posttoday

'ถ้ำละว้า' ครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม

01 กันยายน 2561

ละครจักรๆ วงศ์ๆ มักใช้ถ้ำที่กาญจนบุรีเป็นโลเกชั่น

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ 

ละครจักรๆ วงศ์ๆ มักใช้ถ้ำที่กาญจนบุรีเป็นโลเกชั่น ซึ่งนอกจากความสวยงามและเข้าถึงง่าย ยังมีเหตุผลทางธรณีวิทยาที่จะตอบได้ว่า ทำไมกาญจนบุรีถึงมีถ้ำมากมายและล้วนสวยงาม

หลังจากเหตุการณ์ถ้ำหลวงคลี่คลาย ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำ กรมทรัพยากรธรณี ก็มีเวลาชวนไปให้ความรู้ในสถานที่จริงที่ “ถ้ำละว้า” ถ้ำที่รวมทุกประติมากรรมไว้ในที่เดียว

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติถ้ำละว้าต้องเดินขึ้นบันไดกว่าร้อยขั้นก่อนถึงปากถ้ำ ผังทางเดินภายในแบ่งเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ห้องหนุมาน จระเข้ ดนตรี ค้างคาว และม่านบรรทม ระยะทาง 635 เมตร

ตามทางมีไฟให้แสงสว่าง แต่หากอยากมองให้เห็นรายละเอียดต้องเตรียมไฟฉายไปเอง และภายในถ้ำอากาศร้อนชื้น ใช้เวลาเดินไป-กลับประมาณ 45 นาที แต่มาเที่ยวถ้ำกับผู้เชี่ยวชาญทั้งที เลยใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง

อ.ชัยพรเล่าว่า ภูมิประเทศทางฝั่งตะวันตกของไทยมีการยกตัวของเปลือกโลกจึงเกิดเป็นเทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดนธรรมชาติ และทำให้ถ้ำใต้ทะเลถูกยกตัวขึ้นมาเป็นถ้ำแห้ง

'ถ้ำละว้า' ครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม

“ที่นี่เป็นหินปูนยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 200 กว่าล้านปี” อ.ชัยพรยืนอธิบายหน้าถ้ำละว้าพร้อมชี้ให้ดูหินตรงปากถ้ำว่า

“หินปูนเป็นหินชั้นชนิดหนึ่ง เกิดจากพวกเศษปะการัง เศษหอย หรือสัตว์ต่างๆ ในทะเลที่ทับถมจนเป็นหินชั้น จากนั้นเปลือกโลกมีการยกตัวขึ้นทำให้หินปูนใต้ทะเลขึ้นมาอยู่บนพื้นดิน ซึ่งการยกตัวจะทำให้เกิดรอยเลื่อนและรอยแตกของชั้นหิน ทำให้น้ำฝนซึมเข้ามาละลายหินปูนจนทำให้เกิดเป็นโพรงถ้ำ และหากส่วนไหนที่มีความเข้มข้นของหินปูนสูง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะระเหยออกทำให้ของเหลวหรือน้ำหินปูนตกตะกอนกลายเป็นหินงอกหินย้อย”

ศัพท์แสงแบบนักธรณีเข้าใจง่ายขึ้นถ้าได้เห็นของจริง ภายในห้องแรกเป็นโถงที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานให้กราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางตามความเชื่อ ซึ่งเป็นจุดที่ อ.ชัยพร ชี้ให้ดูผนังถ้ำที่มีความเรียบและโค้งมน เป็นหลักฐานว่าถ้ำละว้าเกิดจากการละลาย และเกิดเป็นถ้ำใต้น้ำมาก่อน แต่หลังจากที่เปลือกโลกยกตัวและน้ำมุดตัวลงไปจึงทำให้กลายเป็นถ้ำแห้ง

“ถ้ำนี้มีวิวัฒนาการมานานมาก เพราะมีร่องรอยของหินถล่ม มีหินงอกหรือหินย้อยที่พังลงมากองอยู่กับพื้น ซึ่งเกิดจากรอยแตกในตัวมันเอง ทุกวันนี้เปลือกโลกของเรายังยกตัวสูงขึ้นตลอดเวลา ภูเขาเอเวอร์เรสต์ยังทำลายสถิติตัวเองทุกปี และเมื่อเปลือกโลกยกตัวขึ้น ชั้นหินปูนก็จะกลายเป็นถ้ำซ้อนถ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

อย่างตอนนี้เราอยู่ในถ้ำละว้า ข้างใต้เท้าเราก็ยังมีถ้ำใหม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งระบบถ้ำที่มีลักษณะเหมือนรังปลวกนี้จะเป็นแหล่งเก็บน้ำบาดาลอย่างดีให้กับโลกเรา ทำให้นึกถึงถ้ำหลวงที่ต้องระบายน้ำบาดาลเพื่อลดระดับน้ำในถ้ำ ก็เป็นลักษณะเดียวกัน”

'ถ้ำละว้า' ครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม

จากนั้นเดินเข้าไปอีก 95 เมตร จะพบกับห้องจระเข้ สัญลักษณ์ของห้องนี้คือ หินย้อยที่จินตนาการได้ว่ามันคือจระเข้ตัวเขื่องบนผนังถ้ำ มีเสียงทุ้มๆ ก้องมาว่า

“การเกิดหินย้อยเกิดจากน้ำหยดเล็กๆ ที่ซึมเข้ามาตามรอยแตกของหินปูน แล้วฟอร์มตัวกลายเป็นหลอดกาแฟ จากนั้นหินปูนจะพอกตัวใหญ่ขึ้นๆ ซึ่งหากสังเกตหินย้อยที่แตกหักจะเห็นเนื้อหินด้านในเป็นวงเหมือนวงปีต้นไม้ แต่สำหรับหินย้อยวงหนึ่งใช้เวลาเป็นพันปี”

ภายในถ้ำละว้ามีทั้งหินงอกหินย้อยที่ทั้งเป็นและตาย ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเดินในเส้นทางที่กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อรักษาชีวิตของถ้ำและคงไว้ซึ่งความสวยงาม

ต่อไปอีก 115 เมตร จะเดินไปถึงห้องดนตรี ห้องนี้ช่างสวยงามด้วยหินงอกหินย้อยละลานตา บนเนื้อหินมีสีสันอย่างรอยสีดำเกิดจากแร่แมงกานีส ส่วนรอยสีแดงเกิดจากเหล็กออกไซด์ และสีของหินก็บ่งบอกได้ถึงส่วนประกอบของแร่ คือ หินสีขาวมีแร่แคลไซด์ปะปน ส่วนหินสีแดงมีแร่เหล็กปะปน และมีไฮไลต์เป็นทำนบหินปูนที่กำลังก่อร่างสร้างตัวเป็นทำนบขนาดใหญ่ ข้างในทำนบมีไข่มุกถ้ำเม็ดจิ๋วที่กำลังถูกขัดสีให้กลมโดยธรรมชาติ อ.ชัยพรกล่าวว่า ถึงแม้จะเป็นหินแต่ก็บอบบาง การสะสมตัวกว่าร้อยปีสามารถสูญสลายในเสี้ยววินาทีถ้ามนุษย์ยื่นมือเข้าไปแตะต้อง

จากนั้นจะเดินผ่านห้องโถงใหญ่หรือห้องค้างคาว ห้องนี้จะเห็นเสาหินที่เกิดการจากบรรจบกันของหินงอกหินย้อย แต่ก็แตกร้าวจากกันเพราะการยกตัวของเปลือกโลก และเห็นผนังถ้ำที่มีกุมภลักษณ์หรือโบก เหมือนที่สามพันโบกใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเกิดจากการขัดสีของหินกรวดที่พัดมากับน้ำ หมุนวนขัดหินปูนจนกลายเป็นหลุมกลม กลายเป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าถ้ำละว้าเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน

'ถ้ำละว้า' ครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม

และไปสิ้นสุดที่โถงสุดท้ายเรียกว่า ห้องบรรทม ห้องนี้ อ.ชัยพร ยกให้เป็นพระเอกที่ครบเครื่องเพราะมีให้เห็นทั้งหินงอก หินย้อย ม่านหินย้อย เสาหิน หินถล่ม และหินที่มีประกายเพชรจากแร่ซิลิกา แร่ซิลิกาเกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำทำให้ชั้นหินปูนมีแร่ซิลิกาปะปน เป็นการปิดฉากแบบแฮปปี้เอนดิ้ง คุ้มค่ากับเหงื่อทุกหยดที่เสียไป

ตลอดระยะทางไม่มีหน้าต่างถ้ำให้อากาศถ่ายเทภายในจึงอบอ้าวและอึดอัด ถ้าไม่มีเรื่องราวของ อ.ชัยพร ให้ตื่นเต้นตลอดเวลาก็คงใช้เวลาเดินไป-กลับไม่ถึงชั่วโมงอย่างที่ใครๆ บอก ถ้ำละว้าเดินไม่นานก็จบ แถมเฉยๆ ไม่มีอะไร

ขณะที่เดินกลับเหมือนได้ทบทวนตำราที่ อ.ชัยพร ติวเข้มไว้ ชอบคำพูดหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ถ้ำไม่ใช่แค่รูภูเขา” เพราะภายในถ้ำมีประติมากรรมธรรมชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เพราะถ้ำเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีความแปลกประหลาด จึงมีโอกาสค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ๆ ได้ภายในถ้ำ

เพราะถ้ำเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ เป็นแหล่งโบราณคดีเพราะมนุษย์โบราณใช้ถ้ำเป็นบ้านหลังแรก เพราะถ้ำเป็นที่หลบภัยอย่างดีหากโลกมีสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ และเพราะถ้ำเป็นตัวช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ขอจบด้วยศัพท์นักธรณีอีกสักนิด) เพราะเมื่อฝนตก ฝนจะละลายก๊าซเรือนกระจกลงมาเป็นของเหลวที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อกรดมาพบหินปูนจะทำปฏิกิริยากับแร่แคลไซต์เปลี่ยนเป็นแคลเซียมไบคาร์บอเนต คงไว้อยู่ในรูปแบบของหินงอกหินย้อยและอยู่ภายในระบบถ้ำอีกนานแสนนาน

ถ้ำในกาญจนบุรีไม่ได้เป็นที่อยู่ของฤาษี นางสิบสอง หรือสัตว์ในตำนาน แต่เป็นที่อยู่ของเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ ซึ่งก่อนกลับ อ.ชัยพร ยังพาไปแวะที่ “ช่องเขาขาด” อดีตเส้นทางรถไฟไทย-เมียนมา กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระยะทาง 415 กม.

ผ่านป่าและภูเขาจากบ้านโป่งไปยังตันบูซายัต ประเทศเมียนมา โดยใช้แรงงานชาวเอเชียประมาณ 2.5 แสนคน และเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ดัตช์ และอเมริกันมากกว่า 6 หมื่นคน ความสูญเสียจากการสร้างทางรถไฟมีเชลยศึกเสียชีวิตประมาณร้อยละ 20 และมีแรงงานพลเรือนเสียชีวิต 7-9 หมื่นคน

'ถ้ำละว้า' ครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม

บริเวณที่เรียกว่า ช่องเขาขาด หรือช่องไฟนรก ใช้แรงงานมนุษย์ตัดช่องเขาด้วยพลั่ว ชะแลง ค้อนใหญ่ และขุดหลุมเพื่อวางระเบิด ประกอบกับเวลานั้นมีการระบาดของอหิวาตกโรค การตัดช่องเขาจึงคร่าชีวิตเชลยและคนงานไปหลายพันคน

แต่นอกจากอดีตอันน่าเศร้าที่ยังคงสร้างบรรยากาศหดหู่จนถึงปัจจุบัน นักธรณีอย่าง อ.ชัยพร สามารถมองเห็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหินที่น่าสนใจ เพราะพบหลักฐานว่าช่องเขาขาดเคยเป็นน้ำตกโบราณ

สังเกตได้จากหินก้อนกลมบนผนังของช่องเขาขาด ซึ่งความกลมมนของมันบ่งชี้ได้ว่า มันเคยอยู่ใต้น้ำมาก่อน รวมถึงลักษณะของหินที่มีร่องรอยของกระแสน้ำ จึงกล่าวได้ว่า บริเวณช่องเขาขาดเคยมีน้ำตกขนาดมหึมา แต่ได้แห้งไปเพราะการยกตัวของเปลือกโลก ส่วนทางน้ำเดิมน่าจะมุดลงไปตามชั้นหินและเป็นทางน้ำเดียวกับน้ำตกไทรโยคใหญ่นั่นเอง

การมองในมุมของนักธรณีมักจะสนุกแบบนี้ คือแทนที่จะมองช่องเขาขาดเป็นความสูญเสียของสงครามเพียงอย่างเดียวก็สามารถมองลึกไปยังหินแต่ละก้อนว่าเคยมีที่มาอย่างไร เช่นเดียวกับถ้ำละว้าที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเพื่อชมความสวยงามของธรรมชาติ แต่คราวนี้กลับได้รู้ลึกไปถึงการกำเนิดถ้ำและช่วงชีวิตของมันว่าควรค่าแก่การรักษาอย่างไร

ความลงตัวของเรื่องวิชาการกับเรื่องท่องเที่ยวน่าจะมีจุดร่วมตรงนี้ได้ ซึ่งการท่องเที่ยวแบบมีข้อมูลความรู้จะให้อรรถรสและเป็นประโยชน์กับประสบการณ์มากกว่าแค่มาชมและเช็กอิน