posttoday

เที่ยว ‘ขนอม’ แบบไม่ง้อโลมา

21 กรกฎาคม 2561

หากมาขนอมแล้วไม่เจอโลมา แล้วจะมาทำไม ไม่ใช่คำถามน้อยใจ หลังจากทราบว่า วันนี้คงไม่เห็นโลมาสีชมพู

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

หากมาขนอมแล้วไม่เจอโลมา แล้วจะมาทำไม ไม่ใช่คำถามน้อยใจ หลังจากทราบว่า วันนี้คงไม่เห็นโลมาสีชมพู แต่อยากรู้จริงๆ ว่า ขนอมมีอะไรน่าเที่ยว นอกเหนือจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่การันตีการปรากฏตัว

ขนอม เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช แต่อยู่ค่อนไปทาง จ.สุราษฎร์ธานี นักท่องเที่ยวจึงเลือกนั่งเครื่องบินมาได้ทั้งสองจังหวัดเพราะใช้เวลาเดินทางพอๆ กัน และถ้าถามว่าทำไมคุ้นชื่อ อ.ขนอม นัก สำหรับสายดนตรีที่ชอบดูคอนเสิร์ตคงเคยได้ยินมาจากเทศกาลขนอมเฟสติวัล งานบันเทิงริมหาดประจำปีที่ได้รับความนิยมล้นหลาม จนทำให้เกิดที่พักเล็กๆ กระจายตัวใกล้ชายหาดขนอมซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

เที่ยว ‘ขนอม’ แบบไม่ง้อโลมา

นอกจากนี้ ชื่อขนอมน่าจะติดหูมาจากชื่อ โรงไฟฟ้าขนอม ที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเมื่อปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการก่อตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยมีพันธกิจเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงมีการกำหนดพื้นที่ให้ชุมชนที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าในระยะทางตั้งแต่ 1, 3 และ 5 กม. เข้าร่วมบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อนำเงินไปดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน และยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว

อย่างโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านแหลมประทับ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ชาวบ้านใช้สำหรับเข้าออกของเรือประมง และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวใช้ขึ้นเรือไปดูโลมาสีชมพู

วิโชติ สุขใส กำนันตำบลท้องเนียน เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่กว่าร้อยละ 80 ประกอบอาชีพประมง ทุกวันจะออกเรือไปหาปลาและกลับมาจอดที่ท่าเรือบ้านแหลมประทับ

ส่วนฤดูดูปลาโลมาประมาณเดือน ก.พ.-ก.ย. ชาวบ้านจะนำเรือมารอรับนักท่องเที่ยวสร้างรายได้พิเศษ ซึ่งหลังจากท่าเรือได้รับการปรับปรุงให้ขึ้นลงสะดวกและปลอดภัยเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว พบว่ามีนักท่องเที่ยวนิยมมาใช้บริการที่ท่าเรือแหลมประทับมากขึ้นถึง 2-3 เท่าตัว

ชาวท้องเนียน ยังรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแหลมประทับ เพื่อรณรงค์การท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ไม่ทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การล่องเรือดูโลมาสีชมพูที่ต้องห่างจากโลมา 300 เมตร ไม่ให้อาหาร ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงว่ายน้ำกับโลมา และดับเครื่องยนต์เมื่อโลมาว่ายเข้ามาใกล้เรือ

“ถ้าไม่เจอโลมา ที่นี่จะมีอะไร” ใครสักคนยกมือถามกำนันวิโชติ

เที่ยว ‘ขนอม’ แบบไม่ง้อโลมา

เขาตอบว่า โอกาสที่จะได้เห็นโลมาคือช่วงเช้าตรู่ไปจนถึงก่อนเที่ยงวัน แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้างโลมาไม่ล้อคลื่น นักท่องเที่ยวก็ยังคงได้เห็นความงดงามตามธรรมชาติ ว่าแล้วกำนันให้นักท่องเที่ยวทุกคนสวมเสื้อชูชีพแล้วลงเรือหัวโทงของชาวบ้านลำละ 8 คน นายท้ายเรือใช้ไม้คัดท้ายดันเรือออกไปนอกท่า ก่อนติดเครื่องยนต์ส่งแรงให้แล่นฉิว

กินลมชมธรรมชาติไปได้สักพัก เสียงเครื่องยนต์ได้ผ่อนความเร็วทำให้ได้ยินเสียงนายท้ายเรือตะโกนมาว่า “ข้างหน้าคือเขาพับผ้า”

พอมองไปตามทิศทางก็ถึงอมยิ้ม เพราะเขาที่เห็นคือ เทือกเขาหินปูน หลักการทางธรณีวิทยาอธิบายไว้ว่า เขาพับผ้าเป็นหินปูนสลับกับช่วงกลางเป็นชั้นหินดินดานทำให้หินมีลักษณะคล้ายแพนเค้ก ความหนาของแต่ละชั้นประมาณ 10-15 ซม.และพบซากดึกดำบรรพ์พวกพลับพลึงทะเล คตข้าวสาร ปะการัง หอยตะเกียงหอยกาบเดี่ยว และรูหนอน ลักษณะทางธรณีวิทยาดังกล่าวจึงทำให้เกิดเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติสมกับชื่อเขาพับผ้า และบริเวณเดียวกันยังพบเจดีย์ที่ก่อสร้างด้วยปะการังจากชายทะเลซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านมาช้านาน

หลังจากนั้นเมื่อพ้นเหลี่ยมหน้าผา จะเห็นเกาะกลางทะเลที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนมองไม่เห็นว่าด้านบนมีพระพุทธรูปประดิษฐาน เรือหัวโทงได้ทอดสมอที่เกาะนุ้ยนอก เกาะที่ชาวประมงทราบกันดีว่าถ้าต้องการดื่มน้ำจืดต้องแวะมาที่นี่ เพราะบริเวณด้านล่างของเกาะมีบ่อน้ำจืดขนาดกว้างประมาณ 30 นิ้ว ช่วงที่น้ำทะเลลงจะเห็นชัดและไม่มีน้ำเค็มเจือปน สามารถตักซดดับกระหาย และด้วยรูปร่างของบ่อมีความคล้ายรอยเท้าขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเชื่อว่า ที่นี่เป็นตำนานของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด จึงมีการนำพระพุทธรูปและรูปปั้นของหลวงปู่ทวดไปประดิษฐานไว้บนยอด สร้างบันไดให้คนขึ้นไปสักการะขอพร จนกลายเป็นอันซีนประเทศไทยที่ใครมาขนอมต้องมา

ในขณะที่บ้านท้องเนียนโด่งดังเรื่องโลมา หมู่บ้านในเพลา ต.ขนอม ก็โด่งดังเรื่องปลาทราย ทุกปีช่วงต้นเดือน ก.ค.ชาวบ้านจะจัดเทศกาลตกปลาทราย ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ซึ่ง 3 ปีให้หลังชุมชนได้ขอเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

เที่ยว ‘ขนอม’ แบบไม่ง้อโลมา

มาเนก เสือทอง ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า เหตุที่ต้องจัดเทศกาลช่วงฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่มีปลาทรายมาก ปีนี้มีชาวบ้านแข่งขัน 25 ทีม กติกาคือ ต้องตกด้วยเบ็ดออกเรือพร้อมกันที่หาดในเพลาเวลา 9 โมงเช้าและกลับมาเวลาบ่าย 2 จากนั้นนำปลาทรายที่ได้มาชั่งน้ำหนัก ทีมที่ชนะจะได้รับความภูมิใจและรับเงินรางวัลกลับไป

ผลการแข่งขันปีนี้ทีมชนะตกปลาทรายได้น้ำหนัก 4 กิโลกรัมกับอีก 3 ขีด ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ได้มากกว่า 10 กิโลกรัม ผู้ใหญ่มาเนกคาดว่า น่าจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนทำให้ปลาทรายไม่ชุกชุมเหมือนแต่ก่อน แต่ปลาทรายคงไม่หมดไปจาก
ทะเลในเพลา เพราะชาวบ้านที่นี่ยังทำประมงแบบพื้นบ้านคือ หาปลาทรายไว้กินเองในบ้านและเหลือขายบ้างในตลาดเทศกาลแข่งขันตกปลาทราย ปีที่ 15 และปีต่อๆ ไปก็จะยังคงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสุขให้คนในชุมชน

นอกจากธรรมชาติ ขนอมยังอุดมไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาโดยเฉพาะกับศิลปวัฒนธรรมด้านหนังตะลุง การละเล่นหนังตะลุงปักษ์ใต้นิยมจัดแสดงในตอนกลางคืน หลังชาวบ้านเสร็จสิ้นภารกิจทำนา ทำสวน ทำประมง แล้วมารวมตัวกันดูมหรสพเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยร่วมกันในชุมชน ทว่าปัจจุบันหนังตะลุงกลายเป็นการละเล่นทางวัฒนธรรมที่ต้องอนุรักษ์ ผ่านการส่งต่อไปรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างใน อ.ขนอม ก็มีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น โดยมีหนังตะลุงเป็นหัวใจสำคัญ

อรรถชัย ตรึกตรอง ทายาทคณะหนังตะลุงมโนราห์ ชะลอศิลป์ ก่อตั้งโดยบิดาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เล่าว่า ในขนอมมีคณะหนังตะลุงอยู่ไม่มาก และลูกหลานก็เหินห่างทำให้เกรงว่าจะไม่มีผู้สานต่อ เขาจึงอยากร้องขอให้โรงเรียนในขนอมนำวิชาหนังตะลุงบรรจุเป็นหนึ่งวิชา เพื่อให้เด็กทุกคนรู้จักและเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของการละเล่นอายุหลายร้อยปีนี้

ทว่าสิ่งที่ทางชมรมร่วมกับชาวบ้านในต.ควนทอง เรียกร้องสำเร็จ นั่นคือ การจัดทำประชาคมขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน5 หมื่นบาท เพื่อทำตัวหนังตะลุงและซื้ออุปกรณ์ในการแสดง ได้แก่ จอหนังพร้อมฉาก อุปกรณ์ไฟส่องฉากหนังและตัวหนังเวทีเพื่อสร้างโรงหนังตะลุง และชุดเครื่องเสียง ให้กลุ่มเยาวชนได้มีเวทีในการฝึกฝนและไปเปิดการแสดงตามสถานที่ต่างๆได้ ไม่ว่าจะตามร้านอาหาร งานบุญ งานบวช งานเลี้ยงสังสรรค์ตามภาษาคนปักษ์ใต้ จะช่วยให้เยาวชนได้ฝึกปรือฝีมือและสร้างรายได้ให้กับพวกเขาด้วย

เที่ยว ‘ขนอม’ แบบไม่ง้อโลมา

นอกจากศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่กำลังได้รับการดูแลจากคนในท้องถิ่นด้านประวัติศาสตร์ของเมืองขนอมก็กำลังถูกบันทึกอย่างเป็นทางการในรูปแบบของศาลหลักเมืองขนอม ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมฐานะของอำเภอจึงจำเป็นต้องมีศาลหลักเมืองเฉกเช่นจังหวัด แต่เมื่อฟัง
ประวัติจาก หนูกิต รูปสะอาด รองประธานกรรมการศาลหลักเมืองแล้วจึงเข้าใจ

เนื่องจากย้อนกลับไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 หรือราว 500 ปีที่แล้ว ขนอมหรือในขณะนั้นเรียกว่า เมืองตระนอม เป็นเมืองหน้าด่านในการจัดเก็บภาษีอากรจากชาวต่างชาติที่เดินทางมาค้าขายทางทะเล ทำให้เมืองตระนอมเจริญรุ่งเรืองมากเทียบเท่าจังหวัดการค้าที่สำคัญ จึง
สมควรที่จะสืบทอดประวัติศาสตร์การสร้างบ้านเมืองและการปกครองในยุคนั้นไว้ภายในศาลหลักเมืองขนอม โดยจะมีพิธีอัญเชิญและบวงสรวงหลักเมือง วันที่9-10 ส.ค. 2561 และจะเปิดให้คนเข้าสักการบูชาต่อไป

ข้างๆ กันยังเป็นที่ตั้งของศาลพ่อตาคูระที่ชาวบ้านมักมาขอคู่รักและเงินทองโดยด้านหลังของศาลเป็นซุ้มต้นไม้ขนาดใหญ่ 2 ต้นที่โอบรัดกัน มีคนตั้งนามให้ว่าต้นไม้คู่รัก ซุ้มนางค้ำ พร้อมมีป้ายบอกวิธีขอพรคือ ให้เดินลอดซุ้มนางค้ำตามเข็มนาฬิกาพร้อมอธิษฐาน 3 รอบ คนโสดจะพบเนื้อคู่ คนมีคู่จะรักกันยืนยาว และคนมีครอบครัวจะอยู่เย็นเป็นสุข

นอกจากนี้ ทั้งสองสถานที่ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะจึงเห็นภาพความหลากหลายของสารพัดกิจกรรมทั้งคนออกกำลังกาย คนเดินวนใต้ต้นไม้ และคนจุดธูปไหว้หลักเมือง

แม้ขนอมจะได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองโลมาสีชมพู มีวงเวียนโลมา มีโคมไฟถนนรูปโลมา มีร้านอาหารมากมายที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่าโลมา และไม่ว่าจะไปที่ไหนแม้แต่ในห้องน้ำก็ยังเห็นรูปปั้นโลมา แต่ไม่ได้หมายความว่าอำเภอนี้จะมีแค่นั้น และใช่ว่าจะเจอทุกครั้งที่มา

แต่สิ่งที่ขนอมมีเสมอมาคือ ชาวบ้าน ชาดหาด ความเชื่อ และความศรัทธาที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรม ไม่ต้องลุ้นไม่ต้องพึ่งโชค เพราะมันคือวิถีและจิตวิญญาณของคนขนอม