posttoday

บ้านนาเกลือ ชุมชนที่ยังหลงเหลือในพัทยา

14 กรกฎาคม 2561

ใครชวนไปพัทยา อยากส่ายหน้าแทนคำตอบ แต่ต้องคิดให้รอบคอบเมื่อได้ยินคำว่า “ชุมชนเก่านาเกลือ”

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

ใครชวนไปพัทยา อยากส่ายหน้าแทนคำตอบ แต่ต้องคิดให้รอบคอบเมื่อได้ยินคำว่า “ชุมชนเก่านาเกลือ”

ต้องอธิบายระบบการปกครองส่วนภูมิภาคก่อนว่า เมืองพัทยา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษตั้งอยู่ใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งในอำเภอเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดในพัทยา เรียก “บ้านนาเกลือ” 1 ใน 8 ตำบลของบางละมุงที่คนในชุมชนกำลังร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่น กินแบบชาวบ้าน มากกว่าจะสร้างสถานบันเทิงจนกลายเป็นแหล่งรวมตัวของนายทุนต่างชาติ

ธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (พัทยา) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เล่าว่า ปัจจุบัน อพท.กำลังพัฒนาชุมชนนาเกลือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เนื่องจากมีศาลเจ้าใหญ่น้อย วิถีชีวิตชาวประมง และเส้นทางเดินหรือเลนปั่นจักรยานให้ลัดเลาะหาชาวบ้าน

“เราได้รับการเชิญชวนจากกลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือให้เข้ามาพัฒนาบ้านนาเกลือตรงนี้ เริ่มจากจุดแรกคลองนกยาง จากคลองที่เต็มไปด้วยขยะเราได้ร่วมมือกับชาวบ้านร่วมกันเก็บขยะ ซึ่งตอนนี้คลองด้านใต้ฝั่งที่ติดกับทะเลไม่มีขยะแล้ว เหลือทางด้านเหนือฝั่งติดถนนสุขุมวิทที่ยังเหลือขยะอยู่ เรามีแหล่งดูนก และยังได้เชื่อมโยงกับกลุ่มประมงที่อาสาพานักท่องเที่ยวลงเรือไปดูวิถีประมง ตกปลา ตกหมึกด้วย” ธิติ กล่าว

“ในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของตลาดเก่านาเกลืออายุกว่า 100 ปี ที่เราพยายามฟื้นคืนชีวิตให้กลับมา แต่ยังทำไม่สำเร็จเพราะพ่อค้าแม่ขายมักเดินทางไปขายของตามงานอีเวนต์และทิ้งหน้าร้านตัวเอง พอนักท่องเที่ยวมาก็ไม่เจอของขายทำให้ไม่มีใครมาเที่ยว แต่ยังดีที่เรายังมีตลาดลานโพธิ์ที่เป็นตลาดขายอาหารทะเลสดเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ รวมทั้งตอนนี้ อพท.กำลังส่งเสริมให้นาเกลือเป็นเมืองจักรยาน และมีการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน”

“แอนนี่” อรุณี ห่อทองคำ สมาชิกชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และมัคคุเทศก์พาเที่ยวชุมชนนาเกลือ เล่าว่า ชุมชนนาเกลือเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนที่มาตั้งรกรากเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

บ้านนาเกลือ ชุมชนที่ยังหลงเหลือในพัทยา

แอนนี่ ยืนรออยู่หน้ามูลนิธิสว่างบริบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดนัดพบกับนักท่องเที่ยว และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินย้อนกลับไปสู่อดีตในชุมชนเก่าแก่ เธอเล่าว่า ชาวจีนบ้านนาเกลือได้สร้างบ้านไปพร้อมกับการสร้างศาลเจ้าเล็กๆ เพื่อเก็บรักษาและกราบไหว้เทพเจ้าที่ตัวเองนำมาจากบ้านเกิด

จากนั้นศาลเจ้าก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน ทำหน้าที่ช่วยกู้ภัยในเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุกปีทางมูลนิธิจะจัดเทศกาลกินเจต่อเนื่อง 10 วัน สืบทอดมานานกว่า 40 ปี เป็นงานประจำปีของชุมชนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก

“ในมูลนิธิเป็นที่ตั้งของโป๊ยเซียนโจวซือ ซึ่งชาวบ้านที่นี่มาขออะไรก็สำเร็จ และมีเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่กวนอิม และเหล่าซือ ให้กราบไหว้อยู่บนชั้นสอง โดยนักท่องเที่ยวจะมาจอดรถที่นี่ แล้วขึ้นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นก่อนออกเดินทาง” แอนนี่ กล่าวเพิ่มเติม

หลังจากไหว้เทพเจ้าจีนและทำบุญโลงศพเรียบร้อยตามศรัทธา ไกด์วัย 50 กว่าได้พาเดินเข้าซอยไทยสินที่สองข้างทางยังเป็นเรือนแถวเก่า 2 ชั้น ด้านบนมีระเบียงยื่นออกมา ส่วนประตูชั้นล่างยังเป็นบานเฟี้ยมแบบโบราณ แสดงให้เห็นอายุของชุมชนว่าอยู่มานานกว่า 100 ปี นับเป็นชุมชนจีนที่เก่าแก่ที่สุดในพัทยา

“สมัยก่อนคนที่นี่ทำโรงก๋วยเตี๋ยว เพาะถั่วงอก ทำเต้าหู้ ลูกชิ้นปลา ทำประมง ทำโป๊ะเรือ และที่บ้านเรายังมีป่าชายเลนขนาดกว่า 10 ไร่ เป็นป่าชายเลนผืนสุดท้ายของเมืองพัทยา” แอนนี่ เล่าข้อมูลตามที่ฟังมาจากคุณพ่อ คุณพ่อของเธอเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านนาเกลือ

บ้านนาเกลือ ชุมชนที่ยังหลงเหลือในพัทยา

“ตรงไหนคือนาเกลือ?” ผู้มาเยือนถามเพื่อตามหาที่มาของชื่อ

แอนนี่ หัวเราะก่อนเล่าตำนานที่ฟังต่อๆ กันมาว่า จากการสืบค้นยังไม่พบว่าที่นี่เคยทำนาเกลือ จึงเชื่อกันว่ามาจากคำว่า “น่ากลัว” เนื่องจากตลาดนาเกลือสมัยก่อนมีต้นไม้ใหญ่และเป็นป่าช้า เวลาชาวบ้านจากชุมชนอื่นอย่างบ้านชากแง้วหรือบ้านหนองปรือเดินทางมาค้าขาย เขาจะบอกกันว่า กลัวโดนโจรปล้น จึงมีการบอกต่อๆ กันว่า ที่นี่น่ากลัว จากน่ากลัวก็เพี้ยนมาเป็นนาเกลืออย่างในปัจจุบัน

บริเวณปากซอยไทยสิน มีสตรีทอาร์ตริมกำแพง เป็นรูปร้านก๋วยเตี๋ยวและแม่ค้าหาบเร่ที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่น ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการเร่ขายของบนบ่า แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวยังเป็นกิจการที่รุ่งเรือง มีให้เลือกอย่างน้อย 5 ร้านบนถนนสายสั้นๆ นอกจากนั้น ยังมีร้านขายยาจีน ร้านขายแจงลอน ร้านช่างลับมีดและกรรไกรตัดผมยอดนิยมของช่างซาลอน และร้านขายอุปกรณ์ทำประมงที่ตอนนี้ปรับมาเป็นร้านโชห่วยขายสากกะเบือจนเรือรบ

“ที่นี่ขายก๋วยเตี๋ยวหมูสับแต่ใส่ลูกชิ้นปลา อร่อยมาก” แอนนี่ ลากเสียงยาวในคำสุดท้าย

“ถัดไปอีกหน่อยเคยมีค่ายมวยยอดธง มีศิษย์คนดังอย่าง สามารถ พยัคฆ์อรุณ และก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ ตอนนี้ค่ายมวยยังมีอยู่ แต่ย้ายจากตรอกหลังมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ไปเปิดที่อื่นแล้ว”

เธอเล่าไปเดินไปต่อว่า ส่วนการทำประมงของชุมชนนาเกลือซบเซาลงกว่าแต่ก่อน เนื่องจากชาวบ้านออกเรือจับสัตว์ทะเลได้น้อยลง จากในอดีตคนจากชุมชนอื่นต้องมาซื้อกุ้ง หอย ปู ปลาที่ตลาดนาเกลือกลายเป็นว่าตอนนี้คนนาเกลือต้องไปซื้อจากจังหวัดอื่นมาขายแทน

บ้านนาเกลือ ชุมชนที่ยังหลงเหลือในพัทยา

“คนมาที่นี่อยากให้มาดูความเก่าแก่ของชุมชนนาเกลือ” เจ้าของร้านหนังสือเก่าแก่ทักทายระหว่างทาง

“ตึกที่นี่ยังเตี้ยๆ ทำให้มองเห็นท้องฟ้า ที่สำคัญที่นี่มีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยเยอะมาก เป็นร้านเก่าแก่ที่เปิดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ อร่อยที่น้ำซุปและลูกชิ้นปลาจากปลาแท้ๆ แนะนำให้มากินเป็นอาหารเช้าสัก 10 โมงตอนน้ำต้มกระดูกยังสดอร่อย จากนั้นก็เดินเที่ยวชุมชนไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานยาว ไปดูนกกระยางกินปลาตอนน้ำลด หรือถ้ามีเวลาไม่มาก แค่แวะมากินก๋วยเตี๋ยวที่นี่ก็ถือว่าคุ้มแล้ว”

แอนนี่ เสริมทัพว่า สมัยก่อนเหลือนกกระยางอยู่แค่ตัวสองตัว เพราะคลองนกยางที่ไหลลงทะเลเป็นคลองที่รับน้ำเสียจากเมืองพัทยา ทำให้ไม่มีอาหารให้นกมาหากิน แต่ตอนนี้มีนกกระยางมากขึ้นกว่า 10 ตัว เพราะมีห่วงโซ่อาหารที่ดีขึ้น น้ำสะอาดขึ้น กลายเป็นแหล่งดูนกกระยางตลอดปี และอาจได้ทักทายนกนางนวลบ้างตอนปลายปีด้วย

ระหว่างสังเกตพฤติกรรมนกกระยางกินเหยื่อจนน่าเบื่อ แอนนี่คนเดิมได้ยกจานขนมเปียกปูนใบเตยฝีมือชาวบ้านมาให้กินรองท้อง ก่อนจะออกเดินต่อไปยังตลาดเก่านาเกลือที่ได้ยินมาว่าร้างมานาน

ทุกวันนี้ตลาดเก่านาเกลือแทบไม่มีร้านค้าเปิดแผง นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้ออาหารทะเลจะไปจับจ่ายที่ตลาดลานโพธิ์แทน ที่นั่นมีครบทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ล็อบสเตอร์ กั้ง แมงดา แบบเป็นๆ สดๆ พร้อมมีบริการปิ้งย่างและน้ำจิ้มซีฟู้ด สามารถหิ้วอาหารไปนั่งปิกนิกใต้ต้นไม้ ที่สวนสาธารณะลานโพธิ์ โดยตลาดเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.

ด้าน บุญมา กอเซ็ม ประธานกลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลือ เล่าถึงสถานการณ์การทำประมงของชาวนาเกลือว่า ปัจจุบันสามารถจับหมึกได้มาก ซึ่งมากพอให้เลี้ยงครอบครัวได้ ส่วนซีฟู้ดที่เห็นขายในตลาดส่วนใหญ่มาจากเรือประมงท้องถิ่น เช่น หมึกไข่และหอยหวาน แต่ก็มีบ้างที่มาจากแหล่งอื่น ยกตัวอย่าง หมึกไซส์ใหญ่จากมหาชัย และปลาจากแสมสาร

บ้านนาเกลือ ชุมชนที่ยังหลงเหลือในพัทยา

“ทะเลบ้านเราเริ่มกลับมาดีเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว พอทรายดีขึ้นทำให้มีหอยมากขึ้น และพอน้ำทะเลสะอาดขึ้นก็ทำให้มีปลาและหมึกมากขึ้น โดยแต่ก่อนทะเลของเราจะได้รับผลกระทบจากท่าเรือ แต่ผลกระทบสำคัญที่สุดคือ ธรรมชาติของทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนชาวบ้านเราก็ได้ช่วยกันทำปะการังเทียม ร่วมกับหน่วยงานรัฐปล่อยลูกกุ้งแชบ๊วยลงทะเล 2 ล้านตัว และชาวบ้านเองก็ยังทำประมงพื้นบ้านทำให้ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากเกินไป”

ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดินๆ ก้มๆ เก็บหอยบนชายหาด ขบวนจักรยานได้ปั่นมาเช็กอินที่ท่าเรือใกล้ๆ ลานโพธิ์ ได้ยินมาว่า พวกเขาได้ปั่นมาเส้นเดียวกับเส้นทางเดินสำรวจชุมชนนาเกลือที่แอนนี่พามา โดยปั่นมาตามเส้นทางในแอพพลิเคชั่น Smart Pattaya Plus ซึ่งเป็นแอพฯ ที่ อพท.พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความหลากหลายในการท่องเที่ยว

เมื่อเลือกเมนู Journey จะพบเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล เส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ และเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม โดยแอพฯ จะพานักท่องเที่ยวไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยด้วยระบบเสียงนำทาง (Voice Guidance) ที่จะบอกทุกรายละเอียดในการเดินทางให้ไม่พลาดจุดหมายอย่างแน่นอน

“เราอยากให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่ชุมชนเก่านาเกลือเยอะๆ” แอนนี่ เปิดใจทิ้งท้าย

“อยากให้มาเห็นพัทยาอีกมุมหนึ่งที่แทบไม่มีฝรั่ง แต่มีคนท้องถิ่นที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอร่อยๆ ให้เลือกรับประทานได้มื้อละร้าน มีอาหารทะเลราคาไม่แพง และมีเสน่ห์ของชุมชนเก่าแก่ให้ซึมซับจิตวิญญาณของชาวนา
เกลือจริงๆ”

ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้แนะนำเส้นทางเดินสำรวจชุมชนนาเกลือเริ่มตั้งแต่มูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถานถึงตลาดลานโพธิ์มาได้ประมาณ 6 เดือน โดยนักท่องเที่ยวสามารถเปิดแอพพลิเคชั่นแล้วเดินลัดเลาะได้ด้วยตัวเอง หรืออยากเดินเที่ยวเจาะลึกกับไกด์ท้องถิ่นอย่างแอนนี่มีค่าใช้จ่ายคนละ 300 บาท เงินจำนวนนี้รวมค่าขนมเปียกปูนและกาแฟโบราณที่แอนนี่จะซื้อมาจากชาวบ้าน เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน ติดต่อแอนนี่ โทร. 08-1809-0968