posttoday

ภาพเก่าวัดมังกรกมลาวาส เยาวราช

01 เมษายน 2560

ได้เห็นภาพ 2 ภาพในเฟซบุ๊กของ Disapong Netlomwong ที่ทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์และการพิพิธภัณฑ์โดยตรง

โดย...โสภิตา สว่างเลิศกุล ภาพ : เฟซบุ๊ก Disapong Netlomwong

 ได้เห็นภาพ 2 ภาพในเฟซบุ๊กของ Disapong Netlomwong ที่ทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์และการพิพิธภัณฑ์โดยตรง และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาพถ่ายเก่าแก่ ตั้งแต่เริ่มมีกล้องถ่ายภาพเข้าในสยามหรือประเทศไทย

 ภาพของวัดมังกรกมลาวาส เยาวราช ซึ่งถ่ายไว้ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 หรือต้นรัชกาลที่ 6 มีความเก่าแก่ร้อยกว่าปีมาแล้ว

 อย่างที่ว่าภาพถ่าย 1 ภาพ สามารถสะท้อนมุมมองของคนในยุคนั้น และได้เห็นบรรยากาศของอดีตที่แช่แข็งภายใต้ภาพถ่ายนั้นอย่างไม่มีวันลบเลือน ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการสืบค้นชีวิตความเป็นอยู่และความจริงต่างๆ ที่ปรากฏในภาพ จากปัจจุบันที่แปรเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

 สำหรับวัดมังกรกมลาวาส ซึ่งยังมีศาสนพิธีของพุทธศาสนาจีนนิกายอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีความร่วมสมัยและคงความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลาถึง 146 ปีเข้าไปแล้ว เป็นศูนย์กลางเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานของคณะสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย มีความเก่าแก่และมีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเยาวราช ศูนย์รวมของคนไทยเชื้อสายจีน ผู้คนจึงนิยมเข้าไปสักการบูชาทวยเทพธรรมบาลด้วยความศรัทธาและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเป็นจำนวนมาก

 หน้าประตูวัดมีป้ายจารึกชื่อวัดเป็นภาษาไทยว่า "ทรงพระราชทานนามวัดมังกรกมลาวาส" และมีป้ายสีแดงภาษาจีนทำจากไม้ที่เป็นลายมือของพระอาจารย์สกเห็ง (เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด) ประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายแขวนคำโคลงคู่      

 - ป้ายด้านซ้ายมือ หมายความว่า "มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้"

 - ป้ายด้านขวา หมายความว่า "ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา"

 โคลงนี้เป็นโคลงที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยจักรพรรดิกวงซื่อ ใน ค.ศ. 1879 และถือได้ว่าเป็นงานศิลปะด้านการเขียน ลายมือจีนที่มีค่ามากชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีป้ายที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 100 ปี ที่กล่าวถึงปรัชญาต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง

 การก่อสร้างวัดนี้มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกที่ตั้งวัดเนื้อที่ 4 ไร่ 18 ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 8 ปี จึงแล้วเสร็จ ให้ชื่อว่า เล่งเน่ยยี่ ซึ่งคำว่า เล่ง แปลว่า มังกร เน่ย แปลว่า ดอกบัว และ ยี่ แปลว่า อาราม วัด

ภาพเก่าวัดมังกรกมลาวาส เยาวราช

 สถาปัตยกรรมของวัดมังกรกมลาวาสนั้น มีการวางผังตามแบบสถาปัตยกรรมจีนพื้นถิ่นทางตอนใต้ของจีน โดยมีลักษณะแบบสกุลช่างแต้จิ๋วเป็นหลักการวางผัง ถือตามแบบวัดในพุทธศาสนานิกายมหายาน

 ตัวอาคารจะวางผังล้อมลาน เรียกว่า ซี่เตี่ยมกิม เป็นแบบเฉพาะของอาคารพื้นถิ่นแต้จิ๋ว การจัดวางวิหารถือตามแบบวัดหลวง โดยมีวิหารจตุโลกบาล เป็นวิหารแรก อุโบสถอยู่กลางด้านหลัง อุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์

 ส่วนวิหารอื่นๆ อยู่ประกอบสมดุลซ้ายขวา กลุ่มอาคารทั้งหมดประกอบด้วยอิฐและไม้เป็นโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาอุโบสถและวิหารจตุโลกบาลแสดงโครงสร้าง ขื่อ คาน ตามแบบสกุลช่างแต้จิ๋วอย่างสวยงาม

 หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบเป็นลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อแบบจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงามเช่นกัน

 ภายในอุโบสถของวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า และ วิหารด้านหน้า ประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลข้างละ 2 องค์ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายแบบนักรบจีน

 ส่วนด้านข้างเป็นเทพเจ้าตามความเชื่อของ ลัทธิเต๋าและเทพเจ้าพื้นเมืองของจีน เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี๊ยะ) เทพเจ้าแห่งยา (เซียงซือกง) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ) และยังมีรูป 18 พระอรหันต์ตั้งอยู่ทั้งสองข้างของวิหาร ซึ่งรวมเทพเจ้าได้ทั้งหมด 58 องค์

 พ.ศ. 2507 มีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยใช้โมเสกติดผนังทั้งหมดและพื้นขัดหินอ่อน หลังจากนั้นได้สร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรมสูง 9 ชั้น เพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะสงฆ์จีนเป็นล้นพ้น อีกทั้งเพื่อเป็นกิตติยานุสรณ์เฉลิมพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี 4 เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2520

 อีกไม่นาน บริเวณวัดจะมีสถานีวัดมังกรกมลาวาส ซึ่งเป็นโครงการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค โดยได้ระบุที่ตั้งสถานีและจุดขึ้น-ลงสถานีอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 16 (ตรอกอิสรานุภาพ หรือตรอกเล่งบ๊วยเอี้ย)