posttoday

‘บ้านศาลาดิน’ สร้างสุขสู่ชุมชนด้วยนวัตวิถี

06 ตุลาคม 2561

นาทีนี้ใครๆ ก็เริ่มรู้จัก “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี”

นาทีนี้ใครๆ ก็เริ่มรู้จัก “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ที่ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้งบประมาณโครงการไทยนิยมยั่งยืนกันมากขึ้น นั่นเพราะการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกันถึง 3,273 ชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ ด้วยการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และดึงเสน่ห์วิถีชีวิตมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำพาไปสู่การสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนนั่นเอง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2546 คงต้องยอมรับว่า OTOP หรือโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก สินค้า OTOP ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบที่หลากหลายด้วยการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น และด้วยความเชื่อว่าเอกลักษณ์และเสน่ห์ของวิถีชีวิตไทย สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นมูลค่าได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเกิดเป็นโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ขึ้น โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยนวัตกรรม บวกกับการส่งเสริมการรักษาอัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่อย่างมีคุณค่า

หนึ่งในชุมชนที่มีการพัฒนาเป็นไปตามแนวทางของ OTOP นวัตวิถี ได้อย่างโดดเด่นจนได้รับคัดเลือกให้เป็น “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีต้นแบบ” ซึ่งมีทั้งหมด 50 ชุมชน นั่นคือ “บ้านศาลาดิน” ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

คลองมหาสวัสดิ์เป็นคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อขุดคลองเสร็จ มีการสร้างศาลาริมคลองไว้ 7 ศาลา หนึ่งในนั้นมีชื่อว่า “ศาลาดิน” จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านทุกวันนี้ และการท่องเที่ยวโดยชุมชนของที่นี่เริ่มจาก กิจกรรมล่องเรือชมสวน

‘บ้านศาลาดิน’ สร้างสุขสู่ชุมชนด้วยนวัตวิถี

บริเวณจุดขึ้นลงเรือของกิจกรรมล่องเรือ หากเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จะมีตลาดนัดขายสินค้า OTOP และสินค้าพื้นเมืองหลากชนิด ทำให้กลายเป็นหนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยม ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย

การล่องเรือชมวิถีชีวิตคนริมคลอง ชมนาบัว และสวนกล้วยไม้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนบ้านศาลาดิน เพราะจะได้เพลิดเพลินกับทัศนียภาพสองฝั่งคลอง และจุดแวะจุดแรกก็คือ “นาบัว”

คนที่นี่เล่าให้ฟังว่า “นาบัว” เป็นอาชีพที่ทำกันมานานแล้ว และจุดเด่นของกิจกรรมนี้ก็คือ สามารถทดลองเก็บบัวด้วยตัวเอง และนอกจากจะได้เห็นบรรยากาศอันงดงามแล้ว ยังได้ความรู้ควบคู่กันไปด้วย เพราะว่าคนที่คอยดูแลนักท่องเที่ยว จะเป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์โดยตรงกับอาชีพและวิถีชีวิตของคนที่นี่ นอกจากจะได้รู้กรรมวิธีการทำนาบัวแล้ว เราจึงได้รู้อีกว่าหน้าร้อนดอกบัวจะดกมาก ทำให้ขายได้ราคาต่ำกว่าในช่วงหน้าฝนซึ่งบัวจะเสียหายมากและมีผลผลิตน้อยจึงขายได้ราคาดีกว่าช่วงหน้าร้อน

ต่อจาก “นาบัว” จุดแวะต่อไปคือ “บ้านฟักข้าว” ซี่งมีจุดเด่นอยู่ 2 เรื่องคือ ฟัง “แหล่ฟักข้าว” กับเจ้าของบ้าน และ “ชิมฟักข้าว” กันแบบสดๆ แน่นอนว่าผลสีส้มแสดตรงหน้าใครเห็นก็ต้องอยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ที่สำคัญเจ้าฟักข้าวที่ว่านี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำฟักข้าว สบู่ฟักข้าว หรือแม้กระทั่ง ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟน้ำฟักข้าวได้อีกด้วย

‘บ้านศาลาดิน’ สร้างสุขสู่ชุมชนด้วยนวัตวิถี

แม้ว่าจะเป็นธุรกิจหลักของเจ้าบ้าน แต่ดูเหมือนว่าที่บ้านฟักข้าวแห่งนี้พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ทุกคนที่สนใจ หรืออยากนำไปลองทำที่บ้าน ด้วยความเชื่อเรื่องการแบ่งปัน มากกว่าการแข่งขันซึ่งเป็นเรื่องที่มักจะพบเห็นได้จากชุมชนท่องเที่ยวที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาพัฒนาชุมชนของตนเอง นั่นก็เพราะว่าเขาเรียนรู้จากที่อื่นมาพัฒนาตนเอง จึงพร้อมจะแบ่งปันสิ่งที่เคยได้รับให้แก่คนอื่นๆ เช่นกัน ใครได้มาเยี่ยมเยือนจึงมักจะพกพาเอาความอิ่มเอมใจกับประสบการณ์เหล่านี้กลับไปนั่นเอง

หลังจากได้เรียนรู้ประสบการณ์จาก “บ้านศาลาดิน” ทำให้เราค้นพบว่า ความพิเศษของกิจกรรมในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี คืออัตลักษณ์หรือเรื่องราวเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน แม้จะคล้ายกันแต่ไม่มีที่ไหนเหมือนกัน เพราะกิจกรรมและสินค้าต่างๆ เกิดขึ้นจากการผสมผสานด้วยการนำทรัพยากรและวิถีชีวิตที่มีอยู่เดิมของผู้คนมาสร้างสรรค์เป็นประสบการณ์ให้แก่ผู้มาเยือน

‘บ้านศาลาดิน’ สร้างสุขสู่ชุมชนด้วยนวัตวิถี

ตัวอย่างที่บ้านศาลาดิน นอกจากจะได้เรียนรู้วิถีเกษตร กิจกรรมทางน้ำ และเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ OTOP แล้ว ยังมีการนำชมสวนกล้วยไม้ อีกหนึ่งอาชีพของคนที่นี่ และเช่นเคยแม้ว่ากล้วยไม้ที่นี่จะไม่ได้สวยงามหรือพิเศษกว่าที่อื่นๆ แต่กลับมีคนมาเยี่ยมชมอยู่ไม่ขาด นั่นเพราะส่วนหนึ่งอาจเป็นด้วยอัธยาศัยไมตรีของเจ้าบ้านที่แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พร้อมจะเปิดบ้านต้อนรับอย่างยินดี

กิจกรรมปิดท้ายที่ใครต่อใครพากันมาลองแล้วต้องติดใจ นั่นคือการนั่งรถอีแต๋นเที่ยวชมสวนผลไม้ นอกจากเจ้าของสวนจะสร้างความเพลิดเพลินด้วยลีลาการขับรถอีแต๋นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังให้ความรู้แก่ผู้มาเยือนอีกด้วย เช่นว่า ในสวนผลไม้ไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่างที่กินผลได้ มีการปลูกต้นทองหลางไว้บังร่มให้ต้นส้ม เพราะต้นทองหลางเป็นไม้ใหญ่เจอน้ำท่วมก็ไม่ตายอีกต่างหาก

หลังจากนั้นก็ได้เวลานั่งชิลชิมผลไม้สดๆ จากสวน พูดคุยกันแบบกันเอง แม้ว่าผลไม้ต่างๆ จะหาซื้อได้ตามตลาดทั่วไป แต่ประสบการณ์และความรู้สึกที่ได้รับนั้น ต้องบอกว่าพิเศษแบบหาที่ไหนไม่ได้แน่นอน ยิ่งได้รู้ว่า “บ้านศาลาดิน” เป็น 1 ใน 50 “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีต้นแบบ” ของกรมการพัฒนาชุมชนด้วยแล้ว ทำให้นึกอยากไปเยี่ยมชุมชนอื่นๆ ขึ้นมาเลยทีเดียว

‘บ้านศาลาดิน’ สร้างสุขสู่ชุมชนด้วยนวัตวิถี

แฟนรายการโลก 360 องศา อย่าลืมติดตามชมจุดหมายใหม่ในสัปดาห์หน้า หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของรายการโลก 360 องศา ชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube Chanel และพบกับรายการโลก 360 องศา ได้ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 HD ทุกเช้าวันอาทิตย์ เวลา 08.00-08.30 น.