posttoday

มังกรสีเขียว : จีน กับการลดก๊าซเรือนกระจก

13 มีนาคม 2562

ความมุ่งมั่นของผู้นำจีน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในทุกระดับจนทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาอันสั้น

ความมุ่งมั่นของผู้นำจีน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในทุกระดับจนทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาอันสั้น

**************************

โดย...คุรุจิต นาครทรรพ อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

เมื่อวันที่ 3-7 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ผมในฐานะประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้มีโอกาสไปประชุมดูงาน เรื่อง ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme หรือ ETS) ณ กรุงปักกิ่ง นครอูฮั่นในมณฑลหูเป่ย และนครฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจีนในยุคของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่ใช้เวลาเพียงห้าปีในการออกนโยบาย กำหนดรูปแบบและวางมาตรการทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรมารองรับระบบ ETS นี้

ระบบ Emission Trading Scheme (ETS หรือบางที่ก็เรียกว่า Cap and Trade) เป็นการนำหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยกลไกตลาด มาออกเป็นมาตรการเชิงบังคับโดยการกำหนดเพดานสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2 emission quota allocation) ของแต่ละโรงงาน ซึ่งจีนเลือกมาเฉพาะสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม ครอบคลุมโรงงานกว่า 8,000 โรง ที่รวมการปล่อยก๊าซฯ 3,500 ล้านตัน (หรือร้อยละ 35 ของปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ทั้งหมดของประเทศ 10,976 ล้านตัน) ได้แก่กลุ่มผลิตไฟฟ้า ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เหล็กและเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เยื่อและกระดาษ และภาคการบิน

โดยจะจัดสรรเพดาน (Cap or Allowance) สิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แต่ละโรงงานที่มีการปล่อย CO2 เกินกว่า 2.6 หมื่นตัน/ปี/โรง หรือมีการใช้ถ่านหินมากกว่า 1 หมื่นตัน/ปี/โรงหากโรงงานใดมีการผลิตสินค้าและใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นจนมีการปล่อยก๊าซ CO2 เกินกว่าจำนวน Emission Allowance ที่ได้รับการจัดสรร ก็จะต้องไปลงทุนพัฒนากระบวนการผลิตของตนให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อให้ปล่อยก๊าซฯ ลดลง มาอยู่ในเพดานสิทธิฯ ที่รับจัดสรรมา

ถ้าทำไม่ได้ก็อาจถูกปรับ (เช่นปรับเป็นเงิน 3 เท่าของราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต) ในส่วนที่ปล่อยเกิน และหากยังลดเองไม่ได้ ก็ต้องไปหาซื้อสิทธิการปล่อยฯ จากโรงงานอื่นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีกว่าและยังปล่อย CO2 ไม่เกินโควตามาชดเชย เพื่อที่ในภาพรวมของแต่ละพื้นที่จะมีการลดลงของ CO2 ในเชิงปริมาณ ฉะนั้นหากโรงงานใดจะต้องใช้เงินลงทุนมากในการลดการปล่อยก๊าซฯ หรืออาจใช้เวลาดำเนินการเป็นขั้นๆ เพื่อไม่ให้ต้นทุนสินค้าที่ผลิตสูงจนกระทบต่อการทำธุรกิจ ก็สามารถจะไปใช้วิธีหาซื้อสิทธิฯ ในตลาดคาร์บอน จากโรงงานอื่นที่ลดการปล่อยก๊าซฯ ได้ดีกว่าได้

ดังนั้น ระบบ ETS จึงทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอน โดยราคาซื้อขายสิทธิการปล่อยฯ จะขึ้นลงตามอุปสงค์-อุปทานในตลาด และตามต้นทุนของแต่ละโรงงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ เวลานั้นๆ ETS จึงเป็นระบบที่สร้างความยืดหยุ่นให้แก่โรงงาน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพมาช่วยลดการใช้พลังงานอีกด้วย

จากการสอบถามและหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน Department of Climate Change กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน รวมถึงการดูงานที่ Sino Carbon Innovation Investment กับ China Hubei Carbon Emission Exchange และ Fujian Ecology and Environment Department ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่า การจะมีระบบ ETS ที่ดีอันจะเป็นมาตรการที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศจีนที่สัมฤทธิผลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาที่ถูกต้องและเชื่อถือได้

นั่นหมายถึง ประเทศจะต้องมีระบบตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (Measuring, Reporting, and Verifying หรือ MRV) ที่ได้มาตรฐาน มีระบบการคำนวณจัดสรร (Allocation) โควตาสิทธิการปล่อยก๊าซ CO2 ที่มีหลักวิชาการและสถิติรองรับ โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของโรงงานที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และมีผู้เชี่ยวชาญหรือองค์การที่เป็นอิสระในการให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจสอบยืนยันผล และที่สำคัญคือมีกฎหมาย รวมทั้งระเบียบหลักเกณฑ์ที่ดีรองรับ

ทางการจีนได้กำหนดขั้นตอนในการนำระบบ ETS มาใช้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก (1 ปี) วางกฎกติกาและองค์กรรองรับ ระยะที่สอง (1 ปี) ทดลองและทดสอบการใช้ระบบซื้อขายสิทธิฯ และระยะที่สาม (ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา) คือพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดในการดูงานที่จีนครั้งนี้ก็คือ ความมุ่งมั่น (Strong Political Will) ของผู้นำจีน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในทุกระดับในการนำระบบ ETS มาพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้นได้

ไทยเราควรดูตัวอย่างมังกรยักษ์อย่างจีนนี้ ที่นอกจากจะมีอานุภาพทางเศรษฐกิจที่แดงเจิดจ้าแล้ว ยังไม่ลืมหันมาแต้มสีเขียวโดยการเป็นผู้นำในด้านสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย