posttoday

วางแผนภาษีที่ดี ดูที่เงินได้ก่อนค่าลดหย่อน

31 ตุลาคม 2561

การวางแผนภาษีจะเป็นฮอท อิชชูในช่วงใกล้สิ้นปีเสมอ

 

เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

การวางแผนภาษีจะเป็นฮอท อิชชูในช่วงใกล้สิ้นปีเสมอ เพราะผู้มีเงินได้ที่เข้าข่ายเสียภาษีจะมองหาช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี

แต่การวางแผนภาษีที่ดี ต้องไม่มองแค่การลดหย่อนภาษีอย่างเดียว การวางแผนสามารถทำได้ตลอดทั้งปี

สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำว่า การวางแผนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาที่ดีที่สุด คือ Tax-Minimization ซึ่งหมายถึงการเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้มูลค่าการจ่ายเงินภาษีที่น้อยที่สุด

"เงินได้" เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการวางแผนภาษี ซึ่งมักถูกละเลยเป็นส่วนแรก โดยไปมองการลดหย่อนเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว หากรู้ที่มาของเงินได้ของตัวเองจะทำให้ความสำคัญของการลดหย่อนภาษีด้อยลงไปเลย โดยเงินได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  1. เงินได้ที่ต้องเสียภาษีของเรามีอะไรบ้าง ส่วนนี้แยกออกมาเป็น 2 ประเภท คือ แหล่งเงินได้จากในประเทศไทย และแหล่งเงินได้นอกประเทศไทย โดยเงินได้ที่เสียภาษีแน่นอน คือ เงินได้จากแหล่งในประเทศ

ส่วนเงินได้จากนอกประเทศนั้น มีเงื่อนไขว่า ต้องพำนักอยู่ในประเทศไม่น้อยกว่า 180 วันที่นำเงินเข้ามา ดังนั้น เงินได้ที่เกิดจากนอกประเทศ เช่น ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุนในหุ้นกู้บริษัทต่างชาติ แต่ไม่ได้นำเข้ามาในประเทศก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 41 ของประมวลรัษฎากร

  1. เงินได้ที่สามารถขอเสียภาษีแบบ Final Tax ซึ่งเป็นเงินได้ที่เสียภาษีระหว่างปีแล้ว หรือถูกหักภาษีไปแล้ว ไม่ต้องนำมารวมกับการยื่นแบบการเสียภาษีปลายปี ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากสำหรับการวางแผนภาษี ที่หากรู้สิทธิประโยชน์ชัดเจนในส่วนนี้ อะไรที่ขอเสียภาษีได้เลยและถูกต้องแล้ว ไม่ต้องกังวลเลยว่าเงินได้ที่คำนวณฐานภาษีปลายปีจะเข้าข่ายเสียภาษีในอัตราใด จนต้องไปหากลยุทธ์ลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนนี้ เช่น
  • เงินได้ดอกเบี้ย (15%)
  • เงินได้เงินปันผล (10%)
  • ส่วนแบ่งกำไรกองทุนรวม (10%)

การให้อสังหาริมทรัพย์จากบิดามารดาให้บุตรชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท (5%)

เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มุ่งค้าหากำไร (อัตราก้าวหน้า) และเงินได้ที่ได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน (อัตราก้าวหน้า)

ตัวอย่าง สิ่งดีๆ จากการเลือกเสียภาษีแบบ Final Tax เช่น ขายบ้าน 1 ล้านบาทในช่วงกลางปี เสียภาษี 25,000 บาท ได้เงินสุทธิกว่า 9 แสนบาทกลับเข้าตัว โดยไม่ต้องนำเงิน 1 ล้านบาท มารวมเป็นฐานเงินได้จนถูกเสียภาษีอัตราเพิ่มสูงขึ้น

แต่! Final Tax ไม่ได้คุ้มเสมอไป ถ้าคุณไม่มีรายได้ระหว่างปีเลย และมีเงินเข้าจากดอกเบี้ยสัก 3 แสนบาทในปีนั้น หาก Final Tax 15% จะเสียทันที 45,000 บาท ทว่า หากนำส่วนนี้ไปคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดาปลายปี ภงด. 90 หักค่าลดหย่อนแล้ว ส่วนที่เกินไปคำนวณภาษี 5% ก็เท่ากับยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4,500 บาท

  1. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวม

คำนวณภาษีเงินได้ เช่น เงินจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

วางแผนภาษีที่ดี ดูที่เงินได้ก่อนค่าลดหย่อน

รู้หรือไม่ คนอายุ 65 ปี ได้รับยกเว้นภาษี 1.9 แสนบาท สำหรับเงินได้ทุกประเภท คราวนี้ก็มีทางเลือกได้ว่าเราจะนำการยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนใด หากเรามีเงินได้จากเงินเดือนและค่าเช่า แต่จะฉลาดกว่าถ้านำ 1.9 แสนบาทไปลดเงินเดือน เพราะเงินเดือนหักค่าใช้จ่ายได้ต่ำ แต่ค่าเช่า สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 30%

รู้หรือไม่ การขายบ้านเก่าซื้อบ้านใหม่ภายใน 1 ปี ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ หรืออาจซื้อบ้านใหม่ก่อน หรือค่อยขายบ้านเก่า ก็ได้รับยกเว้นภาษีเช่นกัน

"ที่คนไม่รู้ เพราะซื้อใหม่ก่อน พอขายบ้านเก่านายหน้าจัดการให้รวมทั้งจัดการเสียภาษีให้ด้วย อารามดีใจทำให้เราไม่ได้ศึกษาว่า เราไม่ต้องเสียภาษี และแน่นอนว่า

รัฐบาลไม่รู้ว่าเราเพิ่งซื้อบ้านใหม่ เพราะเราไม่ได้เสียภาษีการซื้อบ้านอยู่แล้ว นี่เป็นจุดบอดที่ความจริงแล้ว เราได้ยกเว้นภาษี"

"กลยุทธ์วางแผนภาษีที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเข้าใจตัวเอง" วิธีคิดต้องเล่นตรงนี้ก่อนให้แม่นมากแล้วค่อยไปเล่นเรื่องลดหย่อนภาษีอีกที เพราะหากแม่นตรงนี้จะรู้ว่า Final Tax ใดบ้างที่สลัดภาระออกไปเลยต้องเลือกตั้งแต่เงินได้ ซึ่งไม่มีสูตรตายตัว 100% ว่าควรเลือกคำนวณภาษีจากเงินได้ไหนดี สูตรในหนังสือเป็นผู้แนะนำ "คาดว่า" จะเป็นเช่นนั้น

ก่อนอื่น! ต้องรู้ก่อนว่าตัวเองมีฐานภาษีเท่าไหร่ และได้รับยกเว้นเท่าไหร่ จากนั้นมาคิดว่าใช้กลยุทธ์ Final Tax แบบไหน ถ้าให้แนะนำหลักการง่ายๆ (Rule of Thumb) หากมีเงินได้อื่นที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงกว่าอัตรา Final Tax แล้วล่ะก็ คุณเลือกเสีย Final Tax น่าจะดีกว่า หรือให้แคบไปกว่านั้น ถ้าเสียภาษีเงินได้อยู่อัตรา 20% แล้ว โยนภาระส่วนเกินให้อัตราภาษี Final Tax จัดการไปเลย แต่ให้ดีที่สุด ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดู

ผ่านเรื่องเงินได้แล้ว มาที่การหักค่าใช้จ่ายกันบ้าง ค่าใช้จ่ายหมายถึงต้นทุนที่ได้มาซึ่งเงินเดือนหรือรายได้ โดยส่วนนี้เป็นที่รู้กันเป็นวงกว้าง สรุปคร่าวๆ ว่า มี 8 ประเภท ผู้มีเงินได้จาก (1) เงินเดือน และ (2) ค่าจ้างค่าคอมมิชชั่น รวมกันหักค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท (3) ค่าลิขสิทธิ์ หักได้ 50% ไม่เกิน 1 แสนบาท (4) ดอกเบี้ย หักไม่ได้เลย (5) ค่าเช่ามีหลายอัตรา เช่น อาคารหักได้ 30% ที่ดินได้ 15% ที่เกษตร 20% อื่นๆ เช่น เช่ารถ 10% (6) วิชาชีพอิสระ ตามอาชีพ เช่น หมอ 60% นักบัญชี 30% (7) รับเหมา หักได้ 60% (8) อื่นๆ หักได้ 60%

สิ่งเล็กๆ ที่ต้องรู้ 1. ถ้าเป็นหมอเปิดคลินิก หักได้ตามวิชาชีพอิสระ แต่ถ้าเป็นหมอกินเงินเดือน หักได้ตามผู้มีเงินเดือนไม่เกิน 1 แสนบาท

สิ่งเล็กๆ ที่ต้องรู้ 2. เงินได้ทุกประเภทให้เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้ หรือหักเหมาก็ได้ ยกเว้นเงินเดือนและค่าจ้าง หักแบบเหมาได้อย่างเดียว ส่วนดอกเบี้ย หักไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การวางแผนภาษีเรื่องค่าใช้จ่ายก็ต้องเป็น (5)-(8) ที่ต้องเลือกว่าจะหักตามเปอร์เซ็นต์หรือหักตามจริง ที่คุ้มกว่ากัน อาจต้องอาศัยนักบัญชีมาช่วยคิด

มาถึงขั้นสุดท้ายคือ ค่าลดหย่อน เป็นการบรรเทาภาระ แบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ลดหย่อนคู่สมรส/บุตร เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่หรือคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
  2. ค่าลดหย่อนจากสินทรัพย์หรือมาตรการของรัฐ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย มาตรการรัฐที่ประกาศแต่ละปี ช้อปช่วยชาติ ท่องเที่ยวเมืองรอง
  3. ค่าลดหย่อนจากการออมเงินและการลงทุน เช่น ประกันชีวิต LTF/RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ
  4. เงินบริจาค เช่น บริจาคทั่วไป บริจาคเพื่อการศึกษา บริจาคเพื่อผู้ประสบภัย

ซึ่งอัตราการลดหย่อนได้มีประกาศในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน การลดหย่อนภาษีเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น เหตุผลที่รัฐบาลมองเรื่อง LTF/RMF ที่หักลดหย่อนได้ เพราะส่งเสริมการออม หรือมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ

สาธิต อยากให้ผู้มีเงินได้สำรวจตัวเองจากพื้นฐานและวางแผนภาษีที่เหมาะสม ก่อนที่จะเสิร์ชหากูรูในโลกออนไลน์หรือในตำรา ซึ่งมีหลายกลยุทธ์มากที่เข้าใจผิด หรือไม่เข้ากับตัวเอง เช่น

  • ให้เลื่อนการรับเงินได้ออกไป เพื่อเลี่ยงเสียภาษีอัตราสูง
  • ในความเป็นจริงงานอาจรอเราไม่ได้ ถ้าเลื่อนออกไปก็ไม่แน่ว่าจะได้เงินนั้นหรือเปล่า กลายเป็นเสียโอกาส
  • กระจายฐานภาษีให้คนอื่น เช่นมีคอนโด 5 ยูนิต สัญญาผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง จึงเลี่ยงภาษีด้วยการให้พี่น้องลูกหลานมาเป็นผู้ทำสัญญาเช่า จะได้ไม่ต้องมีเงินได้สูงมากจนเสียภาษีแพง
  • ในความเป็นจริง สรรพากรจะมาประเมินตัวเจ้าของหนักขึ้น และยังถือว่าเจ้าของมีรายได้จากปล่อยเช่าให้พี่น้องลูกหลาน 5 ยูนิต ก่อนพี่น้องลูกหลานไปปล่อยเช่าต่อได้ ถูกภาษีหนักเข้าไปอีก

ในกระดาษอาจมีข้อแนะนำมากมายหลายอย่าง ถ้าคุณหยิบไปใช้แบบไม่เข้ากับตัวเอง หรือตั้งใจเลี่ยงภาษี จากที่คิดว่าคุ้มกลายเป็นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก เข้าข่าย เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ทางที่เวิร์กที่สุด คือ รู้ รู้จักตัวเอง รู้จักสิทธิ รู้จักวางแผน บางทีไม่จำเป็นต้องพึ่งตำราใดก็ชนะชัยภาษีได้