posttoday

พม่าศรัทธาที่ไม่สร่าง สร้างวัฒนธรรม‌ให้แข็งแกร่ง

14 มิถุนายน 2557

หากพูดถึงประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนา‌ประจำชาติ ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศไทย

หากพูดถึงประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนา‌ประจำชาติ ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศไทย ‌แน่นอนว่าหลายคนจะนึกถึงประเทศพม่าเป็นอันดับต้นๆ ‌เพราะนับตั้งแต่ประเทศนี้เปิดประเทศ ก็มีคนไทยเดินทางไป‌ท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและ‌วัฒนธรรม ที่มีความใกล้เคียงกันกับของไทย

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือที่คนไทยคุ้น‌เคยกันในชื่อของ “ประเทศพม่า” เป็นประเทศที่มีความ‌สัมพันธ์กับประเทศไทย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และ‌วัฒนธรรมมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทาง‌ด้านศาสนา ประชากรชาวพม่ากว่าร้อยละ 90 นับถือศาสนา‌พุทธ ซึ่งมีการบัญญัติให้ศาสนานี้เป็นศาสนาประจำชาติ‌เมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา

ศาสนาพุทธเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนแถบนี้ในปี ‌พ.ศ. 236 เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การ‌สังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 3 และได้ส่งพระสมณทูตเข้า‌มาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในดินแดนสุวรรณภูมิ ‌ครานั้น มีสมณทูตคณะหนึ่ง มีพระโสณเถระและพระอุต‌ตรเถระเป็นหัวหน้าคณะ เดินทางมาเผยแผ่พระธรรมคำ‌สอนที่เมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของดินแดนสุวรรณภูมิ ‌ตามความเชื่อของชาวพม่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาสนา‌พุทธในดินแดนแถบนี้เจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายไปทั่วดิน‌แดนสุวรรณภูมิ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่พาดผ่านแหลมมลายูไป‌กระทั่งถึงเกาะชวา

พม่าศรัทธาที่ไม่สร่าง สร้างวัฒนธรรม‌ให้แข็งแกร่ง

 

ในสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่ง‌อาณาจักรพุกาม ซึ่งเป็นผู้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ ให้เป็น‌หนึ่งเดียว และยังทรงเลื่อมใสศรัทธาศาสนาพุทธนิกายเถร‌วาทเป็นอย่างมาก จึงสั่งให้มีการสร้างพุทธสถานมากมาย‌ในสมัยนั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ศาสนาพุทธมีบทบาทในดิน‌แดนพม่ามากระทั่งถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันในประเทศพม่ามีวัดมากกว่า 4 หมื่นแห่ง มีพระภิกษุและสามเณรกว่า 5 แสนรูป ซึ่งชาวพม่าให้ความยอมรับนับถือพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างมาก มากไปกว่านั้นพระสงฆ์ยังมีบทบาทในการเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพม่ามาช้านาน ซึ่งมีพัฒนาการมาจากการที่พระสงฆ์มีส่วนสำคัญในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างราชวงศ์และประชาชนมาก่อนนั่นเอง

พม่าศรัทธาที่ไม่สร่าง สร้างวัฒนธรรม‌ให้แข็งแกร่ง

 

ประเทศพม่านั้นมีวัดวาอารามอยู่มากมาย แต่มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีความยิ่งใหญ่ สวยงาม และที่สำคัญคือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ แน่นอนว่าพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองนั้น มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาย่อมอยู่เหนือกว่าสิ่งมีค่าทั้งปวง ซึ่งชาวพม่ามุ่งมั่นที่จะทำนุบำรุงสถานที่แห่งนี้มากกว่าชื่นชมความงดงามแต่เพียงภายนอก ดังจะเห็นได้จากทุกๆ เช้าและเย็นจะมีอาสาสมัครหนุ่มสาวและคนแก่มาช่วยกันกวาดและถูพื้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา มากไปกว่านั้น พุทธศาสนิกชนชาวพม่าให้ความเคารพวัดเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากหนุ่มสาวไปจนถึงคนแก่จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองมิดชิด และห้ามใส่รองเท้าเข้าในวัดโดยเด็ดขาด ดังนั้นหากใครที่ได้มีโอกาสไปเยือนพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองจะต้องแต่งกายเรียบร้อย และเลือกไปในเวลาที่เหมาะสม นั่นก็คือในช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะอากาศไม่ร้อน ทำให้เวลาเดินด้วยเท้าเปล่าไม่ลำบากจนเกินไป

หลายปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวในพม่า รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทย จนทำให้มีหลายสายการบินเปิดเส้นทางท่องเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยไปยังเมืองต่างๆ ซึ่งมัณฑะเลย์เป็นอีกหนึ่งปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทย นั่นเป็นเพราะเมืองนี้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า เสน่ห์ของเมืองนี้คืออดีตอันเฉิดฉาย เมื่อครั้งที่พม่ายังมีระบอบกษัตริย์ ซึ่งพระเจ้ามินดงเป็นผู้สร้างเมืองมัณฑะเลย์ขึ้น และยังเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ที่มีความต้องการให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนาพุทธ จึงมีรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นมากมาย รวมถึงสถาบันศึกษาสงฆ์ ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า พระสงฆ์ในเมืองมัณฑะเลย์มีจำนวนคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนพระสงฆ์ทั้งประเทศ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าที่เมืองนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ศึกษาพระธรรมอยู่หลายแห่ง แต่ที่มีความสำคัญที่สุด นั่นก็คือวัดมหากันดายงค์ วัดแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า มีพระสงฆ์และสามเณรมาศึกษาพระธรรมมากกว่า 1,000 รูป ซึ่งชาวพม่านิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาพระธรรมที่วัดแห่งนี้ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีความเคร่งครัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในพม่า

พม่าศรัทธาที่ไม่สร่าง สร้างวัฒนธรรม‌ให้แข็งแกร่ง

 

พุทธศาสนิกชนชาวพม่าถือได้ว่ามีความเคร่งครัด และยึดมั่นในพระธรรมคำสอนอย่างเหนียวแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งมีความเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องเดินทางไปสักการะ 5 มหาบูชาสถานในประเทศ ประกอบไปด้วย พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ที่เมืองย่างกุ้ง พระมหาธาตุเจดีย์ชเวซีโกน ที่เมืองพุกาม พระมหาธาตุเจดีย์ชเวมอดอ ที่เมืองหงสาวดี พระธาตุอินทร์แขวน ที่เมืองไจก์โถ่ และพระมหามัยมุนี ที่เมืองมัณฑะเลย์

แม้จะนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเหมือนกัน แต่ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวพม่ากลับเป็นภาพที่หลายคนไม่คุ้นตา ไม่ว่าความเคร่งครัดในการแต่งกายเข้าวัด ความไม่นิยมวัตถุบูชา หรือวัตถุปลุกเสก และการให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงศาสนสถาน ที่แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลเพียงใด ก็จะต้องเห็นภาพสีทองอร่ามของเจดีย์มาแต่ไกล นั่นเป็นเพราะศรัทธาที่ไม่สร่าง จึงสร้างให้วัฒนธรรมของชาวพม่าแข็งแกร่งได้จวบจนปัจจุบัน