posttoday

Mensooree Okinawa (5)

28 ตุลาคม 2561

หลายตอนที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่าอาณาจักรริวกิวกันบ่อยๆ ฉบับนี้ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับคำว่า ริวกิว

หลายตอนที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่าอาณาจักรริวกิวกันบ่อยๆ ฉบับนี้ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับคำว่า ริวกิว ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการไปเยือนสถานที่สำคัญและสิ่งของ ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของอาณาจักรริวกิวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากพูดถึงโอกินาวาแล้ว หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญ อันเปรียบเสมือนตัวแทนและความภาคภูมิใจของอาณาจักรริวกิวที่ทุกคนยอมรับก็คือ ปราสาทชูริ (Shuri Castle) ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1300 ชื่อของปราสาทแห่งนี้มาจากคำว่า Shuri ที่เป็นชื่อเมืองหลวงในอดีตของอาณาจักรริวกิว ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองนาฮา ปราสาทชูริเป็นทั้งที่ประทับของกษัตริย์และศูนย์กลางการบริหาร มีบทบาทสำคัญทางการเมืองเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองของหมู่เกาะโอกินาวา การทูต การต่างประเทศ และศิลปวัฒนธรรม ไว้ในที่เดียว ปราสาทแห่งนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้หลายครั้ง แต่ครั้งที่เสียหายมากที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1945 จากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 Battle of Okinawa (ยุทธการโอกินาวา) เป็นการสู้รบบนหมู่เกาะริวกิว ซึ่งเป็นสงครามสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นแปซิฟิก อเมริกาวางแผนใช้โอกินาวาเป็นฐานบินสำหรับปฏิบัติการบุกแผ่นดินใหญ่ในญี่ปุ่น ปราสาทชูริได้ผลกระทบจากการสู้รบครั้งนั้นและทำให้ตัวอาคารเสียหายทั้งหมด เหลือเพียงเศษซากกำแพงหินเท่านั้น ตัวอาคารที่เห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อย่างงดงามในปี ค.ศ. 1992 และต่อมาปราสาทแห่งนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ในฐานะปราสาทของราชอาณาจักรริวกิว

Mensooree Okinawa (5)

ย้อนเวลากลับไปอีกหน่อย ในช่วงปี ค.ศ. 1429 ฮะชิฮะชิผู้รวบรวมหมู่เกาะโอกินาวาให้เป็นปึกแผ่น ได้ก่อตั้ง ราชวงศ์โช ขึ้นเป็นราชวงศ์แรก คำว่า “โช” นั้น เป็นชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงของประเทศจีน จึงได้สถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรริวกิวพระนามว่า พระเจ้าโชฮะชิ อันเป็นจุดเริ่มแรกของอาณาจักรริวกิว หรือ ลูจูคุคุ ในภาษาถิ่นโอกินาวา ที่สมัยนั้นเป็นเอกเทศไม่ขึ้นตรงกับชาติใด มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองชูริในเกาะโอกินาวา และมีอาณาเขตครอบคลุมเกาะอื่นในบริเวณใกล้เคียง มีการใช้ภาษาอุจินากุจิเป็นภาษาพูดของตัวเอง แต่ใช้อักษรจีนในการจดบันทึกเนื่องจากได้รับอิทธิพลด้านต่างๆ จากประเทศจีนซึ่งเป็นชาติคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของริวกิวในยุคนั้น รวมทั้งยังมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนด้วยระบบจิ้มก้อง โดยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้จักรพรรดิจีนเพื่อแสดงไมตรีจิต เหมือนกับประเทศไทยของเราในสมัยอโยธยา นอกจากด้านภาษาแล้วริวกิวยังรับอิทธิพลอื่นมาจากจีน ทั้งการแต่งกายรวมถึงสถาปัตยกรรม เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ปราสาทชูริมีกลิ่นอายของจีน แตกต่างจากปราสาทบนแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นทั้งหมด

Mensooree Okinawa (5)

พระเจ้าโชฮะชิได้ทรงนำระบบราชสำนักแบบมีลำดับศักดิ์จากจีนมาใช้ และทรงรับสั่งให้ก่อสร้างปราสาทชูริขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์และบรรดาเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ มีชื่อเรียกว่า โอะอุชิบะระ ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเรียกว่า คิโยะโนะอุชิ และส่วนที่สาม เป็นลานกว้างเรียกว่า อุนะ มีอาคารรายล้อมอยู่ทั้งสามด้าน ประกอบด้วย หอด้านเหนือ หอด้านใต้ เซอิเด็น และประตูโฮชิน หอทั้งสองด้านเป็นส่วนที่ใช้ในการบริหารราชการและต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เช่น คณะทูตจากประเทศจีนหรือญี่ปุ่น แต่สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาวาที่ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราที่สุด ก็คือ เซอิเด็น ซึ่งใช้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปกครองอาณาจักรรวมถึงพิธีการต่างๆ จะถูกจัดขึ้นที่นี่ ในปัจจุบันนี้ภายในอาคารหอด้านเหนือและใต้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาณาจักรริวกิว และความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและจีน ส่วนเซอิเด็นก็ได้รับการบูรณะตกแต่งแบบดั้งเดิมทุกอย่าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ในปราสาทก็จะแต่งกายด้วยชุดของอาณาจักรริวกิวแบบดั้งเดิมเช่นกัน

Mensooree Okinawa (5)

เดินเล่นกันจนหนำใจได้ชมปราสาทกันจนทั่วแล้ว ก็นั่งรถออกมาราว 5 นาที ถึงยังร้าน Shuri Ryusen เป็นร้านผ้าบิงงาตะสมัยใหม่ ที่สืบสานและปรับปรุงผ้าบิงงาตะซึ่งเป็นศิลปหัตถกรรมของราชวงศ์ริวกิวให้กลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน เป็นร้านที่มีชื่อเสียงที่สุดของโอกินาวา เดิมเป็นบ้านที่เปิดเป็นร้านขายผ้าบิงงาตะโดยท่านอาจารย์ Koto Yamaoka ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำผ้าบิงงาตะ และภายหลังได้เพิ่มส่วนของพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานผ้าบิงงาตะเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำผ้าบิงงาตะของอาณาจักรริวกิวโบราณ สมัยก่อนผ้าบิงงาตะเป็นที่รู้จักกันในฐานะผ้าเขียนลายงานหัตถกรรมพื้นบ้านอันเป็นสัญลักษณ์แห่งริวกิว และถูกจำกัดไว้สำหรับพระราชวงศ์สวมใส่เท่านั้น หรือถ้าจะมีกรณีพิเศษอย่างเช่น ใช้ตัดเป็นชุดสำหรับฟ้อนรำเพื่อต้อนรับราชทูตจีน ก็ต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ และในส่วนของสามัญชนจะได้รับการอนุญาตให้สวมบิงงาตะเฉพาะในโอกาสพิเศษที่ประกาศโดยราชสำนักเท่านั้น ลวดลายดั้งเดิมของผ้าบิงงาตะมีประมาณ 20 แบบ การเลือกใช้ลวดลายหรือสีผ้าก็ขึ้นอยู่กับชนชั้นทางสังคมเช่น บิงงาตะสีเหลืองสำหรับสุภาพสตรีในงานราชพิธีเท่านั้น ส่วนสีฟ้าและอาซาจิใช้กับเสื้อผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ลายผ้าอย่าง มังกรหรือนกฟีนิกซ์ ที่เรียกกันว่าลายผ้าใหญ่ จะใช้สำหรับสมาชิกในราชวงศ์เท่านั้น ยิ่งขนาดของลายใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ก็หมายความว่าลำดับชั้นยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น และเมื่อเริ่มแก่ชราลงก็จะลดขนาดของลายผ้าให้เล็กลง หรืออีกนัยหนึ่ง บิงงาตะ คือเครื่องแสดงลำดับชั้นในสมัยนั้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ส่วนใหญ่และกระดาษลวดลายดั้งเดิมได้ถูกเผาทำลายลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยความโชคดีที่เหล่าศิลปินย้อมผ้าของโอกินาวา ที่เรียกกันว่า บิงงาตะซูเกะ ให้ความสำคัญและพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรักษาและสืบทอดงานหัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นนี้เอาไว้ แม้ว่าหลังสงครามจะมีการขาดแคลนวัสดุ แต่เสน่ห์ของบิงงาตะก็ยังไม่เสื่อมคลาย บิงงาตะซูเกะยังคงรักษาภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าชิ้นนี้ไว้ และผลิตผลงานคุณภาพอย่างต่อเนื่องให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันต่อไป

Mensooree Okinawa (5)