posttoday

‘เกาะเขาใหญ่’ ยลปราสาทงามยิ่งใหญ่กลางอันดามัน

26 พฤษภาคม 2561

จากเขตข้ามกาลเวลา เขาโต๊ะหงาย ที่มองเห็นเกาะเขาใหญ่อยู่ไกลๆ

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

จากเขตข้ามกาลเวลา เขาโต๊ะหงาย ที่มองเห็นเกาะเขาใหญ่อยู่ไกลๆ วันนี้ถึงเวลาข้ามมาสำรวจความงามและตามหาปราสาทกลางทะเลอันดามันด้วยตาตัวเอง

เกาะเขาใหญ่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล เช่นเดียวกับเขาโต๊ะหงายที่ได้พาไปรู้จักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และยังเป็น 1 ใน 28 แหล่งธรณีวิทยาในอุทยานธรณีสตูลที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานโลก โดยองค์การยูเนสโกได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

เกาะเขาใหญ่มีลักษณะหมู่เกาะของภูเขาหินปูนกระจายอยู่กลางทะเล ตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือปากบาราและชุมชุนบ้านบ่อเจ็ดลูก ซึ่งการที่เป็นภูเขาหินปูนทำให้มีภูเขารูปร่างประหลาดจากการกัดกร่อนของน้ำฝนและน้ำทะเล

รวมทั้งยังเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญ เพราะบริเวณเกาะเขาใหญ่เคยเป็นทะเลโบราณในยุคออร์โดวิเชียน (ประมาณ 450 ล้านปีที่แล้ว เก่าแก่กว่ายุคจูราสสิก) โดยมีหลักฐานเป็นซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่พบในเนื้อหินปูน

ความงดงามทางธรรมชาติของเกาะเขาใหญ่ เพิ่งถูกโปรโมทให้เห็นผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมื่อปีที่ผ่านมา หลังการค้นพบปราสาทหินพันยอดที่มีลักษณะโดดเด่นและถูกยกให้เป็นพระเอกของเส้นทางการท่องเที่ยว

‘เกาะเขาใหญ่’ ยลปราสาทงามยิ่งใหญ่กลางอันดามัน

ฟารีดา ทุมมาลี หรือ “ก๊ะฟารีดา” ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกผู้มารับหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่นของกลุ่ม “วิสาหกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลบ้านบ่อเจ็ดลูก” เล่าให้ฟังว่า ทั้งอ่าวปากบารามีทั้งสิ้น 14 วิสาหกิจชุมชนแยกไปตามแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งได้บริหารจัดการการท่องเที่ยวในละแวกหมู่บ้านโดยคนในชุมชนเอง อย่างบ้านบ่อเจ็ดลูกก็การจัดการที่เข้มแข็งทำให้นายทุนรายใหญ่ไม่สามารถเข้ามาคุมการท่องเที่ยวที่นี่ได้

“ถามว่าก๊ะมาทำงานตรงนี้ทำไมเพราะเราเองก็มีอาชีพหลักอยู่แล้ว” เธอเป็นเจ้าของแพปลาและแม่ค้าขายอาหารทะเลทุกชนิด

“การท่องเที่ยวเป็นงานที่เหนื่อยนะสำหรับก๊ะ แต่เราทำไปเพราะใจรัก ถ้าไม่รักคงทำไม่ได้”

ก๊ะฟารีดากล่าวด้วยว่า การท่องเที่ยวยังทำให้คนในชุมชนอยากเรียนรู้เรื่องธรณีวิทยา เรียนรู้เกี่ยวกับซากฟอสซิล และที่สำคัญที่สุด การท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านรักธรรมชาติ และหวงแหนทรัพยากรของบ้านเกิดมากขึ้น

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่บ้านบ่อเจ็ดลูกสนใจเรื่องธรณีวิทยามาก มีความกล้าแสดงออก และกล้ามาเป็นไกด์ท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะที่บ้านเกิดของตัวเองเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งก๊ะอยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่มาทำลาย แต่อยากให้รักเหมือนที่เรารัก และก๊ะอยากให้เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นหน้าที่ของทุกคนทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว”

‘เกาะเขาใหญ่’ ยลปราสาทงามยิ่งใหญ่กลางอันดามัน

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวเกาะเขาใหญ่จะเริ่มต้นทริปด้วยการนัดหมายนักท่องเที่ยวมาพบกันที่ “ท่าเรือบ้านบ่อเจ็ดลูก” เนื่องจากเป็นท่าเรือที่สะดวกที่สุด ไม่ว่าน้ำทะเลจะขึ้นหรือลงก็สามารถขึ้นเรือได้สะดวกตลอดเวลา

เรือไม้ลำย่อมบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ 10-12 คน พร้อมไกด์ท้องถิ่น 1 คน และคนพายเรือคายัก โดยคายักจะถูกผูกพ่วงไปกับเรือใหญ่ไว้สำหรับใช้เป็นพาหนะเข้าสู่ปราสาทและแหล่งท่องเที่ยว

“ยูยะ” ไกด์ท้องถิ่นสาวที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยด้านการท่องเที่ยวมาหมาดๆ เล่าบรรยายขณะที่เรือกำลังแล่นออกจากท่าว่า จุดแรกที่เรือมุ่งหน้าไปคือ “ทะเลแหวกสันหลังมังกร” แต่บางวันอาจไม่เห็นเพราะขึ้นอยู่กับระดับน้ำทะเล หากวันที่น้ำทะเลขึ้นทำให้สันหลังมังกร “หลับ” ก็จะไม่เห็นแนวสันทราย แต่หากน้ำทะเลลงสันหลังมังกร “ตื่น” ก็จะเป็นจุดที่แวะชมความสวยงามทางธรรมชาติเป็นจุดแรก

ระหว่างทางยูยะยังชี้ให้ดู “ผาใช้หนี้” พร้อมเล่าตำนานที่มาที่ไปของชื่อสุดแปลกนี้ว่า

“มีผู้ชายคนหนึ่งติดหนี้ไม่มีปัญญาจ่าย เจ้าหนี้จึงบอกให้เขาไปปีนหน้าผา ถ้ารอดชีวิตแล้วจะยกหนี้ให้ แต่ก่อนปีนชายผู้นั้นได้ขอ 2 อย่างคือ กริช และเครื่องร่อนที่ทำด้วยใบจากและทางมะพร้าว จากนั้นเขาได้ปักกริชตามซอกหินแล้วปีนขึ้นไป เมื่อถึงยอดแล้วก็อาศัยทิศทางลมใช้เครื่องร่อนร่อนลงมา ปรากฏว่าสามารถรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้ เจ้าหนี้จึงยกหนี้ให้กลายเป็นที่มาที่ไปของผาใช้หนี้ ซึ่งใกล้ๆ กันยังมีหาดศิลา โดยมีตำนานสืบเนื่องกันมาว่า หลังจากร่อนลงมาแล้ว ชายผู้คนได้ไปนั่งขัดสมาธิบนหาด ภาษามลายูเรียกว่า นั่งสีหล่า จึงกลายเป็นชื่อว่า หาดศิลา ดังในปัจจุบัน”

จากนั้นเรือใหญ่ได้แล่นต่อไปผ่านภูเขาหินปูนน้อยใหญ่ ก่อนจะลดความเร็วแล้วไปหยุดอยู่หน้าประตูปราสาทแห่งเดียวกลางทะเลอันดามัน “ปราสาทหินพันยอด” ก๊ะฟารีดาชี้ให้ดูประตูทางเข้าปราสาท 3 บาน ลักษณะเป็นช่องโหว่ของภูเขาหินปูนที่กว้างพอให้เรือคายักลอดผ่านเท่านั้น

ว่าแล้วก๊ะก็ปลดคายักให้หลุดพันธนาการแล้วพายมาเทียบกราบเรือใหญ่เพื่อขนถ่ายนักท่องเที่ยวลำละ 2 คน ไปสู่ปราสาท ยูยะ ไกด์คนงามก็เปลี่ยนมาทำหน้าที่พายคายักอีกลำ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มีฝีมือการพายก็สามารถพายคายักเองได้ ไม่อันตราย เพราะบริเวณนั้นแทบไม่มีคลื่นใหญ่และทางเข้าปราสาทก็ไม่อันตรายสำหรับมือใหม่หรือมือสมัครเล่น

‘เกาะเขาใหญ่’ ยลปราสาทงามยิ่งใหญ่กลางอันดามัน

เมื่อเข้าไปใกล้ยิ่งเห็นรายละเอียดและความยิ่งใหญ่ของปราสาทหินปูนยอดแหลม ประหนึ่งสถาปัตยกรรมสไตล์กอธิกแบบตะวันตกอย่างไรอย่างนั้น และเมื่อพายลอดเข้าไปก็ยิ่งอลังการตรึงตรา นึกว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงเดินพรมแดงเข้าปราสาท ด้านในเป็นลากูนสีเทอร์ควอยส์งามตา ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมสมชื่อปราสาทหินพันยอด ซึ่งเมื่อเวลาน้ำทะเลลงภายในปราสาทจะเผยให้เห็นหาดทรายด้านใน แต่ถ้าวันใดที่น้ำทะเลขึ้นเหมือนวันที่ไป นักท่องเที่ยวก็สามารถว่ายน้ำเล่นได้เหมือนมีสระว่ายน้ำกลางทะเล

ยูยะ ทำหน้าที่บรรยายการเกิดของปราสาทแห่งนี้ว่า เมื่อหลายล้านปีก่อนน้ำใต้ดินได้กัดเซาะและละลายหินปูนที่อยู่ใต้ดินจนเกิดเป็นรูโพรงมากมาย ขนาดของโพรงได้ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อมกันเป็นโพรงใหญ่ ต่อมาหินปูนถูกยกตัวขึ้นตามการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ทำให้กลายเป็นเทือกเขาหินปูนเกาะเขาใหญ่ จากนั้นเพดานของโพรงที่อยู่ในหินปูนถูกน้ำฝนกัดเซาะจนบางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งรับน้ำหนักไม่ไหวจึงเกิดการยุบตัวลงมากลายเป็นหลุมยุบในภูเขา ซึ่งก็คือบริเวณปราสาทหินพันยอดในปัจจุบัน

“ปราสาทหินพันยอดเป็นเกาะหินปูน ซึ่งหินปูนมีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้ หินปูนที่ละลายน้ำได้ง่ายจะถูกละลายไปอย่างรวดเร็วทำให้เห็นเป็นร่องลึก ส่วนหินปูนที่ละลายน้ำได้ยากกว่าจะมีความคงทนทำให้มองเห็นเป็นส่วนยอดแหลม เป็นคำตอบว่าทำไมปราสาทหินพันยอดจึงมียอดแหลมคม” ไกด์สาวกล่าวเพิ่มเติม

หลังจากเก็บภาพและเก็บความทรงจำจนเต็มอิ่ม และก่อนที่น้ำทะเลจะขึ้นสูงจนปิดปากประตูทางเข้า คายักในปราสาทได้ทยอยออกไปขึ้นเรือใหญ่เพื่อยังไปจุดต่อไปที่ “อ่าวหินงาม” โดยต้องเปลี่ยนถ่ายมาลงคายักอีกเช่นกันเพราะเรือใหญ่ไม่สามารถแล่นเข้าไปเทียบท่าได้เนื่องจากโขดหินใต้ทะเล

ก๊ะฟารีดา เล่าขณะที่กำลังพายคายักให้ฟังว่า ลักษณะหินบนอ่าวหินงามไม่ต่างจากเกาะหินงามที่หลีเป๊ะ แต่ที่นี่ไกด์ทุกคนจะถูกกำชับว่า ห้ามให้นักท่องเที่ยวเรียงหินหรือนำหินกลับบ้านเป็นอันขาด เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้คงเดิม ซึ่งนอกจากหินกลมมนดูสวยงาม บนอ่าวหินงามยังมีร่องรอยของคลื่นทะเลโบราณปรากฏบนเนื้อหิน และร่องรอยของการชนกันของแผ่นแปลกโลกจากหินที่มีลักษณะโค้งงอแต่ไม่แตกหักซึ่งน่าอัศจรรย์

‘เกาะเขาใหญ่’ ยลปราสาทงามยิ่งใหญ่กลางอันดามัน

ร่องรอยดึกดำบรรพ์ที่เห็นยังไปพ้องกับจุดสุดท้ายคือ “สุสานฟอสซิล” แหล่งค้นพบซากฟอสซิลนอติลอยด์ อายุกว่า 450 ล้านปี จัดเป็นสัตว์ในชั้นเดียวกับหมึก หมึกยักษ์ และหอยงวงช้าง (นอติลุส) ที่พบบนเกาะเขาใหญ่นั้น มีทั้งฟอสซิลนอติลอยด์ตัวตรงและม้วนขดเกลียวเป็นวง เมื่อสังเกตจะเห็นลำตัวและช่องเล็กๆ แบ่งกั้นในลำตัว คาดว่าช่วยในการเคลื่อนที่ขึ้นลงในน้ำ ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกดัดแปลงมาใช้ในการออกแบบเรือดำน้ำด้วย

ทั้งรอยคลื่นทะเลโบราณ ซากฟอสซิลนอติลอยด์ และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าแผ่นดินสตูลเคยเป็นทะเลโบราณอายุ 495-470 ล้านปีมาก่อน นอกจากหลักฐานในยุคออร์โดวิเชียน สตูลยังมีซากฟอสซิลอีก 5 ยุค ครบทั้งหมด 6 ยุคในมหายุคพาลีโอโซอิกซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และกลายเป็นจุดเด่นทางธรณีวิทยาทำให้สตูลกลายเป็นอุทยานธรณีโลก

วันเดย์ทริปสิ้นสุดที่สุสานฟอสซิล หลังจากนั้นเรือใหญ่จะพาไปรับประทานอาหารกลางวันบนแพปลา กับเมนูซีฟู้ดทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา โดยระหว่างมื้ออาหารนั้น ก๊ะฟารีดาได้เล่าให้ฟังว่า ค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวจ่ายมาจะถูกจัดสรรไปยังชาวบ้านทั้งค่าเรือคายัก ค่าเสื้อชูชีพ และค่าเรือหางยาวที่ล้วนเช่ามาจากชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก รวมถึงยังแบ่งไปที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และกำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำเงินไปบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวในชุมชน

การท่องเที่ยวจึงไม่เพียงสร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แต่ยังลงไปถึงชาวบ้านให้มีรายได้เสริมจากการทำประมง ส่วนนักท่องเที่ยวก็ไม่เพียงได้รับความสุขความเพลิดเพลิน แต่ยังได้ความรู้ทางธรณีวิทยาและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการบอกเล่าและความหวงแหนที่สะท้อนออกมาจากไกด์ท้องถิ่น เหมือนกับที่ก๊ะฟารีดาพูดตั้งแต่นาทีแรกที่เจอกันว่า

“อยากให้นักท่องเที่ยวรักเหมือนที่เรารัก” ซึ่งสุดท้ายก็รู้สึกรักและอยากอนุรักษ์สตูลจริงๆ &O5532;