posttoday

For the Love of... ลาเต้อาร์ต

01 กุมภาพันธ์ 2562

ลาเต้อาร์ต (Latte Art) ศิลปะบนโฟมนมในถ้วยกาแฟ แม้จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับรสชาติ

เรื่อง คาเอรุ ภาพ เอเอฟพี, พิกซ์เฮียร์

ลาเต้อาร์ต (Latte Art) ศิลปะบนโฟมนมในถ้วยกาแฟ แม้จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับรสชาติ แต่ทางด้านจิตใจแล้วก็ช่วยเสริมให้กาแฟดูเหมือนจะอร่อยขึ้นราวๆ 20%

ลาเต้อาร์ต เกิดมาจากเทคนิคการรินนมสู่น้ำกาแฟ โดยเล่นกับไมโครโฟมและครีมมาของนมและกาแฟ เพื่อที่จะทำให้เกิดลวดลายขึ้นที่ด้านบนของกาแฟลาเต้ (Caffe Latte) ซึ่งขึ้นอยู่กับฝีไม้ลายมือของบาริสต้าแต่ละคนว่าจะสามารถสร้างสรรค์ให้เป็นลวดลายง่ายยากอย่างไร

แม้ว่ากาแฟลาเต้จะเป็นสูตรกาแฟเอสเปรสโซ่ที่เกิดขึ้นในอิตาลีเอง ทว่า ลาเต้อาร์ตนั้นเกิดขึ้นที่สหรัฐ ในเมืองซีแอตเติล ราวๆ ทศวรรษที่ 1980 โดยได้รับความนิยมขึ้นมาเพราะ เดวิด โชเมอร์ เจ้าของร้านเอสเปรสโซ่ไวเวซ ในซีแอตเติล ซึ่งเป็นคนแรกที่สรา้งลวดลายลงบนกาแฟลาเต้ในปี 1986 และในปี 1989 เขาก็สร้างสรรค์ลวดลายรูปหัวใจลงบนลาเต้อาร์ต เสิร์ฟในร้านของเขาเอง

ในปี 1992 ลวดลายกุหลาบ (Rosetta) ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยเดวิด โชเมอร์ คนเดิม โดยเขาฝึกฝนเทคนิคในการสร้างสรรค์ดอกกุหลาบขึ้นมา หลังจากที่ได้เห็นรูปภาพลาเต้อาร์ตลายนี้จากร้าน คาเฟมาเตกิ ในอิตาลี

ไม่นานนัก เดวิด โชเมอร์ ก็กระพือชื่อเสียงเรื่องลาเต้อาร์ตให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดคอร์ส Caffe Latte Art สอนแบบจริงๆ จังๆ เสียเลย ในเวลาเดียวกัน ลุยจิ ลูปิ จากอิตาลี ติดต่อกับ เดวิด โชเมอร์ ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนวิดีโอที่ต่างฝ่ายต่างพัฒนาลวดลายต่างๆ ของลาเต้อาร์ตด้วย ทำให้เกิดลวดลายหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ กาแฟ รูปสัตว์น่ารัก หรืออื่นๆ

การจะสร้างสรรค์ลาเต้อาร์ตได้ ทุกอย่างจะต้องพร้อม ตั้งแต่เอสเปรสโซ่ช็อตกับครีมมาที่ใช่ และนมกับไมโครโฟมที่พร้อมสำหรับการเทเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดลวดลาย ปัจจุบันมีการเล่นกับอุปกรณ์เช่นแท่งไม้ และไซรัปสีสันต่างๆ เพื่อสร้างลวดลายเพิ่มขึ้นมา และพัฒนาไปถึงการนำคอมพิวเตอร์มาสร้างเป็นรูปภาพบนแก้วกาแฟลาเต้กันแล้ว

เมื่อมีการสร้างสรรค์ก็มีการแข่งขัน ซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ก็คือ ประเภทฟรีแฮนด์ (Free Pouring) กับประเภทพ่วงอุปกรณ์ (Etching) สำหรับประเภทพรินต์แบบฟรีแฮนด์ ลวดลายที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือ ลายหัวใจ (Heart Shape) และลายกุหลาบ (Rosetta) หรือบางคนก็เรียกว่า ลายเฟิร์น โดยลายหัวใจนิยมทำในเครื่องดื่มลาเต้มัคเคียโต ขณะที่กาแฟลาเต้แท้ๆ นั้นนิยมลายเฟิร์นมากกว่า

ในการตัดสินนอกจากจะดูความคมชัดของลายแล้ว ยังดูความละเอียดของการสร้างสรรค์เวฟให้เกิดขึ้นบนท็อปปิ้งของกาแฟลาเต้ ว่ามีความซับซ้อนสวยงามมากขนาดไหน ผู้เข้าแข่งขันหลายคนอาจส่งลายแอดวานซ์ อย่างทิวลิป ลายหงส์ หรือแม้แต่ลายแมงป่องเข้าร่วมประกวดแบบโชว์เหนือก็มี

ขณะที่ ประเภทพ่วงอุปกรณ์ทำได้ตั้งแต่ลายดอกไม้ไปจากถึงลวดลายสัตว์น่ารัก และลายกราฟฟิกต่างๆ โดยการอาศัยแท่งไม้มาวาดให้เกิดลวดลายมักจะทำให้ลาเต้อาร์ตจืดจางเร็วกว่า และคมชัดน้อยกว่าการเทนมและฟองนมให้ไปผสมกับครีมมาของน้ำกาแฟ โดยนอกจากจะนำมาใช้ในการแต่งหน้ากาแฟลาเต้แล้ว บางทีก็นำวิธีนี้มาใช้กับคาปูชิโน ที่มีส่วนประกอบของไมโครโฟม หรือฟองนมมากกว่ากาแฟลาเต้ จึงไม่เหมาะกับการเทแบบฟรีแฮนด์เพื่อสร้างสรรค์ลวดลาย

ลาเต้อาร์ตสวยๆ บอกไปแล้วว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของรสชาติ แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และงานสร้างสรรค์เฉพาะตัวของบาริสต้า ซึ่งบางทีก็มีดราม่าว่า เอาเวลาไปชงกาแฟให้อร่อยดีกว่ามั้ย... เอ้า... ก็ว่ากันไปแล้วแต่มุมมองแล้วกันนาจา...