posttoday

‘ทง ทง ทัวร์’เรื่องเล่ารอบรั้วศาลากลาง (City Renewal 9)

23 ธันวาคม 2561

หลังจากที่กรุงโซลได้เปิดอาคารศาลาว่าการกรุงโซลหลังใหม่ให้บริการประชาชนในปี 2012 อาคารนี้ก็เรียกความสนใจจากผู้คนนับล้านที่ผ่านไปมา

หลังจากที่กรุงโซลได้เปิดอาคารศาลาว่าการกรุงโซลหลังใหม่ให้บริการประชาชนในปี 2012 อาคารนี้ก็เรียกความสนใจจากผู้คนนับล้านที่ผ่านไปมา มองจากภายนอกเป็นรูปทรงป่องๆ เหมือนคนชะโงกหน้า แปลกตาล้ำสมัย ผนวกกับโลเกชั่นใจกลางเมืองจึงเตะตาเตะใจผู้ที่พบเห็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนต่างชาติอย่างเรา แม้นอยากจะเข้าไปดูก็คงลังเลว่าเป็นสถานที่ราชการจะเข้าไปเดินเพ่นพ่าน ดูโน่นนี่ได้อย่างไร ... ทว่า ในที่สุด เราก็สมหวังแม้จะผ่านไปนานหลายปีแล้วก็ตาม เพราะมี “ทง ทง ทัวร์ – 통통 투어” นี่แหละค่ะ

“ทง ทง ทัวร์” เป็นชื่อโปรแกรมทัวร์ที่ศาลาว่าการกรุงโซลได้ออกแบบมาให้บริการแก่ทุกคน ทุกชาติ ทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวเกาหลีเท่านั้น ศาลาว่าการกรุงโซลบอกว่า “กรุงโซล เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้คนทั้งหลายและทั่วโลก และเป็นอยู่อย่างกลมกลืนกับคนทั้งโลก” ตามสโลแกน I·SEOUL·YOU กรุงโซลจึงเป็นของชาวโลกทุกคน ดังนั้น ศาลาว่าการกรุงโซลก็เป็นของชาวโลกด้วย ผู้ที่มีความสงสัยและสนใจอยากจะเข้าไปเยี่ยมชมศาลาว่าการกรุงโซลจึงเพียงแค่ยื่นความจำนง จองเวลาขอเข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ของศาลาว่าการกรุงโซล http://english.visitseoul.net/walking-tour สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาเกาหลีจะมีช่วงบริการ มัคคุเทศก์จิตอาสา เป็นภาษาอังกฤษ จีน หรือญี่ปุ่น เช็กเวลาให้ดีก่อนจองนะคะ นัดวันเวลาได้ก็พากันมาได้เลยค่ะ

‘ทง ทง ทัวร์’เรื่องเล่ารอบรั้วศาลากลาง (City Renewal 9)

“ทง ทง ทัวร์” งดให้บริการทุกวันจันทร์ วันขึ้นปีใหม่ 1 ม.ค.และเทศกาลสำคัญของเกาหลีปีละ 2 เทศกาลเท่านั้น คือ เทศกาลตรุษปีใหม่ “ซอลลาน” แบบโบราณ ราวๆ เดือน ก.พ.และเทศกาลเก็บเกี่ยวไหว้พระจันทร์ ฮันคาวี ที่เรียกว่า “ชูซ่อก” ในราวเดือน ก.ย. ส่วนวันอื่นๆ รวมถึงเสาร์-อาทิตย์ก็ยังสามารถขอเข้าเยี่ยมชมได้ค่ะ...ด้วยเหตุนี้ โชคชะตา จึงนำพาให้เรามาพบกับ “มาดามอี” ผู้เป็นมัคคุเทศก์จิตอาสา วัย 70 ปี ของ ทง ทง ทัวร์ แห่งศาลาว่าการกรุงโซล ... ท่านน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องราวของพื้นที่รอบๆ ศาลาว่าการกรุงโซลดีที่สุด เพราะท่านอยู่อาศัยในบริเวณนี้มาตั้งแต่เกิด ส่วนพี่สาว 2 คนนั้นเกิดที่เมืองแกซองก่อนที่จะโยกย้ายลงมากรุงโซลในช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี คุณพ่อของท่านก็มีที่ทำงานในอาคารตึกเก่าของศาลาว่าการซะด้วย

“มาดามอี” พาเราเดินรอบๆ อาคารใหม่ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนสำนักงานหน่วยงานราชการต่างๆ ของศาลาว่าการกรุงโซล ส่วนนี้เป็นส่วนปิดไม่อนุญาตให้เข้าชมเนื่องจากจะเป็นการรบกวนเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ ส่วนที่เปิดให้ชมส่วนแรก คือ พื้นที่สาธารณะที่ให้ประชาชนเข้ามานั่งพักผ่อนตามอัธยาศัย จะทำงานส่วนตัว นัดพบปะพูดคุยเรื่องธุรกิจ หรือใช้เป็น Co-Working Space ก็ได้ตามสะดวก ส่วนนี้กระจายอยู่หลายชั้น เช่น ชั้นบนสุดเป็นสวนบนหลังคาที่อยู่นอกอาคาร ปลูกต้นไม้ลอยฟ้า จัดสวนมีที่นั่งเล่นพักผ่อนรับแดดในฤดูหนาว ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงโซลจากด้านหน้าศาลาว่าการกรุงโซลได้ เป็น
โอเอซิสเล็กๆ เก๋ไก๋ในเมือง “มาดามอี” พาเราเดินรอบๆ และชี้ชวนให้ดูอาคารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ... และเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยอ่านพบที่ไหนก็พรั่งพรูออกมา

‘ทง ทง ทัวร์’เรื่องเล่ารอบรั้วศาลากลาง (City Renewal 9)

ก่อนหน้าที่จักรพรรดิเกาหลีจะถูกบังคับให้ยอมรับสภาพในสนธิสัญญาขออยู่ภายใต้การคุ้มครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น บริเวณใจกลางกรุงโซลตรงที่ตั้งศาลาว่าการกรุงโซลปัจจุบันนี้ ถือเป็น “ทำเลทอง” ที่ชาวต่างชาติต่างต้องการครอบครองเพราะอยู่ติดกับพระราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมการปกครองของอาณาจักรโชซอนในเวลานั้น ประเทศต่างๆ ที่มีการค้าหรือต้องแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในเกาหลีที่แฝงมากับการเผยแพร่ศาสนาในทำนองเดียวกับประเทศนักล่าอาณานิคมในเอเชีย รวมทั้งมหาอำนาจสองขั้วหลักๆ ในเวลานั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ก็พากันจับจองซื้อที่ดินในบริเวณรอบๆ พระราชวังจัดตั้งสำนักงานการค้า หรือสถานกงสุลของตน... จนเมื่อญี่ปุ่นเข้าครอบครองเกาหลี ก็เหมือนเสียกรุง บ้านเมืองตกไปเป็นของคนอื่น ประเทศใดที่มีอำนาจต่อรองในที่ดินของตน ก็ยังคงรักษาไว้ได้ ประเทศใดมีกำลังน้อยก็ต้องถอนตัวออกจากเกาหลีไป

จากหน้าต่างกระจกปีกซ้ายในอาคาร “มาดามอี” ชี้ให้ดูกลุ่มตึกระฟ้าบริเวณหนึ่งไกลออกไปไม่มาก พลางเล่าว่า เมื่อเกาหลี หลุดพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นและสงครามแบ่งแยกเกาหลีแล้ว มีประเทศหนึ่งก็กลับมาชี้ว่า “ที่ดินตรงนี้เคยเป็นของประเทศฉัน และเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีจ่ายเงินค่าซื้อที่ดินคืนให้” ทั้งๆ ที่ ที่ดินที่ตนซื้อมาจากอาณาจักรโชซอนก็ล่มสลายไปแล้ว กรรมสิทธิ์ที่ดินก็ถูกล้างไพ่โดยญี่ปุ่นไปรอบหนึ่งแล้ว ...ในที่สุด รัฐบาลเกาหลีไม่อาจต้านทานอำนาจของประเทศนั้นก็จำต้องจ่ายเงินค่าที่ดินให้ประเทศนั้นซึ่งเรียกร้อง “ในราคาตลาดปัจจุบัน” กล่าวคือ ตอนซื้อในอดีต เช่น ปี 1895 อาจซื้อมาแค่ พยอง ละ 10 วอน (หน่วยวัดที่ดิน 1 พยอง เท่ากับ 3.3 ตารางเมตร) เมื่อมาเรียกร้องค่าที่ดินร้อยปีให้หลัง ใช้ราคาปัจจุบันเป็นเงินหลายหมื่นล้านวอน...ฟังแล้วก็อึ้งเหมือนกัน...

โชคดีที่ไม่มีรัฐบาลต่างชาติหัวใสรายไหนมาเรียกร้องที่ดินในประเทศเราว่าซื้อมาก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา แล้วขอเงินในราคาปัจจุบันคืน !!!