posttoday

เพชรเม็ดงาม ที่‘ปลายด้ามขวาน’

22 กันยายน 2561

นับแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ
 
นับแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และตามด้วยเหตุปะทะที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ในปี 2547 เรื่อยมาจนปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 15 ปี ที่เรายังคงได้รับข่าวสารสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส อย่างต่อเนื่อง 
 
แม้จะได้มีความพยายามทุ่มเททรัพยากรทั้งด้านงบประมาณ และบุคลากรด้านความมั่นคงลงไปจำนวนมาก แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถคืนความสงบให้กับพื้นที่ 3 จังหวัด
 
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข่าวคราวความไม่สงบดังกล่าว ได้นำพื้นที่และชาว 3 จังหวัดชายแดนออกไปไกลจากคนไทย คนจำนวนมากมองว่าปัตตานี ยะลา นราธิวาสเป็นพื้นที่อันตราย โดยไม่รู้เลยว่าความรู้สึกที่ห่างไกลและหวาดกลัวดังกล่าวได้บดบังสิ่งดีงามมากมายที่ซ่อนตัวที่สุดปลายด้ามขวานนั่น
 
ในช่วงเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้นำสื่อมวลชนคณะเล็กๆ เดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้เขียนมีโอกาสร่วมคณะไปด้วย ซึ่งก่อนเดินทางไปต้องยอมรับว่ามีทัศนะที่ไม่ต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ เพราะติดตามข่าวสารในพื้นที่ผ่านสื่อต่างๆ และไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ที่ดีมากนัก  แต่การไปสัมผัสบรรยากาศ พูดคุย เห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างไปของทั้งวัฒนธรรม ศาสนาและผู้คนที่นี่แล้ว ได้ทำให้ทัศนะที่เปลี่ยนไปอย่างมาก  และตั้งใจแล้วว่าจะต้องหาโอกาสไปอีกแน่ทีเดียว
 
“ยะลา ทุเรียนซิตี้” ที่ อ.บันนังสตา
 

เพชรเม็ดงาม ที่‘ปลายด้ามขวาน’

 
วันที่คณะเราเดินทางไปถึงนั้นตรงกับวันศุกร์ ซึ่งก็เป็นความรู้ใหม่ของเราอีกเช่นกันว่า ปกติวันศุกร์จะเป็นวันละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์ของชาวมุสลิม บรรยากาศตลอดสองข้างทางตั้งแต่สนามบินนราธิวาสออกไปถึงจุดที่จะไปดูงานที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงดูคึกคักเป็นพิเศษ
 
เราได้รับการบอกเล่าก่อนจะลงพื้นที่ครั้งนี้ว่าโครงการที่ทางคณะไปติดตามนี้ เป็นความต่อเนื่องของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระยะที่ 1 ปี 2559-2563 ซึ่งในระยะแรกของการดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ 3 จังหวัด ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปี 2559-2560 ได้เน้นไปที่การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายหลักคือการเรียกความศรัทธาและดึงคนในพื้นที่เข้ามาร่วมงานพัฒนา
 
โครงการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ เป็นการขยายผลไปสู่การเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนต่างๆ นั่นคือ โครงการ “ยะลา ทุเรียนซิตี้” ที่ อ.บันนังสตา โครงการนี้เกิดขึ้นจากการหยิบยกศักยภาพของพื้นที่ขึ้นมาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่ จ.ยะลา ซึ่งมีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ อาชีพหลักของคนที่นี่คือการทำเกษตร ปลูกพืชไม้ผลและหนึ่งในพืชที่มีการปลูกมากที่สุดคือ ทุเรียน แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ทุเรียนที่ยะลาจะเป็นการปลูกลักษณะที่เรียกว่าปลูกแล้วปล่อยตามมีตามเกิด ขาดการบำรุงรักษา ถึงเวลาออกลูกออกผลก็ขายกันแบบยกสวน ทำให้ได้ราคาไม่ดี
 
“ยะลา ทุเรียนซิตี้” เกิดขึ้นจากการร่วมกันทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณัฏฐพล จิระสกุลไทย ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการส่งเสริมการปลูกทุเรียนคุณภาพ ทางคณะร่วมงานกับคนในพื้นที่มาตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่ผ่านมา
 
“ในระยะแรกเริ่มได้เลือกดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบคือ ต.เนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา คัดเลือกเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตอนแรกสมัครเข้าร่วมประมาณ 100 ราย แต่เมื่อทำความเข้าใจเรื่องเงื่อนไขการทำงานร่วมกันแล้ว เหลือเกษตรกรร่วมในช่วงนำร่อง 22 ราย”
 
การดำเนินการจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้กับชาวสวนผู้ร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาที่สถาบันได้นำไปศึกษาดูงานด้านการปลูกทุเรียนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การแปรรูปและการตลาด ที่ จ.ระยอง และจันทบุรี รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เกษตรอำเภอแกลง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ
 
หลังจากดำเนินการมาได้ปีเศษช่วงเดือน ส.ค.ปีนี้เป็นรอบแรกที่กลุ่มผู้ร่วมโครงการเริ่มตัดทุเรียนคุณภาพออกสู่ตลาด มีเอกชนที่ร่วมโครงการรับซื้อชัดเจนไปขายทั้งในประเทศและส่งออก ได้ราคาที่ดีขึ้นเนื่องจากทุเรียนมีคุณภาพ
 
ภูรี สอรอโส๊ะ 1 ใน 57 อาสาพัฒนาหมู่บ้านปิดทองหลังพระ และหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องอาศัยความขยันและซื่อสัตย์
 
“เพราะต้องดูแลทุเรียนตั้งแต่ลำต้น บำรุงใบ ตัดแต่งดอก โยงกิ่ง ให้ปุ๋ย ทำความสะอาดบริเวณโคนต้น ระวังไม่ให้สัตว์ต่างๆ มารบกวนผลทุเรียน ต้องปีนขึ้นไปบนต้นทุเรียนซึ่งสูงกว่า 20 เมตรเพื่อไปพ่นสารชีวภัณฑ์ใส่ผลทุเรียน ให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี จากการดูแลทุเรียนให้ได้คุณภาพ ทำให้ปีนี้สามารถขายทุเรียนได้ราคา จากเดิมที่จะมีพ่อค้ามาต่อรองแบบเหมายกสวน ปีนี้ได้ราคากิโลกรัมละ 80 บาท”
 
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทุเรียนที่ยะลานี้มีความพิเศษ หรือแตกต่างจากทุเรียนเมืองจันท์ หรือระยองที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปหรือไม่ ในเรื่องนี้ พิชิต พนังคสิริ ปลัดอำเภอบันนังสตา เล่าว่า ทุเรียนทางใต้ โดยเฉพาะที่ยะลานี้ส่วนใหญ่ปลูกบนภูเขา
 
“บนที่สูงตามภูมิประเทศ ซึ่งภูเขาโดยเฉพาะใน อ.บันนังสตา มีความอุดมสมบูรณ์ บางพื้นที่ยังมีการค้นพบแร่พลอย ทุเรียนที่นี่จะมีเนื้อที่แน่น รสหวานกำลังดี เทียบคุณภาพแล้วน่าจะแข่งกับทุเรียนภูเขาไฟที่ จ.ศรีสะเกษได้”
 
ปลัดอำเภอบันนังสตา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ปลูกทุเรียนราว 3,000 ราย ภายใต้โครงการ “ยะลา ทุเรียนซิตี้” นี้ จะดึงเข้าร่วมโครงการ 1,200 ราย
 
เราได้รับการบอกเล่าจากคณะทำงานของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ว่า การนำองค์ความรู้ศาสตร์ต่างๆ รวมถึง “ศาสตร์พระราชา” เข้ามาพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาว 3 จังหวัดชายแดนจะไม่มีเพียงเท่านี้ แต่จะขยายพื้นที่ออกไปไม่มุ่งจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน แต่ไปหยิบศักยภาพแต่ละพื้นที่มายกระดับให้ดีขึ้น
 
หลังจบภารกิจติดตามความสำเร็จที่บันนังสตาแล้ว คณะของเรามีโอกาสไปติดตามงานที่อยู่ในการดูแลของทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ อีกหลายแห่งใน จ.ยะลาและนราธิวาส ซึ่งจากการเดินทางไปแต่ละจุดนี้เอง ที่ทำให้ได้พบความสวยงามทั้งธรรมชาติ บรรยากาศ วัฒนธรรม ผู้คนที่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่เราใช้ชีวิตอยู่
 
โอเค เบตง
 

เพชรเม็ดงาม ที่‘ปลายด้ามขวาน’

 
ตลอดเส้นทางจาก อ.บันนังสตา ไป อ.เบตง ผ่านทางหลวงแผ่นดินหมาย 410 ดูผู้คนที่ทยอยออกจากมัสยิดหลังการละหมาดใหญ่ในช่วงเย็นของวันศุกร์ ดูมีชีวิตชีวา เนื่องจากที่นี่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม การแต่งกายต่างๆ เห็นแล้วจึงชวนให้รู้สึกเหมือนเราอยู่มาเลเซีย
 
แต่พิเศษกว่าคือเราพูดคุยกับผู้คนที่เราพบเห็นรู้เรื่อง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ แม้เขาจะเรียนปอเนาะ ใช้ภาษายาวีเป็นหลัก แต่เขาก็พูดไทยได้ ใบหน้าผู้คนที่ยิ้มแย้มทำให้ลืมข่าวร้ายๆ บนหน้าสื่อไปสิ้น
 
ที่เซอร์ไพรส์สุดของการเดินทาง เห็นจะเป็นวิวทิวทัศน์สองข้างทางตลอดระยะทางเกือบ 100 กม. ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเองเคยฟังเพื่อนฝูงเล่าให้ฟังอยู่หลายครั้งว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้นี่สวยมาก คราวนี้ได้มาเยือนเห็นของจริง ยอมรับว่าออกจะตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศโดยเฉพาะภาพของแนวเขาสันกาลาคีรีที่สลับซับซ้อนทอดตัวอวดสายตาผู้มาเยือน
 
อดคิดไม่ได้ว่าถ้าไม่มีข่าวความไม่สงบให้เห็นบ่อยๆ จนผู้คนหวาดกลัว แถบนี้ต้องเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเยือนเป็นที่แรกๆ เป็นแน่
 
ตลอดเส้นทางถนน 2 เลน ค่อนข้างคดเคี้ยว ทั้งความชัน จำนวนโค้งน่าจะแข่งกับทางไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้สบายๆ ซึ่งจุดที่ต้องปักหมุดว่าเป็นไฮไลต์ ต้องจอดรถลงไปเก็บภาพให้จงได้คือ จุดสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนบางลาง อุทยานแห่งชาติบางลาง  กว่าถึงตัวเมืองเบตงเรียกว่าชมวิวกันเต็มอิ่ม
 
พอเข้าถึงโรงแรมเช็กอินเข้าที่พัก ได้เห็นทิวทัศน์ของเบตงจากบนห้อง ต้องยอมรับจริงๆ ว่าเป็นอีกเมืองภูมิศาสตร์ ที่ตั้งสวยมากๆ ถ้าให้ถ่ายภาพแล้วให้โหวตกันเบตงคงได้ติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
 
ตัวเมืองถูกโอบล้อมด้วยภูเขา และพื้นที่ของเบตงนี้กว่า 90% เป็นที่ชันเพราะตั้งอยู่ในภูเขา นั่นทำให้ที่นี่อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีทะเลหมอกให้ดูทุกเช้า จนหลายคนขนานนามที่นี่ว่า “บรรยากาศเมืองเหนือในภาคใต้” ส่วนทะเลหมอกที่มีชื่อเสียงที่สุดของเบตงคือ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง
 
เพราะอากาศเย็นตลอดทั้งปีทำให้ที่นี่มีสวนดอกไม้เมืองหนาว “สวนหมื่นบุปผา” ให้นักท่องเที่ยวไปชม และสถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันคือ อุโมงค์ปิยะมิตร พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายา เหมาะมากสำคัญใครที่ชื่นชอบเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ห่างออกไปไม่ไกลยังมีสถานที่ให้เที่ยวอีกเช่น บ่อน้ำร้อนเบตง และน้ำตกอินทสร
 
แม้จะได้ใช้เวลาอยู่ในเบตง เมืองใต้สุดปลายด้ามขวานตามภาพแผนที่ประเทศไทยเพียงเวลาสั้นๆ คืนเดียว แต่ก็สัมผัสได้ว่าเบตงเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ นอกจากจะถูกจัดให้เป็น “เซฟโซน” ของ 3 จังหวัดชายแดนแล้วที่นี่ยังมีบรรยากาศที่เป็นพหุวัฒนธรรมสูง ผู้คนอยู่อย่างผสมผสานระหว่างพุทธ อิสลามและเป็นพื้นที่ที่ผู้คนในแถบชายแดนมาพบเจอกัน 
 
ช่วงที่เราเดินทางไปนั้นในตัวเมืองเบตง ก็มีจัดกิจกรรมพบปะกันของนักขับบิ๊กไบค์จาก 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งทำให้บรรยากาศของเมืองคึกคักน่าดู
 
ขาจะกลับกรุงเทพฯ เราต้องกลับมาขึ้นเครื่องที่สนามบินนราธิวาส การเดินทางทางรถผ่านเส้นทางเดิมมายัง อ.บันนังสตา ธารโต และรามัน  ก่อนเข้าเขตนราธิวาสที่ยี่งอ ระหว่างทางจะผ่านอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด เป็นอีกจุดที่มีความสวยงามเช่นกัน
 
สองศรัทธาแสนงดงาม
 

เพชรเม็ดงาม ที่‘ปลายด้ามขวาน’

 
ก่อนเวลาขึ้นเครื่องกลับคณะเรามีเวลาอยู่พอสมควรเลยเลือกไปเยือนสถานที่สำคัญ 2 แห่งในนราธิวาส ที่แรกที่พวกเราเลือกไปก่อนคือ มัสยิดวาดิลฮูเซ็น หรือ “มัสยิด 300 ปี” ที่ตั้งอยู่บ้านตะโละมาเนาะอ.บาเจาะ ซึ่งต้องบอกตามตรงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เดินเข้าไปในเขตมัสยิด ซึ่งก็ค่อนข้างเกร็ง เกรงจะทำไม่ถูกธรรมเนียมของคนอิสลาม แต่พอเข้าไปแล้วกลับต่างไปจากที่คิด (มาก)
 
นอกจากจะได้ฟังประวัติศาสตร์และชมศิลปะอันน่าสนใจของมัสยิด เพราะที่นี่สร้างด้วยเครื่องไม้ดั้งเดิม เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของแหลมมลายู มัสยิดที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างมลายู ไทย และจีนต่างจากมัสยิดแห่งอื่นๆ จะมีสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกลาง ข้างในเก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเขียนด้วยลายมือของวันฮุซเซน อัซซานาวี อิหม่ามคนแรกของมัสยิดแห่งนี้แล้ว ยังได้เห็นบรรยากาศการเรียนภาษามลายูของเด็กๆ เพราะที่นี่เป็นโรงเรียนสอนภาษามลายูสำหรับเด็กๆ ด้วย
 
จากการบอกเล่าของคุณครูบอกว่าเด็กทุกคนที่เป็นคนมุสลิมใน 3 จังหวัดจะต้องเรียน 7 วัน คือจันทร์-ศุกร์ เรียนในระบบสามัญทั่วไปตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จะต้องมาเรียนภาษามลายู ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการอ่านพระคัมภีร์และการเรียนศาสนาในระดับสูงขึ้นไป
 
ทุกๆ หมู่บ้านจะมีโรงเรียนสอนภาษาแบบนี้และได้รับการอนุมัติหลักสูตรของทางการ เด็กๆ ที่เรียนพื้นฐานแล้วจึงจะสามารถไปเรียนชั้นสูงในโรงเรียนปอเนาะ หรือใครที่เก่งก็จะไปเรียนในตะวันออกกลางต่อไป แต่สำหรับใครที่ไม่สนใจเรียนทางศาสนาก็ไปเรียนในมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ ที่ตนเองสนใจตามปกติทั่วไป  ซึ่งระหว่างที่มีการเรียนการสอน ที่นี่ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูการเรียนการสอนของเด็กๆ ได้ไม่ได้ปิดบังอะไร คุณครูเล่าว่าเด็กๆ ที่จบหลักสูตรพื้นฐาน (เทียบเท่าจบ ป.6) สามารถอ่านเขียนและสื่อสารภาษามลายูได้คล่องเหมือนคนมาเลเซีย
 
เรียกได้ว่าเราในฐานะคนนอกก็ตื่นเต้นที่เห็นบรรยากาศแบบนี้ และก็รับรู้ได้ว่าทั้งคุณครูและเด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่มีคนภายนอกไปเยี่ยมพวกเขา
 
ออกจากมัสยิด 300 ปี มุ่งหน้ากลับเข้าตัวเมืองนราธิวาสก่อนไปสนามบิน คณะเราได้แวะวัดเขากงมงคลมิ่งมิตรปฏิฐาราม พุทธอุทยาน จ.นราธิวาสเพื่อสักการะพระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เพื่อขอพรก่อนเดินทางกลับ
 
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคลนับเป็นพระพุทธรูปที่ชาวใต้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนให้การสักการะ เพราะครั้งเริ่มสร้างเมื่อปี 2509 นั้น ก็เนื่องด้วยต้องการให้เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ทั้ง14 จังหวัด การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2512 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระอุระเบื้องซ้าย ในปี 2513 อันเป็นสิริมงคลสูงสุดนับแต่นั้น
 
กลับถึงกรุงเทพฯ พร้อมกับความรู้สึกว่า การเดินทางสั้นๆ เพียงไม่กี่วันในจังหวัดชายแดนใต้คราวนี้ ให้ความรู้สึกที่หลากหลาย และต่างไปจากที่เคยคิดและจินตนาการไว้มากมายนัก ใครหลายคนอาจจะยังกลัว แต่สำหรับคนที่ได้ไปสัมผัสที่นั่นมาแล้ว ต้องอยากกลับไปอีก ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน
 
ไม่ได้เกินไปเลย ที่จะเรียกปลายด้ามขวานนั้นว่า “เพชรเม็ดงาม” ที่รอผู้คนเปิดใจ แล้วไปเยือน