posttoday

ปะเหลียน ป่ะล่ะ? เที่ยว 3 ชุมชนลุ่มแม่น้ำที่ยังไม่มีใครไปถึง

01 ธันวาคม 2561

คนมาเที่ยวตรังจะมุ่งหน้าไปทะเลอันดามัน จนทำให้ชื่อของ “ลุ่มแม่น้ำปะเหลียน”

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ 

คนมาเที่ยวตรังจะมุ่งหน้าไปทะเลอันดามัน จนทำให้ชื่อของ “ลุ่มแม่น้ำปะเหลียน” ไม่ถูกพูดถึง

ลุ่มแม่น้ำปะเหลียนมีชุมชนริมน้ำตั้งอยู่ 3 แห่ง คือ บ้านแหลม ต.วังวน บ้านหินคอกควาย ต.บ้านนา และบ้านทุ่งตาเซะ ต.ทุ่งกระบือ มีความน่าสนใจตรงที่ทั้ง 3 ชุมชนมี “ต้นทุนแหล่งท่องเที่ยว” แตกต่างกัน โดยช่วงปีที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกับทีมวิจัย “โครงการการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน” จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมมือกันจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างมูลค่าแหล่งท่องเที่ยว

ฟ้าพิไล ทวีสินโสภา อาจารย์สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง หนึ่งในทีมวิจัย เล่าว่า เส้นทางชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียนมีต้นทุนเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวบนบกและทางน้ำ รวมถึงทรัพยากรอย่างธรรมชาติและสัตว์น้ำ แต่ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์และการจัดการ

งานวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นเพราะต้องการนำทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วในชุมชน ซึ่งผ่านการประเมินแล้วว่ามีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวมาจัดทำแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดมูลค่าเพิ่มและมีความยั่งยืนไปพร้อมกัน นำไปสู่การจัดทำโปรแกรมนำเที่ยวแบบครึ่งวันและแบบเต็มวัน โชว์จุดขายที่เป็นไฮไลต์ของชุมชน

บ้านแหลม อันซีนหอไหร

ปะเหลียน ป่ะล่ะ? เที่ยว 3 ชุมชนลุ่มแม่น้ำที่ยังไม่มีใครไปถึง

จุดเด่นของบ้านแหลมคือ ความหลากหลายของธรรมชาติที่นำมาร้อยเรียงผูกโยงกับตำนาน อย่าง หัวแหลม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ต.วังวน มีลักษณะเป็นปลายแหลมยื่นออกไปในทะเล มองเห็นน้ำวนที่เกิดจากแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ คลองทุ่งค่าย คลองย่านตาขาว และคลองปะเหลียน ไหลวนมารวมกัน

คนในชุมชนเชื่อว่า ในน้ำวนนี้มีสัตว์น้ำจึงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเพราะความสมบูรณ์ชาวบ้านจึงใช้ผืนน้ำเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และทำกระชังปลา โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อหอยนางรม แล้วกะเทาะกินกันสดๆ กับน้ำจิ้มซีฟู้ดได้เลย

นอกจากนี้ หัวแหลมยังเป็นที่ตั้งของ ศาลเพียงตาทวดทูเชน บุคคลที่ชาววังวนเคารพนับถือมากที่สุด โดยมีความเชื่อว่า หากเรือแล่นผ่านศาลทวดทูเชนจะต้องเคารพสักการะด้วยการตีกลองร้องเป่าให้เกิดเสียงดัง ถ้าเป็นเรือมโนราห์ผ่านจะต้องทำการแสดงและจัดให้มีการร้องเพลงตีกลอง

ก่อนฤดูออกทะเลก็จะต้องมาสักการะเพื่อให้ทวดทูเชนคุ้มครอง และทางด้านหลังศาลมีต้นประดู่ต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขา อายุมากกว่า 50 ปี มีกิ่งก้านระโยงระยางคล้ายเกลียวคลื่นกลายเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ชาวบ้าน

อีกเกาะชื่อ เกาะเหลาตำ มีพื้นที่ขนาด 800 ไร่ ด้านนอกล้อมรอบด้วยป่าชายเลน 750 ไร่ ลึกเข้าไปชั้นที่สองเป็นหาดทราย ชั้นที่สามเป็นป่าชายเลนและหาดทราย และชั้นที่สี่เป็นป่าบก 50 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นต้นกำชำหรือต้นมะหวดที่ขึ้นตามธรรมชาติ ผสมกับต้นสนที่ชาวบ้านปลูกไว้

นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์ได้ รวมทั้งยังเป็นจุดส่องนกเหยี่ยวแดง นกรุ้ง นกฉิ่ง นกขมิ้น นกแซงแซว และยังเป็นเขตอนุรักษ์ปูดำ มีเรื่องเล่าในพื้นที่ว่า เกาะเหลาตำเป็นเกาะฝังศพคนเรือ ดูได้จากพื้นที่ที่มีเสากระโดงเรือปักอยู่ตามพื้นดิน จึงสันนิษฐานว่าเป็นหลุมฝังศพที่ระลึกถึงคนตาย

เมืองตรังค้นพบสันหลังมังกร 6 แห่ง เรียกว่ามีมังกร 6 ตัว ซึ่งในบ้านแหลมก็ไม่น้อยหน้ามี สันหลังลูกมังกร ลักษณะเป็นสันดอนหาดทรายที่ปรากฏตัวขึ้นยามน้ำลง สามารถลงเดินได้ตลอดแนว แต่ที่ไม่ต้องรอน้ำลดก็ไปเดินย่ำทรายคือ เกาะหอไหร หรือ เกาะหอไร้ เป็นเกาะกลางทะเล ลักษณะเป็นหาดทรายมีต้นโกงกางอยู่ประปราย ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งเก็บหอยตลับ ภาษาถิ่นเรียกว่า หอยปะ ซึ่งเป็นหอยที่มีมากในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน

นอกจากหอยตลับ เกาะหอไหรยังเป็นถิ่นอาศัยของปูก้ามดาบจำนวนมหาศาล ตามพื้นทรายจะเห็นรูเล็กๆ หากมองจากระยะไกลจะเห็นก้ามใหญ่ๆ ของมันชูอวดอยู่เต็มหาด แต่ถ้าเดินเข้าใกล้พวกมันจะหายลงรูในพริบตา

ขณะเดียวกัน นักวิจัยยังใช้เกาะหอไหรเป็นจุดศูนย์กลางในการทำงานท่องเที่ยวแบบบูรณาการ 3 ชุมชน เพราะเป็นฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และมีการใช้พื้นที่ร่วมกันของชาวบ้าน

“เราพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากกว่าด้านศิลปวัฒนธรรม ทำให้เกาะหอไหรและสันหลังลูกมังกรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในระดับดีของชุมชนบ้านแหลม โดยแต่ละแห่งจะมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวันที่แตกต่างกัน เช่น เกาะหอไหรรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุด 100 คน/วัน หรือเกาะเหลาตำรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละ 375 คน” ฟ้าพิไล กล่าว

บ้านหินคอกควายชุมชนสามวัฒนธรรม

ปะเหลียน ป่ะล่ะ? เที่ยว 3 ชุมชนลุ่มแม่น้ำที่ยังไม่มีใครไปถึง

จากบ้านแหลมสามารถนั่งเรือลำเดิมไปเที่ยวเชื่อมโยงได้ที่บ้านหินคอกควาย ชุมชนทำประมงและทำสวนยางพารา มีประชากรประมาณ 1,300 คน ประกอบด้วย 3 วัฒนธรรม คือ ไทย-พุทธ ไทย-มุสลิม และไทย-จีน จนถูกขนานนามว่า ชุมชนมนตราแห่งลุ่มน้ำปะเหลียน

ทางเข้าน่านน้ำของหมู่บ้านมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันเป็นที่มาของชื่อ บ้านหินคอกควาย คือ พบก้อนหินที่ล้อมเป็นวงกลมคล้ายกับคอกสัตว์ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในอดีตชาวบ้านจะนำควายไปปล่อยไว้กลายเป็นชื่อบ้านหินคอกควาย

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ ศาลเจ้าพระร้อยแปดร้อยเก้า สร้างขึ้นโดยชาวจีนไหหลำ เป็นที่ตั้งขององค์ยี่ก๋งดั๋ว พระพุทธรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมกลายเป็นศูนย์รวมใจของทุกคน

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีแผนพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านหินคอกควาย ลักษณะเป็นทางเดินศึกษาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเลียบชายทะเล เป็นเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้วแต่รกร้างไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของบประมาณมาพัฒนาให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้บ้านหินคอกควายมีจุดเด่นด้านธรรมชาติ เสริมทัพกับเรื่องวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว

บ้านทุ่งตาเซะ เล่นน้ำตกรสเค็ม

ปะเหลียน ป่ะล่ะ? เที่ยว 3 ชุมชนลุ่มแม่น้ำที่ยังไม่มีใครไปถึง

บ้านตาเซะเป็นชุมชนขนาดเล็กจำนวน 65 ครัวเรือน แต่อุดมไปด้วยป่าชายเลนมากถึง2,000 ไร่ มีแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์อยู่ที่ น้ำตกน้ำเค็ม น้ำตกกลางป่าชายเลนมีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ลักษณะเป็นน้ำเค็มจากคลองทุ่งค่ายไหลลงสู่แม่น้ำปะเหลียนและทะเลอันดามัน มีหน้าผาสูง 5 เมตร กว้าง 30 เมตร กลายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงาม

“ตอนนี้เราสามารถจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบครึ่งวันและเต็มวัน โดยที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ เช่น เกาะหอไหร น้ำตกน้ำเค็ม และหินคอกควาย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การเก็บหอย เยี่ยมชมกระชังเลี้ยงปลาและหอยของชุมชน และการไปรู้จักกับงานหัตถศิลป์และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

จากการได้ทดลองจัดกิจกรรมเหล่านี้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับสูง โดยสิ่งที่นักท่องเที่ยวคิดว่าเป็นจุดขายสำคัญ คือการชมและฝึกหัดทำศิลปหัตถกรรมการฉีกใบจากแบบปากกัดตีนถีบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน และเป็นการท่องเที่ยวที่หลากหลายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ฟ้าพิไล เพิ่มเติม

บ้านนายอดทอง ลองทำติหมา

ปะเหลียน ป่ะล่ะ? เที่ยว 3 ชุมชนลุ่มแม่น้ำที่ยังไม่มีใครไปถึง

การชมและฝึกหัดทำศิลปหัตถกรรมที่กล่าวถึงอยู่ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจาก บ้านนายอดทอง ต.วังวน แหล่งผลิต “ติหมา” หรือภาชนะที่ทำจากก้านใบจากเหลือทิ้ง

จากโจทย์ปัญหาของชาวบ้านที่ไม่สามารถผลิตติหมาได้เพียงพอความต้องการของตลาด ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้กลุ่มวิสาหกิจประสบปัญหา

“ติหมาเป็นภูมิปัญญาจักสานของคนภาคใต้ที่นำส่วนยอดของใบจากอ่อน ซึ่งเป็นส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการทำใบจากนำมาสานใช้แทนแก้วน้ำ กระบวยตักน้ำได้ ปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ชาวบ้านไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทัน เนื่องจากใบจากที่นำมาเป็นวัตถุดิบนั้นต้องแห้งแล้วเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ทางชุมชนใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคือการตากแดด หากแดดอ่อนหรือต้องใช้เวลามากกว่า 1 วันจะเกิดปัญหาสีผิดเพี้ยนไป” ผศ.นพดล โพชกำเหนิด อาจารย์ประจำภาควิชาคณะศิลปศาสตร์ มทร. ศรีวิชัย กล่าว

จากโจทย์ดังกล่าว ผศ.นพดล ได้ทำโครงการวิจัยการพัฒนาตู้อบแสงอาทิตย์ จนสามารถสร้างตู้อบใบจากให้แห้งภายในเวลา 3 ชั่วโมง ทำให้ผลิตใบจากแห้งได้เฉลี่ย 2,000-3,000 ใบ/รอบ สามารถนำไปผลิตเป็นติหมาได้ครั้งละ 100-200 ใบ ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อตลาด และยังช่วยแก้ปัญหาการผลิตได้ดีในหน้าฝน

ส่วนนักท่องเที่ยวสามารถลองทำติหมาได้ด้วยตัวเองที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกกว่า 100 ครัวเรือน

การต่อยอดต้นทุนแหล่งท่องเที่ยวจาก 3 ชุมชน 3 ตำบลแห่งลุ่มน้ำปะเหลียน กำลังก้าวสู่ปีที่ 2 ซึ่งปี 2562 จะเน้นไปที่การสร้างความพร้อมของชุมชน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 3 แห่ง กรมเจ้าท่า ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น

การท่องเที่ยวในชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียนเพิ่งเปิดเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันพร้อมรับนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มตั้งแต่ 12 คนขึ้นไป สามารถติดต่อได้ที่ มล ณะสม ชาวบ้านแหลม โทร. 08-7284-8429