posttoday

‘จุฬาภรณ์พัฒนา 9’ บ้านลึกแต่ไม่ลับริมป่าฮาลาบาลา

15 กันยายน 2561

คนที่ยินชื่อป่าฮาลาบาลาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ 

คนที่ยินชื่อป่าฮาลาบาลาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ คนที่อยากมามากแต่ยังไม่เคยมา กับคนที่อยากมามากแต่กลัวเกินกว่าจะมา

ชื่อเสียงของป่าแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ สมบูรณ์เพราะอยู่ห่างไกลจากมนุษย์ที่เรียกว่านักท่องเที่ยว และอยู่ห่างไกลจากนักท่องเที่ยว เพราะผืนป่ากินพื้นที่ 2 จังหวัดคือ ยะลาและนราธิวาส ซึ่งเป็น 2 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่คนยังตั้งคำถามเรื่องการท่องเที่ยว

ป่าฮาลาบาลา จึงกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคำถาม ซึ่งมีหนทางหาคำตอบเพียงทางเดียวคือ มาท่องเที่ยว โดยอาจเริ่มต้นที่หมู่บ้านท่องเที่ยวใกล้ป่าฮาลาบาลา
อย่าง “บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9” หรือ บ้าน 9 ใน ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา

บ้าน 9 เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2533 เริ่มแรกนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมาเลเซียที่มาศึกษาประวัติศาสตร์ของ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ซึ่งหากใครสนใจแต่ฮาลาบาลาต้องสนใจประวัติศาสตร์ เพราะมีเส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าฮาลาบาลาโดยตรง

‘จุฬาภรณ์พัฒนา 9’ บ้านลึกแต่ไม่ลับริมป่าฮาลาบาลา

“หลิงปิง” ชนะ แซ่อู๋ ไกด์ท้องถิ่นวัย 22 ปี ชวนให้ถอดรองเท้าเข้าไปยังอาคารสีบานเย็น ป้ายด้านบนทำให้ทราบว่าที่นี่คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ซึ่งก็คือประวัติศาสตร์ของชาวบ้านที่นี่

“พ่อแม่ของผม และชาวบ้านคนอื่นๆ เป็นชาวจีนมาเลเซีย เคยอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ดินแดนมลายาในอดีตคือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

“จากนั้นพอได้สัญชาติไทยก็กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อ 29 ปีที่แล้ว โดยหมู่บ้านของเราตั้งอยู่สุดถนนของเขื่อนบางลาง ติดกับชายป่าฮาลาบาลา ผู้นำของเราเลือกพื้นที่ชายป่าฮาลาบาลาก็เพื่อเป็นทางหนีทีไล่หากเกิดสงครามขึ้นอีก ก็จะได้หลบหนีเข้าป่าทันที”

สงครามที่ชายหนุ่มกล่าวถึง คือ สงครามโลกครั้งที่ 2 หลิงปิง เล่าประวัติศาสตร์จากภาพถ่ายในพิพิธภัณฑ์ว่า ดินแดนมลายูเคยถูกญี่ปุ่นรุกรานจนเกิดเป็นการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น โดยอังกฤษได้ยื่นมือมาให้ความช่วยเหลือชาวมลายูในการต่อสู้ จากนั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวมลายูคิดว่าตัวเองจะได้อิสรภาพคืน แต่กลับกลายเป็นว่า ถูกอังกฤษเข้ามาปกครองแทน

ชาวมลายูเรียกการกระทำนี้ว่า “อังกฤษหักหลัง” คนจำนวนหนึ่งจึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับชาวอังกฤษทวงคืนเอกราชภายใต้แกนนำของ “ท่านผู้นำเฉินผิง” และสุดท้ายกลุ่มคนเหล่านั้นก็ถูกประณามว่าเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา”

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลมาเลเซียก็มีความเกรงกลัวว่ากลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาจะเข้ามาแทรกแซงการปกครอง จึงมีการเจรจาขึ้นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยรัฐบาลมาเลเซียยื่นเงื่อนไขว่า กลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาต้องมอบตัวท่านผู้นำเฉินผิงและต้องถูกจำคุก แต่ด้านพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่ตกลง การเจรจาจึงล้มเหลว

‘จุฬาภรณ์พัฒนา 9’ บ้านลึกแต่ไม่ลับริมป่าฮาลาบาลา

หลังจากการเจรจาล้มเหลว รัฐบาลมาเลเซียได้สั่งปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มลายาครั้งใหญ่ ทำให้แนวร่วมพรรคต้องอพยพหนีตายไปตามชายแดนไทย-มาเลเซีย นั่นคือ เบตง ซึ่งเบตงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวจีนจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาส่วนใหญ่เป็นชนชาติจีนจึงสื่อสารกันได้

ต่อมากลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาได้กระจายตัวเป็นกลุ่มๆ อาศัยอยู่ในป่าฮาลาบาลา และเริ่มระดมพลทหารเพิ่มในเขตแดนไทย โดยส่วนใหญ่คนไทยที่สมัครเข้าพรรคจะเป็นคนยากจนและเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา จึงตัดสินใจเข้าไปอยู่ค่ายในป่าซึ่งมีอาหารให้กิน มีที่ให้อยู่ มีหมอรักษา และมีโรงเรียนให้ความรู้ ปัจจุบันคนไทยที่เข้าร่วมพรรคสามารถพูดภาษาจีนกลางได้จนเป็นประโยชน์แก่ตัวเองในปัจจุบัน

เมื่อเกิดการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาในไทย ทำให้รัฐบาลไทยไม่นิ่งนอนใจเกิดเป็นการปะทะระหว่างทหารไทยกับกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาช่วงหนึ่ง กระทั่งเกิดการเจรจาและเซ็นสันติภาพที่ภูเก็ตในปี 2532 โดยมีข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยจะให้ที่อยู่และที่ทำกินแก่กลุ่มคอมมิวนิสต์มลายา และกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาจะนำอาวุธสงครามไปทำลายหรือฝังไว้ในป่าด้วยตัวเอง เพื่อเป็นนัยว่า พรรคไม่ได้ยอมแพ้ต่อรัฐบาลไทยแต่อย่างใด และถือเป็นการยุติสงครามอย่างมีเกียรติ

กลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาถูกเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้รับสัญชาติไทย บัตรประชาชน บ้านหนึ่งหลัง และพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้าน 9 ในฐานะคนไทย หลังจากต้องไลัดถิ่นจากบ้านเกิดและต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดมานานกว่า 30 ปี

ฟังไกด์หนุ่มเล่าแล้วเห็นภาพเป็นฉากๆ ทั้งยังสัมผัสได้ถึงความรู้สึกจริงผ่านภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นปืนโค้งงอที่ถูกเผาจนไหม้เกรียม ซึ่งเป็นวิธีทำลายอาวุธตัวเองโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายา เตียงคนไข้ อุปกรณ์ทำฟัน เครื่องบันทึกภาพ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องผลิตปืน และเครื่องผลิตระเบิด ทั้งหมดถูกขนออกมาจากป่าฮาลาบาลาเพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้

หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์เดียวกันคือ บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10, 11 และ 12 ซึ่งก็คือกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาที่ไปตั้งค่ายอยู่ในป่าแล้วออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านหลังการเซ็นสันติภาพที่ภูเก็ต โดยบ้าน 10 ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเบตง จ.ยะลา บ้าน 11 ตั้งอยู่ที่ อ.กาบัง จ.ยะลา และบ้าน 12 ตั้งอยู่ที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ใกล้กับอีกด้านของป่าฮาลาบาลาแต่ในพื้นที่นั้นจะเรียกว่า ป่าบาลาฮาลา

‘จุฬาภรณ์พัฒนา 9’ บ้านลึกแต่ไม่ลับริมป่าฮาลาบาลา

ฮาลา แปลว่า กลุ่มคนหรือทหารที่ตั้งชื่อตัวเองว่ากลุ่มฮาลา ส่วน บาลา แปลว่า การอพยพเคลื่อนย้ายเปลี่ยนถิ่นฐาน ทว่าฮาลาบาลาในปัจจุบันคือ ป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ประกอบด้วย ผืนป่า 2 ผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส และป่าบาลา ในพื้นที่ อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส โดยในปี 2539 มีการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าร่วมกัน

“เรามีป่าที่สมบูรณ์มากอยู่ใกล้บ้าน ป่าฮาลาบาลาเลยเป็นเหมือนตลาดให้คนในหมู่บ้านได้เข้าไปหาอาหาร และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน โดยหลังจากเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเราก็มีจุดขายเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีป่า มีน้ำตก มีนกเงือก รวมถึงมีวิถีชีวิตของชาวจีนมาเลเซียให้เรียนรู้ทั้งอาหารการกิน สมุนไพรจีน และการฝังเข็มซึ่งเป็นศาสตร์ของชาวจีนที่อากงอาม่ายังทำเป็น” หลิงปิงกล่าวเพิ่มเติม

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติละแวกบ้าน 9 ถูกค้นพบจากการบอกเล่าของลุงป้าน้าอาที่เคยอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์มลายาอย่าง น้ำตกฮาลาซะห์ น้ำตกสูงใหญ่กลางป่า หากเดินจากหมู่บ้านจะมีระยะทางราว 4 กม. โดยเป็นทางปูนครึ่งทาง จากนั้นเป็นทางดินราบ และเป็นทางเดินในป่าทึบอีก 100 เมตร ระหว่างทางอาจเจอทากตัวเรียวคอยทักทาย แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะสามารถป้องกันได้ด้วยถุงกันทากและชโลมน้ำผสมยาเส้น

น้ำตกฮาลาซะห์ช่วงปลายฝนเช่นนี้มีน้ำน้อย แต่ก็ไหลเอื่อยพอได้ยินเสียงน้ำกระทบหิน โดยรอบน้ำตกถูกรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ หลิงปิงชี้ให้ดูต้นใบไม้สีทองหรือต้นย่านดาโอ๊ะ ที่พบเฉพาะในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นสีทองเหลืองโดดขึ้นมาจากป่าช่างสวยงาม

จากนั้นระหว่างเดินกลับจากน้ำตกสู่หมู่บ้านสามารถแวะไปชมผืนป่าฮาลาบาลาได้ที่ หาดกระทิง หมุดหมายใหม่ที่ทางชุมชนเพิ่งตั้งชื่อให้ มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก และจะกลายเป็นพื้นราบสีเขียวขนาดใหญ่ในช่วงน้ำลดเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีกระทิงลงมาแทะเล็มอยู่บ้างจึงถูกเรียกว่า หาดกระทิง โดยช่วงเช้าจะเห็นสายหมอกเคลื่อนตัวเหนือแนวป่า (แต่อากาศไม่หนาว) ส่วนเบื้องล่างเป็นลำธารเสมือนภาพวาดโดยจิตรกร

‘จุฬาภรณ์พัฒนา 9’ บ้านลึกแต่ไม่ลับริมป่าฮาลาบาลา

“เราสร้างเส้นทางท่องเที่ยวตามต้นทุนที่มี นั่นคือ ธรรมชาติ โดยมีคนในชุมชนเป็นคนพาเที่ยว” หลิงปิงกล่าวทิ้งท้าย

ส่วนภายในบ้านจะได้เห็นวิถีชีวิตของการปลูกยางพารา และการทำเกษตรพอเพียงตามรั้วบ้าน มีสะตอ มังคุด ลองกอง ให้สอยกิน ส่วนที่พักมีให้ใช้ชีวิตทั้งแบบโฮมสเตย์และรีสอร์ทชุมชน เป็นห้องพักไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่มีน้ำอุ่นและห้องน้ำส่วนตัว และเรื่องอาหารการกินทุกมื้อจะฝากท้องไว้กับปลายจวักของกลุ่มแม่บ้าน

จากอดีตถึงปัจจุบันชาวบ้านจุฬาภรณ์ฯ 9ล้วนใช้ชีวิตใกล้ชิดกับป่าฮาลาบาลา จากที่เคยใช้ป่าเป็นค่ายหลบภัย วันนี้ได้กลายเป็นสวนหลังบ้านขนาดใหญ่ที่ยังหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านเช่นเดิม

การท่องเที่ยวในบ้าน 9 ทำให้นักท่องเที่ยวได้สวมบทบาทเป็น Wood Ranger ตามแคมเปญ “Once as a tourist มาเป็น...ด้วยกันสักวันหนึ่ง” แคมเปญที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชุมชนผ่านอาชีพหรือไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ ที่จะช่วยให้จดจำความรู้สึกของการใช้ชีวิตตามวิถีชุมชน และเข้าใจการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นแคมเปญภายใต้โครงการ Amazing Thailand Unseal Local ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)