posttoday

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’

10 กุมภาพันธ์ 2561

แทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากในการไปเที่ยว “เมืองดาลัต” เช่นเดียวกับเงินในกระเป๋าที่ไม่ต้องพกไปมากเพราะไม่จำเป็น

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

แทบไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากในการไปเที่ยว “เมืองดาลัต” เช่นเดียวกับเงินในกระเป๋าที่ไม่ต้องพกไปมากเพราะไม่จำเป็น

ทริปที่เดินทางด้วยเครื่องบินจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับตั๋วเครื่องบินเป็นหลัก หากคุณสามารถกดตั๋วโปรฯ บินตรงไป-กลับ กรุงเทพฯ-ดาลัต ประเทศเวียดนาม ได้ในราคา 3,000 บาทต้นๆ เป็นไปได้ว่าทริป 3 คืน 4 วัน จะทำให้คุณเสียเงินค่าที่พัก เที่ยว และกินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ถึง 1 หมื่นบาท

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ บาร์เก็ตกรอบนอกนุ่มใน

อย่างที่เกริ่นว่า ไปเที่ยวดาลัตด้วยตัวเองไม่ต้องเตรียมตัวมากมาย เพราะเวียดนามไม่ต้องทำวีซ่า และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ก็เปิดเส้นทางบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิสู่เมืองดาลัต ใช้เวลาบินราว 1 ชั่วโมง 45 นาที ทำให้สะดวกสบายกว่าสมัยก่อน ตรงที่ไม่ต้องลงเครื่องที่โฮจิมินห์แล้วนั่งรถนอนต่อมาอีก 5 ชั่วโมง

จากนั้นควรแลกเงินดอลลาร์สหรัฐจากไทยเพื่อไปแลกเป็นเงินเวียดนามด่องที่ปลายทาง แต่มีข้อแนะนำอยู่ว่า หากคุณเดินทางไปถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการของที่นั่น ต้องแลกเงินเวียดนามด่องจากไทยติดตัวไปให้เพียงพอจนกว่าจะถึงวันทำการ (จันทร์-ศุกร์) เพราะดาลัตยังไม่มีร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรามากมายเหมือนโฮจิมินห์หรือฮานอย แม้กระทั่งสนามบินดาลัตเองก็ยังไม่มีบริษัทไหนหรือธนาคารใดมาเปิดโต๊ะให้บริการ จึงมีแต่ธนาคารและโรงแรมบางแห่งเท่านั้นที่รับแลกเงิน

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ ทะเลสาบซวนฮวงกลางใจเมือง

พูดถึงธนาคารก็มีเรื่องให้แนะนำต่อว่า ด้วยอิทธิพลของฝรั่งเศสในอดีตที่ส่งผลถึงวัฒนธรรมคนเวียดนามในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารหยุดทำการช่วงกลางวัน ตั้งแต่ 11.30-13.30 น. ระวังอย่าหลงไปยืนรอเก้อในช่วงเวลานี้ และควรแลกเงินแต่พอดี เพราะจะนำเงินด่องมาแลกเป็นดอลลาร์กลับไม่ได้

ส่วนเรื่องที่พักมีให้เลือกหลายรูปแบบ ตั้งแต่แอร์บีเอ็นบี โฮสเทล เกสต์เฮาส์ โรงแรมระดับกลางไปจนถึงห้าดาว โดยส่วนใหญ่จะอยู่รายล้อมทะเลสาบซวนเฮือง หรืออยู่ละแวกตลาดดาลัต ซึ่งจ่ายคืนละ 20 ดอลลาร์ ก็สามารถได้ห้องพักกว้าง สะอาด และอยู่ในทำเลที่ว่ามาแล้ว

เมื่อตั๋วพร้อม เงินพร้อม ที่พักพร้อม ก็ขอกระโดดไปแตะรันเวย์ที่สนามบินดาลัต ลักษณะเป็นสนามบินขนาดเล็กเหมือนสนามบินน่านบ้านเรา และตั้งอยู่อีกจังหวัดเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิอยู่สมุทรปราการ การเดินทางเข้าสู่เมืองดาลัตจึงใช้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที โดยมี 2 วิธีให้เลือกคือ นั่งรถโดยสารสาธารณะจากสนามบินเข้าเมือง ราคาคนละ 4 หมื่นด่อง (วิธีคิดเป็นเงินไทยให้ตัดเลขศูนย์ 3 ตัวท้ายออกแล้วคูณด้วย 1.5) หรือประมาณ 60 บาท ซึ่งวิธีนี้รถโดยสารจะไม่ไปส่งถึงโรงแรม แต่จะไปจอดที่ท่ารถ และไม่มีเวลาออกชัดเจน

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ โดมกระจกรูปทรงดอกทานตะวันป่า สัญลักษณ์ของดาลัต

อีกวิธีสะดวกสบายแต่แพงกว่าคือ เรียกแท็กซี่ให้ไปส่งถึงโรงแรม หากโรงแรมคุณอยู่ละแวกทะเลสาบ จะตกราคาประมาณ 2.2 แสนด่อง หรือ 330 บาท ซึ่งถ้าไม่อยากเสี่ยงถูกต้อนรับด้วยการโกงมิเตอร์ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากสนามบิน ให้บอกแท็กซี่ไปว่าจะจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ ซึ่งหนแรกคนขับอาจตั้งราคาสูงถึง 20 ดอลลาร์ ก็ขอให้ใจแข็งและต่อรองหนักแน่น พร้อมยืนยันไปว่าได้สอบถามค่าเดินทางกับทางโรงแรมมาแล้ว และยืนยันจะจ่าย “10 ดอลลาร์” เท่านั้น

เมื่อทุกอย่างราบรื่น เช็กอินเสร็จสรรพ กิจกรรมสำหรับวันแรกคงไม่มีอะไรดีไปกว่าหาของกิน ดื่มกาแฟ และเดินสำรวจเมือง เรื่องอาหารการกินของเมืองดาลัตค่อนข้างต่างจากเมืองหลวง อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีทำให้คนที่นี่นิยมกินแป้ง ไขมัน และเฝอร้อนๆ ใครที่ตั้งใจมากินขนมเบื้องญวนหรือแหนมเนืองสูตรต้นตำรับแท้อาจต้องผิดหวัง เพราะหลังจากสำรวจร้านอาหารมามากกว่า 10 ร้านใน 4 วัน ก็ยังไม่เจอ 2 เมนูนี้

ส่วนขนมปังฝรั่งเศสหรือบาร์เก็ตที่นิยมกินเป็นอาหารเช้าแบบเร่งด่วน จะมีเป็นร้านรถเข็นขายเห็นเกลื่อนกลาดตลอดวัน พร้อมสารพัดไส้ให้เลือกใส่ทั้งชีส หมูหย็อง แฮม ไส้กรอก ไข่ดาว (แบบทอดให้เห็นกันใหม่ๆ) สารพัดผัก และสารพัดซอส ราคาต่อชิ้นประมาณ 1-1.5 หมื่นด่อง โดยจากที่ลองมาหลายรถเข็นต้องบอกว่าขนมปังฝรั่งเศสทุกร้านกรอบนอกนุ่มใน ยิ่งร้านไหนอังไฟให้ก็ยิ่งอร่อยเลิศ

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ สวนสาธารณะริมคลองระบายน้ำและเสาส่งสัญญาณทรงหอไอเฟล

สำหรับคอกาแฟ ดาลัตมีตั้งแต่ร้านโต๊ะนั่งยองแบบบ้านๆ ไปจนถึงร้านแฟรนไชส์รุ่นใหม่อย่าง วินด์มิลส์ คอฟฟี่ (Windmills Coffee) ร้านขวัญใจวัยรุ่นดาลัต เพราะไม่เน้นขายกาแฟร้อนแบบดั้งเดิม แต่ใช้เครื่องทำกาแฟทันสมัยและมีเมนูกาแฟแบบที่คนไทยคุ้นเคย ส่วนร้านกาแฟเก่าแก่ขวัญใจคนท้องถิ่นต้องยกให้ คาเฟ่ ตุ่ง (Café Tung) ร้านสุดคลาสสิกด้วยโซฟาหนังมันวับ เปิดเพลงเวียดนามเสียงดังจนแก้วสั่น และควันบุหรี่โขมงม้วนเกลียวเสมือนคาเฟ่ในหนังคาวบอย

หากถามนักท่องเที่ยวด้วยกันถึงแหล่งร้านอาหาร คงชักชวนกันไปไนท์มาร์เก็ตหรือตลาดกลางคืนที่จะคึกคักหลังพระอาทิตย์ตก เรียงรายไปด้วยร้านขายน้ำเต้าหู้ ขนมปัง ของทอด เฝอ สลับกันไปหลายสิบร้านแต่ซ้ำเมนู แต่อีกเสียงเมื่อถามคนท้องถิ่น เขากลับ “ไม่แนะนำ” ให้ไปกิน เพราะราคาแพง ไม่อร่อย และไม่ค่อยสะอาด จึงแนะนำให้เข้าตามร้านอาหารบ้านๆ เลือกร้านที่มีคนดาลัตกินมากๆ แล้วเปิดใจเข้าไปนั่งยองกินร่วมโต๊ะกับคนท้องถิ่น วิธีสั่งก็แค่ชี้ตามสิ่งที่คนข้างๆ กิน ก็จะได้กินของอร่อยและราคาเดียวกับคนดาลัต

อย่างร้านที่คนท้องถิ่นแนะนำคือ ร้านขายบั๊นกัน (Banh Can) หน้าตาเหมือนขนมครกบ้านเราแต่เป็นอาหารคาว ทำจากแป้งผสมไข่นกกระทา เสิร์ฟ 5 คู่ 10 ฝา มาพร้อมน้ำจิ้มหนึ่งถ้วยใหญ่ มีมะม่วงเปรี้ยว หมูสับปั้นก้อน และหอมแดงเจียวลอยละล่องเสริมรสและความหอม ปักหมุดร้านดังชื่อ Nha Chung ตั้งอยู่ซอยข้างๆ วิหารดาลัต และในร้านเดียวกันยังมีน้ำเต้าหู้ร้อนขาย ต้องดื่มควบคู่กันไปเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ บ่อน้ำสะท้อนภาพโดมอาร์ติโชคยามค่ำคืน

ผ่านเรื่องกินไป ยังไม่ไปถึงเรื่องเดินสำรวจเมือง คำว่าเมืองสามารถแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งตลาดดาลัตและฝั่งบิ๊กซี โดยฝั่งตลาดมีบรรยากาศดั้งเดิมและคึกคักในช่วงเช้าตรู่และกลางคืน แบ่งเป็นช่วงเช้า คือช่วงเวลาของชาวดาลัตที่จะออกมาซื้อของสดที่ตลาด ส่วนช่วงค่ำ คือช่วงเวลาของนักท่องเที่ยวที่จะออกมาจับจ่ายซื้อของฝากตามร้านแผงลอย

ของฝากขึ้นชื่อคงหนีไม่พ้น ชาอาร์ติโชค (Artichoke) ขายเป็นซองสำเร็จรูปทำจากส่วนลำต้น ใบ และกลีบดอก ตากแห้งอบและสับละเอียด ซึ่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในที่ที่อากาศเย็นตลอดปี และนับเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลจากฝรั่งเศส เพราะมันเป็นพืชต่างถิ่นที่นิยมปลูกในเมืองน้ำหอม

ส่วนอีกฝั่งขอเรียกว่าฝั่งบิ๊กซี อยู่ตรงข้ามอีกฟากของทะเลสาบเป็นที่ตั้งของซูเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่แห่งเดียวในดาลัต สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ยังต้องสร้างไว้ใต้ดิน ไม่ผิดไปจากโรงแรมมหึมาที่ไม่มีอาคารสูงหลายสิบชั้นให้เห็นเกะกะตาแม้แต่ที่เดียว

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ ตลาดดาลัต

นอกจากนี้ หลังคาของบิ๊กซีได้กลายเป็นลานอเนกประสงค์ของวัยรุ่นและครอบครัว โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ลานกว้างจะเต็มไปด้วยเด็กวิ่งไล่จับ วัยรุ่นไถลสเก็ตบอร์ดเล่นกัน และแม่ค้าหาบเร่ก็มาตั้งขายน้ำเต้าหู้สลับร้านปิ้งย่าง เป็นบรรยากาศคึกคักจนอดคิดถึงสยามสแควร์สมัยยังมีลานน้ำพุอยู่ไม่ได้ รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของ 2 แลนด์มาร์คใหม่ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมือง

หนึ่งคือ ร้านกาแฟชื่อโดฮา สถาปัตยกรรมทำจากกระจกกึ่งใสสีเขียวเข้ม รูปทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกอาร์ติโชค ด้านในเป็นร้านกาแฟทันสมัยสองชั้น ราคาสูง ไว-ไฟฟรี เห็นมีวัยรุ่นมานั่งเปิดโน้ตบุ๊กทำงาน บรรยากาศเหมือนร้านกาแฟเงือกเขียวที่คนไทยนิยม และสอง โดมกระจกเหนือห้างบิ๊กซี เป็นโดมใหญ่สีเหลืองได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกทานตะวันป่า ภายในเป็นบันไดทางลงไปสู่ห้าง ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น โดยดอกไม้ทั้งสองชนิดเป็นสัญลักษณ์ของดาลัต ซึ่งตอนนี้มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความโมเดิร์นไปแล้ว ทำให้ฝั่งนี้ดูเป็นเมืองที่กำลังเติบโตไปสู่สมัยใหม่ ต่างจากอีกฝั่งที่เก็บความดั้งเดิมไว้ จึงทำให้เมืองดาลัตน่าค้นหากว่าเดิม

สูดกลิ่นหอมใหม่แห่ง ‘ดาลัต’ แม่ค้าขายผลไม้ยามเช้าที่ตลาดดาลัต

ดาลัตเป็นเมืองในจังหวัดเลิมด่งทางภาคใต้ของเวียดนาม แต่มีอากาศหนาวเย็นเหมือนภาคเหนือ เพราะอยู่บนที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,500 เมตร และถูกโอบล้อมด้วยภูเขา ด้านวัฒนธรรมของผู้คนและระบบเมืองหลายอย่างได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส (เวียดนามเคยถูกฝรั่งเศสปกครอง) ทั้งบาร์เก็ต การหยุดทำงานช่วงกลางวัน การนับถือศาสนาคริสต์ และผังเมืองที่แบ่งเป็นบล็อก ขนาดเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ยังสร้างเป็นหอไอเฟล จึงไม่แปลกที่มีคนขนานนามให้ดาลัตเป็นปารีสแห่งเวียดนาม

การสำรวจตัวเมืองดาลัตสามารถใช้วิธีเดิน แต่หากอยากสำรวจแหล่งท่องเที่ยวใกล้ตัวเมือง แนะนำให้ซื้อทัวร์แบบวันเดย์ทริป ซึ่งจะขอยกยอดไปเขียนถึงในสัปดาห์ต่อไป และขอทิ้งท้ายไว้เป็นกระษัยว่า ค่าทัวร์ไม่ถึง 300 บาท แต่เก็บได้ถึง 7 แหล่งท่องเที่ยว!