posttoday

‘ปัตตานี’ เมืองงาม สามวัฒนธรรม

09 กุมภาพันธ์ 2562

เมืองปัตตานีได้รับการกล่าวขานว่าเป็น เมืองงามสามวัฒนธรรม

เมืองปัตตานีได้รับการกล่าวขานว่าเป็น เมืองงามสามวัฒนธรรม เนื่องจากมีการคงอยู่ร่วมกันของชาวไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม โดยที่เห็นประจักษ์ชัดจากศาสนสถานในแต่ละชุมชนที่สามารถกำหนดเป็นเส้นทางท่องเที่ยว

หากเริ่มต้นจากเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม ที่นี่เป็นชุมชนของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกลายเป็นเมืองท่าสำคัญในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งยุครัตนโกสินทร์ จากการเป็นเส้นทางค้าขายบนแม่น้ำปัตตานีกับชาวจีน สิงคโปร์ และชาวชวา

ทุกวันนี้จึงยังเห็นบ้านเรือนที่มีการประดับตัวอาคารสไตล์จีนเป็นเสน่ห์ให้กับย่านเมืองเก่า ยังคงเป็นชุมชนใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีน และบนถนนอาเนาะรู ยังคงเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าจีนศักดิ์สิทธิ์ “ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว”

ศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว อยู่คู่กับเมืองปัตตานีมายาวนานนับร้อยปี แต่เดิมที่นี่คือ ศาลเจ้าโจวซือกง เทพเจ้าแห่งการรักษาเป็นเทพประธานประจำศาล ต่อมาได้มีการอัญเชิญรูปแกะสลักเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่บ้านกรือเซะมาประทับ และมีการเรียกขานศาลเจ้าแห่งนี้ใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หมายถึง ศาลเจ้าแห่งความเมตตาและศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวบ้านมักเรียกติดปากว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จนกลายเป็นชื่อที่คนรู้จักอย่างในทุกวันนี้

มีความเชื่อว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา ค้าขาย และโชคลาภ เนื่องจากมีตำนานเล่าถึงเจ้าแม่ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อมารดา ซื่อสัตย์ และรักษาในคำมั่นสัญญาเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดยอมฆ่าตัวตาย เพราะไม่อาจรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับมารดาว่าจะพาพี่ชายคือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม กลับบ้านได้ จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานในหมู่ชาวจีน

‘ปัตตานี’ เมืองงาม สามวัฒนธรรม

“ลิ้มกอเหนี่ยวอาสาออกเดินทางเพื่อตามพี่ชายให้กลับมาพบมารดา ในวันเดินทางลิ้มกอเหนี่ยวได้เข้าไปร่ำลามารดา และกล่าวสัจวาจาไว้ว่า

“จะนำพี่ชายกลับมาหามารดาให้จงได้ แม้จะต้องสละชีวิตก็ตาม”

แล้วออกเดินทางพร้อมสมัครพรรคพวกโดยเรือสำเภาเก้าลำ ติดตามมาจนถึงเมืองปัตตานี ได้พบพี่ชายที่บ้านกรือเซะและพำนักอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงชักชวนให้พี่ชายกลับประเทศจีนเพื่อพบมารดาอยู่หลายครั้ง แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่า ตนหาใช่คนเนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาว

แต่เหตุที่ทางการจีนกล่าวโทษว่าตนสมคบกับโจรสลัดสร้างความอัปยศจนต้องพลัดพรากมาอยู่ที่นี่ หากกลับไปก็จะสร้างความลำบากให้แก่ครอบครัว อีกทั้งได้รับปากกับเจ้าเมืองว่า จะก่อสร้างมัสยิดกรือเซะให้สำเร็จก่อนจึงไม่สามารถกลับไปได้

ลิ้มกอเหนี่ยวจึงยอมสละชีวิตโดยทำอัตวินิบาตกรรมที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ให้พี่ชายได้เห็นสัจจะ ความรัก และความกตัญญูของตนเองจากนั้นประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาจึงได้นำต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นนั้นมาแกะสลักเป็นรูปเหมือนบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานที่บ้านกรือเซะ เป็นใจความสำคัญส่วนหนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

‘ปัตตานี’ เมืองงาม สามวัฒนธรรม

ส่วนพี่ชายลิ้มโต๊ะเคี่ยมตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่ปัตตานี สมรสกับสตรีชาวปัตตานีผู้สูงศักดิ์ และกลายเป็นบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตปืนใหญ่ให้กับชาวปัตตานี โดยเขาได้รับมอบหมายให้เป็นนายช่างควบคุมการหล่อปืนใหญ่ที่มีชื่อเสียง 3 กระบอก คือ ศรีนครี มหาลาลอ และนางพญาตานี

ส่วนมัสยิดกรือเซะนั้นสุดท้ายแล้วก็สร้างไม่สำเร็จและกลายเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักระหว่างพี่น้องจนถึงบัดนี้

สำหรับพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่กล่าวถึง ตั้งอยู่ติดกับศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน มีประติมากรรม 18 อรหันต์อยู่ด้านหน้า ภายในแบ่งออกเป็น 9 ส่วน เช่น ส่วนจัดแสดงประวัติปัตตานี ประวัติพระหมอเชงจุ้ยโจวซือกง ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การเดินทางของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชายชาตรีผู้มุ่งมั่นจากโพ้นทะเล ส่วนจัดแสดงเกี้ยวแห่เจ้าแม่ งานพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และส่วนแสดงภาพตลาดจีนเมืองปัตตานี

ส่วนงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 15 วัน ตรงกับจันทรคติของไทยช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ด้วยการอัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว องค์ประธานพระหมอ พร้อมด้วยเทพเจ้าหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า แห่ไปตามถนนรอบเมือง พร้อมเชิดสิงโต แห่ธงทิว และมีดนตรีบรรเลงตลอดทาง

เมื่อขบวนแห่ไปถึงเชิงสะพานเดชานุชิต(สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) จะมีพิธีลุยน้ำข้ามคลองเพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปตามหาพี่ชาย

‘ปัตตานี’ เมืองงาม สามวัฒนธรรม

จากนั้นย้อนกลับไปทำพิธีลุยไฟที่ลานด้านหน้าศาลเจ้า ผู้ชมสามารถนั่งบนอัฒจันทร์ชมพิธีลุยไฟ ส่วนกลางคืนมีมหรสพฉลองทั้งงิ้ว มโนราห์ และการฉายภาพยนตร์ กลายเป็นงานใหญ่ประจำปีของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานีที่จะมารวมตัวกันแห่เจ้าแม่อย่างคับคั่ง

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชุมชนจีนในปัตตานีคาดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ 497 ปีก่อน โดยชาวจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ในปัตตานีมาจากมณฑลฝูเจี้ยน หรือมณฑลฮกเกี้ยน เพราะเป็นชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ และปัตตานีถือเป็นปลายทางที่ชาวจีนโพ้นทะเลปรารถนามาติดต่อค้าขายและตั้งรกราก ก่อให้เกิดการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมและการดำรงอยู่ร่วมกันของผู้คนจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป

จากศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยวเดินทางต่อไปยังบ้านป่าไร่ที่ตั้งของ “วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า วัดช้างให้ เป็นวัดที่ชาวพุทธศาสนิกชนศรัทธาและเลื่อมใสในหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

วัดช้างให้เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี เมื่อโบราณก็ย่อมมาพร้อมตำนานที่กล่าวไว้ว่า พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรีต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิษฐานปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไปจนช้างได้หยุดอยู่ที่แห่งหนึ่งแล้วร้องขึ้น 3 ครั้ง

พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตดีและใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวกลับไม่เห็นด้วย พระยาแก้มดำจึงสั่งให้สร้างวัดขึ้นแทนแล้วให้ชื่อว่า วัดช้างให้ แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือหลวงพ่อทวด มาจำพรรษาที่วัด

หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ เป็นผู้มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและเวทมนตร์คาถา มีเรื่องเล่าว่าท่านได้แสดงปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เช่นครั้งที่เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ ข้าวปลาอาหารและน้ำดื่มตกลงทะเล ทำให้ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก หลวงพ่อทวดจึงได้แสดงอภินิหารหย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลายเป็นน้ำจืดและดื่มกินได้ อันเป็นที่มาของสมญา หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

‘ปัตตานี’ เมืองงาม สามวัฒนธรรม

หลวงปู่ทวดมรณภาพที่รัฐเประก์ประเทศมาเลเซีย คือรัฐเปรักเวลานี้ และได้นำสังขารกลับมาที่วัดช้างให้ โดยระหว่างทางต้องตั้งศพพักแรมหลายแห่ง บางแห่งก่อเป็นเจดีย์ไว้ บางแห่งก่อเป็นสถูปไว้เป็นเครื่องสักการบูชา ทำให้สถานที่ตั้งศพระหว่างทางเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงปัจจุบัน

ส่วนสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดที่วัดช้างให้อยู่ด้านหน้าวัด ติดกับทางรถไฟ ชาวปัตตานีเรียกว่า เขื่อนหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เพราะคำว่า เขื่อน เป็นภาษาใต้ แปลว่า สถูปที่บรรจุอัฐิของท่านผู้มีบุญ สถูปแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวปัตตานี มีผู้คนกราบไหว้ไม่ขาดสาย เช่นเดียวกับคนบนบานที่มีอยู่เป็นนิตย์โดยเฉพาะคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือผู้สูญเสียวัตถุสิ่งของ จะมาบนบานเพื่อให้ได้ดั่งหวัง

ส่วนด้านในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ รวมถึงพระพุทธรูปหลวงปู่ทวดขนาดเล็กใหญ่อีกหลายองค์ที่ประชาชนนำมาถวาย ทุกองค์ล้วนมีทองคำเปลวติดแสดงให้เห็นความเสื่อมใส และทุกปีจะมีพิธีสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 แน่นอนว่า พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้อย่างเนืองแน่น

ถัดจากวัดช้างให้ไปเส้นทางจะนำไปสู่วัฒนธรรมสุดท้ายที่ “มัสยิดกลางปัตตานี” มัสยิดที่ถูกกล่าวขานว่า สวยงามที่สุดในประเทศไทย สร้างในปี 2497 หรือเมื่อ 65 ปีมาแล้ว มีสถาปัตยกรรมคล้ายทัชมาฮาลของอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมใหญ่ มีโดมบริวาร 4 ทิศมีหออะซานอยู่สองข้างสูงตระหง่าน ส่วนด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สะท้อนภาพมัสยิดทั้งหลังเป็นภาพสวยงาม

ปัจจุบันมัสยิดกลางปัตตานีเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ คือ การละหมาดวันละ5 เวลา การละหมาดวันศุกร์ และการละหมาดในวันตรุษต่างๆ ดังนั้น แม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ที่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพและสำรวม โดยมัสยิดกลางปัตตานีเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดประจำสัปดาห์

นอกจากปัตตานีจะเป็นเมืองสามวัฒนธรรม ยังเป็น “เมืองงาม” สมชื่อทั้งบ้านเมืองสวยแบบไทย จีน อิสลาม ซึ่งแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์เฉพาะสะท้อนความเชื่อและวิถีชีวิตต่างกัน รวมถึงผู้คนที่มีจิตใจงาม รอยยิ้มหวาน และสายตาเป็นมิตร เปลี่ยนความคิดและทัศนคติจากการได้ยิน สู่ความจริงที่ได้เห็นแต่สันติและสวยงาม