posttoday

เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ รับมือภาษีกองทุนตราสารหนี้

31 ตุลาคม 2561

การจัดเก็บภาษีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนพอสมควร

 

เรื่อง ยินดี ฤตวิรุฬห์

การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ยังน่าดึงดูดใจอีกไหม ถ้าซื้อตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมต้องเสียภาษีจากกำไรเท่ากับนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงในอัตรา 15% จากเดิม ผู้ซื้อตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมจะเสียภาษีจากกำไรในอัตราเพียง 10% แม้ว่ากฎหมายนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะต้องนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อน แต่นักลงทุนต้องเตรียมปรับพอร์ตรับผลตอบแทนที่ลดลงดังกล่าว เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนประเภทอื่น

กระจายความเสี่ยง

วศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทยและในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนพอสมควร เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ปัจจุบันอยู่ในระดับที่น้อยมาก เฉลี่ยที่ 1.6-2% หากถูกเก็บภาษีจากตราสารหนี้อีกรอบก็ทำให้ผลตอบแทนลดลงไม่จูงใจ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นแทน เช่น กองทุนหุ้นหรือกองทุนประเภทผสม เนื่องจากความผันผวนของตลาดในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนหันมากระจายความเสี่ยงและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้

ต่อไปนี้อาจได้เห็นนักลงทุนเลือกลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้โดยตรงมากขึ้น สำหรับรายใหญ่ที่มีเงินมากพอจะเลือกลงทุนได้โดยตรง ส่วนรายย่อยลงทุนหลักพันบาท ก็มีกองทุนรวมตอบโจทย์ นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แทนหรือกองทุนหุ้นมากขึ้น

ข้อควรจำ

ดังนั้น นักลงทุนที่มีเงินส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนตราสารหนี้ ควรต้องทำการบ้านเพิ่มเติมเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้นหรืออย่างน้อยชนะเงินเฟ้อ โดยมีคำแนะนำสำหรับการวางแผนเพื่อลดผลกระทบจากภาษีกองทุนตราสารหนี้ 3 ข้อง่ายๆ ดังนี้

ข้อแรก ศึกษาข้อมูลการลงทุนในกองทุนรวมในมิติที่หลากหลายมากขึ้น เพราะกองทุนรวมในประเทศไทยมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) ที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้แต่ก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ทางเลือกอื่น ที่น่าสนใจได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น โดยแนะนำว่าหากไม่เคยลงทุนในกองทุนอื่นเลยนอกจากกองทุนตราสารหนี้ ควรเริ่มจากกองทุนรวมผสมที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30% เพื่อสร้างความคุ้นเคยต่อกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น หลังจากที่เริ่มมีประสบการณ์และความรู้ด้านการลงทุนที่มากขึ้นจึงค่อยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ข้อสอง วางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ควรแยกเลือกรูปแบบการลงทุนตามแต่ละเป้าหมาย เพราะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ตามลำดับความสำคัญและระยะเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกประเภทกองทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวัง เช่น เป้าหมายระยะยาวคือ เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณในอีก 30 ปี เป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่มีระยะเวลาในการลงทุนนาน ดังนั้น ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เพราะหากพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังจะพบว่าระยะเวลาจะช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า

ข้อสาม เริ่มทำทันที เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากฎหมายเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไร ดังนั้น นาทีนี้ต้องบอกว่าอยู่เฉยไม่ได้แล้วใครเริ่มก่อนย่อมได้เปรียบเพียงสามข้อง่ายๆ นี้ เชื่อว่าจะช่วยให้เงินของท่านทำงานหนักขึ้น และสร้างผลตอบแทนที่อย่างน้อยสามารถชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว และแน่นอนว่าจะช่วยให้ลดผลกระทบจากภาษีกองทุน
ตราสารหนี้ที่อาจมาถึงในอนาคตได้ไม่มากก็น้อย

เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ รับมือภาษีกองทุนตราสารหนี้

พึ่งอาร์เอ็มเอฟ

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียน และวิทยากร ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในตราสารหนี้แทน แต่หากต้องการพักเงินหรือเป็นการลงทุนระยะสั้นก็ยังสามารถลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะลดลงไปบ้างก็ตาม

ปัจจุบันบริษัทจัดการกองทุนหลายแห่งมีการแข่งขันออกแบบกองทุนรวมสำหรับวัยเกษียณมา

โดยเฉพาะ ตัวอย่าง บลจ.กสิกรไทย มีกองทุนเปิดเค แพลน 1 (K-PLAN1) เป็นกองทุนตราสารหนี้ ความเสี่ยงระดับ 4 หรือเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก มีสภาพคล่องในการซื้อขายไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการโดยจะได้รับเงินคืนภายในวันที่ T+2 มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ โดยจำกัดเพดานการลงทุน ในต่างประเทศไม่เกิน 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (เอ็นเอวี) พร้อมทั้งป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ

บลจ.กรุงไทย มีกองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ (KTSUK) เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีความผันผวนน้อย โดยลงทุนในตราสารหนี้ 80% หุ้น 10% และตราสารทางเลือก 10% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย

ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ จะกระทบกับผลตอบแทนของกองทุนรวมบ้างโดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับที่ต้องถูกหักภาษีไป 15% เช่น หากกองทุนลงทุนในตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ย 2% ก็จะเหลือ 1.70% ดังนั้น บริษัทต้องหาทางสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น (AlPha) เพื่อชดเชยส่วนที่ถูกหักภาษีไป

อย่างไรก็ตาม หากผลตอบแทนของกองทุนยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากก็ยังสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ลงทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนยังคงมีสภาพคล่องดีกว่าเงินฝากประจำเนื่องจากขายคืนได้ทุกวัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ส.ค. 2561 มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. จัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ผ่านกองทุนรวม โดยให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากรายได้ดอกเบี้ยหรือส่วนลดของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมได้รับ ไม่เก็บในส่วนของกำไร (แคปปิตอลเกน) โดยผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษี ทั้งจำนวน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ได้ผ่านการเสียภาษีมาแล้ว

การเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้จะทำให้ต้นทุนของผู้ออกตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรและหุ้นกู้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกองทุนรวมเป็นผู้เล่นหลักในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น จะมีการต่อรองผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) กับผู้ออกเพื่อชดเชยกับภาษีที่จะต้องจ่าย