posttoday

เกาหลีใต้ เมืองแห่ง (ร้าน) กาแฟ (1)

08 มีนาคม 2562

กาแฟกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นู่น

เรื่อง คาเอรุ ภาพ อีพีเอ รอยเตอร์ส

กาแฟกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นู่น โดยเฉพาะในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้นั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน จะต้องมีร้านกาแฟสักร้านสองร้านอยู่ในสายตา

ว่ากันว่า สมเด็จพระจักรพรรดิโคจงแห่งเกาหลี หรือสมเด็จพระราชาธิบดีโคจงแห่งโชซอน พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 26 แห่งราชอาณาจักรโชซอน และสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเกาหลีพระองค์แรก ทรงเป็นชาวเกาหลีคนแรกที่ได้ลองลิ้มชิมรสของกาแฟ โดย อันโตเนตต์ ซอนแท็ก พี่สะใภ้ของทูตรัสเซียประจำเกาหลี เป็นผู้ชงถวาย ในปี 1896

ในยุคนั้นชาวเกาหลีต่างตื่นตาตื่นใจกับเครื่องดื่มชนิดใหม่ที่ได้รับการแนะนำจากชาวยุโรปนี้มาก กาแฟไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องดื่มในสายตาของพวกเขา ทว่าคือความเป็นตะวันตกและความทันสมัย พวกเขาเรียกร้านกาแฟหรือคาเฟ่ว่า “ดาบัง” ซึ่ง “ดาบัง” ร้านแรกก็บุกเบิกโดย อันโตเนตต์ ซอนแท็ก ตั้งอยู่ในโรงแรมซอนแท็ก (Sontag Hotel) ที่ย่านจุงกุ จงดง ในกรุงโซล เมื่อปี 1902

“ดาบัง” สมัยใหม่เริ่มปรากฏในเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1927 ในย่านเมียงดง ก่อนจะขยายไปสู่ย่านจองโนและชุงมารุ โดยในช่วงแรกๆ เป็นสถานที่พบปะของบรรดาราชวงศ์และชนชั้นสูง ก่อนที่จะกลายเป็นแหล่งถกกันเรื่องการเมือง เป็นชุมนุมศิลปินคนดัง และภายหลังเป็นที่เจรจาธุรกิจ กับสถานที่นัดพบของเพื่อนฝูงและคนรัก

ชาวเกาหลีรุ่นใหม่ชื่นชอบ “ดาบัง” ทั้งในแง่ของการชอบรสชาติของกาแฟ และยังหลงใหลไปกับบรรยากาศร้านกาแฟ มันช่างเป็นความสุขเสียนี่กระไร กับการได้ใช้ส้อมจิ้มลงไปบนเนื้อเค้กแสนอร่อย เข้าคู่กับกาแฟถ้วยโปรด สิ่งนี้มันฟินกว่าการจับตะเกียบและจิบซุปเกาหลีจากถ้วยแบบโบราณเป็นไหนๆ

เกาหลีใต้ เมืองแห่ง (ร้าน) กาแฟ (1)

กลางทศวรรษที่ 1900 “ดาบัง” มีสถานะเป็นแหล่งนัดพบของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะร่ำรวย เพราะคนธรรมดาทั่วไปไม่มีกำลังเงินพอจะซื้อกาแฟดื่ม จนกระทั่งหลังทศวรรษที่ 1950 “ดาบัง” แทบไม่ต่างจากคาเฟ่ในกรุงปารีสในศตวรรษที่ 17 ที่รวบรวมผู้คนมากหน้าหลายตา หลายชนชั้นและอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการมาพูดคุยกันเรื่องการเมือง ศิลปะ การศึกษา เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งถกกันเรื่องศาสนา ช่วงนี้เริ่มมีบทบาทของตำรวจเข้ามาสอดส่องผู้คนที่มานัดพบกันใน “ดาบัง” อย่างใกล้ชิด

ทศวรรษที่ 1960 ราคากาแฟกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากกลายเป็นสิ่งที่หายาก “ดาบัง” หลายแห่งถูกสั่งปิด หลังจากการขึ้นครองอำนาจของผู้นำเผด็จการ ในปี 1961 ก่อนสถานการณ์จะคลี่คลายในอีกทศวรรษต่อมา แต่ “ดาบัง” ก็ได้กลายเป็นที่รวมของชนชั้นกลาง เริ่มเป็นที่นัดพบ เดทติ้งของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ และเป็นแหล่งรวมนักศึกษามากขึ้น จนเริ่มมี “ดาบัง” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเอง เช่น มีการแสดงดนตรีสด มีดีเจเปิดแผ่นให้ฟัง โดยรัฐบาลทหารไม่จำกัดอะไร เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ไม่ได้มาเพื่อถกเรื่องการเมือง

การแข่งขันของ “ดาบัง” ในเกาหลีใต้ เริ่มสูงขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่ 1980 พวกเขาจะเพียงขายเครื่องดื่มกาแฟอร่อยๆ อย่างเดียวไม่พอแล้ว แต่ต้องเน้นความแตกต่างในการตกแต่งร้านให้บรรยากาศแจ๋วๆ เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าด้วย บางร้านติดไฟสีชมพู บ้างจัดแต่งสวนสวย บางร้านก็ยกน้ำตกมาไว้กลางร้าน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มเมนูเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น โซดารสชาติต่างๆ และสารพัดชาเอาไว้บริการ

หลังจากปี 1999 ที่ร้านสาขาของสตาร์บัคส์เข้ามาบุกตลาดกาแฟเกาหลีใต้ บรรยากาศร้านกาแฟของแดนโสมก็เปลี่ยนโฉมไปอีกครั้ง สตาร์บัคส์ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมกาแฟของเกาหลีใต้ไปอีกรูปโฉมหนึ่ง เช่นว่าการบริการตัวเอง คาเฟ่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานหน้าตาดีไว้คอยดึงลูกค้า การสั่งกาแฟกลับบ้าน การมานั่งดื่มกาแฟคนเดียว การนั่งอ่านหนังสือในร้านกาแฟ ฯลฯ ซึ่งปกติชาวเกาหลีเขาไม่ทำกัน

เช่นเดียวกับร้านกาแฟแฟนตาซีจากยุคทศวรรษที่ 1980 ทั้งหลายก็เริ่มล้มหายตายจาก ปรับเปลี่ยนเป็นร้านสไตล์โมเดิร์น มีความเป็นมินิมอลมากขึ้น

เรื่อง (ร้าน) กาแฟในเกาหลีไม่จบง่ายๆ ขอมาเล่าต่อสัปดาห์หน้าจ้ะ