posttoday

เลือกตั้ง66: จุรินทร์ย้ำจุดยืนปชป.แก้รธน.60 สับสวิตซ์ ส.ว.โหวตนายกฯ

13 มีนาคม 2566

‘จุรินทร์’ ย้ำจุดยืน ปชป. เดินหน้าแก้รธน.60 ลดบทบาท ส.ว.เหลือแค่พิจารณากฎหมาย ตรวจสอบรัฐบาล ไม่ให้มีอำนาจโหวตนายกฯ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง66 ต้องยุติธรรม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวบนเวทีแรกของแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” ซึ่งจัดที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) ภายใต้หัวข้อหากเป็นรัฐบาลจะแก้ไข ร่างใหม่ หรือดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบันว่า พรรค ปชป.เป็นพรรคที่เมื่อลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว เราประกาศชัดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ด้วยเหตุผลของการไม่เป็นประชาธิปไตยสากลที่ครบถ้วน และมีบทเฉพาะกาลที่เราเห็นว่ายังจำเป็นจะต้องแก้ไขในหลายประเด็น

เมื่อเราเข้าร่วมรัฐบาลก็ประกาศชัดเจนว่าต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ ต้องรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ต้องบริหารราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหตุผลสำคัญคือเมื่อพรรค ปชป.เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เรามีแค่ 52 เสียง ไม่สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่สุดท้ายจุดยืนเราก็ชัดเจนว่าเราร่วมกับพรรคการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ แต่ผ่านแค่ร่างเดียวคือเรื่องของรูปแบบการเลือกตั้ง

ส่วนเรื่องมาตรา 256 ที่จะต้องแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง 2 สภา แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมี ส.ว.หนึ่งในสาม ต้องมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาแก้ไม่จบ บทบาท ส.ว.ต้องมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเป็นสภาในการตรวจสอบรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่ควรมีหน้าที่โหวตนายกรัฐมนตรี
 

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมก่อนที่ กกต. จะมีการประกาศเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมว่า พรรคได้เตรียมความพร้อมในแง่ตัวบุคคล แต่ก็ยังยากเพราะในบางพื้นที่ยังไม่นิ่งเลยว่า สุดท้ายแล้ว กกต. จะแบ่งเขตอย่างไร จะรวมอำเภอไหน หรือจะสับแบ่งเขตอย่างไร เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งจึงจำเป็นต้องรอผลการพิจารณาของ กกต. ในขั้นสุดท้าย 

จากการที่หลายพรรคการเมืองมีความกังวลถึงความไม่ชัดเจนของ กกต. ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ลงพื้นที่ลำบาก ในเรื่องนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สำหรับประชาธิปัตย์แล้วเราลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และลงพื้นที่ในลักษณะที่ต้องคาดเดา โดยเฉพาะผู้สมัครที่พรรคได้ตัดสินใจส่งไปเป็น ปี 2 ปีแล้ว ก็เดินลงพื้นที่ให้ครอบคลุมไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วจะถูกตัด ถูกแบ่งเขตไปอย่างไรก็จะต้องรอดูผลอีกครั้ง 

สำหรับในส่วน กกต.นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า จะต้องช่วยดูเรื่องการแบ่งเขตให้มีความยุติธรรม ไม่ให้เป็นประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง แต่ควรจะยึดไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับได้