสินค้าของชุมชนให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อเนื่องแล้ว ที่ต้องทำให้เข้มแข็งไม่แพ้กันนั่นคือ การรักษาวัฒนธรรมและการสร้างความรัก ความผูกพันในบ้านเกิดของคนในชุมชน

“ที่นี่จะมีวิถีการปลูกฝังผ่านกลไกต่างๆ โดยมีวัดเป็นแกนกลางหลักของชุมชน เช่น การหารือต่างๆ จะมีขึ้นที่วัด โดยไม่ใช่การจัดหารืออะไรที่เป็นทางการ แต่จะไปคุยกันเนื่องในโอกาสงานต่างๆ ของวัด เพราะวัดคือศูนย์รวมความศรัทธายึดโยงคนให้อยู่ร่วมกัน

ขณะที่การจัดงานในเทศกาลต่างๆเช่น ลอยกระทง จะให้เยาวชนเป็นแกนกลางของการจัด ส่วนผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้เยาวชนมีความคิดเกี่ยวกับส่วนรวม และไม่ละทิ้งวัฒนธรรม”

ถึงเวลานี้ ความสำเร็จของชุมชนผาปังรังสฤษฎ์ มองว่าได้เกิดขึ้นในรูปของงาน อาชีพ รายได้ แต่ความสำเร็จที่มากกว่านั้นคือ การได้รักษาบ้านเกิดให้คงอยู่ ผู้คนอยู่กับถิ่นฐานได้แนบแน่นยิ่งขึ้น

“เป็นโมเดลที่รัฐซึ่งเป็นคนทำนโยบาย สามารถนำไปคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นให้ชุมชนคิดและสามารถ “ระเบิดจากข้างใน”รู้ความต้องการ รู้แนวทางที่จะพัฒนาตนเองเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ ส่วนรัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน เพราะการเข้มแข็งที่ฐานรากนั้น คือความเข้มแข็งและยั่งยืนของ
ประเทศ”