posttoday

การเงินและการธนาคารที่เปลี่ยนไปในยุคเครือข่าย

05 มกราคม 2562

ยุคของโครงสร้างเครือข่ายแบบดิจิทัลที่เป็นเรียลไทม์จะทำให้ระบบการเงินและการธนาคารเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ยุคของโครงสร้างเครือข่ายแบบดิจิทัลที่เป็นเรียลไทม์จะทำให้ระบบการเงินและการธนาคารเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

**********************************

โดย...พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

การเงินและการธนาคารเป็นเรื่องสำคัญของโลกในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเงินทำให้มนุษย์สามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าทำให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้

อดีตที่ผ่านมา ประชากรที่ยากจนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแถบแอฟริกา อินเดีย หรือจีน และในช่วงศตวรรษที่ 1980 เรามักจะเห็นสื่อต่างๆ นำเสนอถึงความอดอยากในเอธิโอเปียและประเทศในแถบแอฟริกา จนมีการจัดตั้งโครงการเพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้น แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือประเทศที่เราคิดว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดนั้น ในปัจจุบันกลับมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงโอกาสต่างๆ ที่มีมากขึ้นจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ (UN) และธนาคารโลก ที่ทำงานกับองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร

นอกจากการช่วยเหลือดังกล่าวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็คือเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อสิ่งต่างๆในโลกได้แบบเรียลไทม์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการทางการเงินการธนาคาร นั่นก็คือเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมให้เปลี่ยนเป็นระบบการเงินในรูปแบบดิจิทัล (Digital Banking) และกำหนดรูปแบบทางการเงินใหม่สำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech

ผลกระทบจากวิวัฒนาการของดิจิทัลนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งมนุษย์ทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้แบบเรียลไทม์ จากจำนวนประชากรเกือบ 8 พันล้านคนที่แต่ก่อนไม่สามารถเชื่อมถึงกันได้ ก็สามารถสื่อสารถึงกันได้ทันทีผ่านโทรศัพท์มือถือที่ในปัจจุบันมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น

ปัจจุบันพบว่ายังมีการกระจุกตัวของบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง (Financial exclusion) ซึ่งเป็นความท้าทายเนื่องจากเป็นการยากที่จะทำธุรกรรมการซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของมนุษยชาติจึงจะต้องสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานได้ ตัวอย่างเช่น Ant Financial จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ที่ให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลผ่านโทรศัพท์มือถือ โดย Ant Financial เป็นบริษัททางการเงินที่พยายามจะสร้างระบบการเงินแบบทั่วถึง (Financial inclusion) เพื่อสนับสนุนการใช้งานของผู้ใช้บริการทางการเงินกว่า 2 พันล้านคนภายในปี 2025

Jack Ma, Mark Zuckerburg, Bill Gates และผู้นำองค์กรในระดับโลกคนอื่นๆ กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกใบนี้ โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างระบบการให้บริการทางการเงินแบบทั่วถึง ซึ่งทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบการเงินขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน การฝากเงิน หรือการประกันภัยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งวิสัยทัศน์นี้ได้ป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถทำให้กลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้

ในอดีตที่ผ่านมามนุษย์ต้องพบเจอกับวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ 3 ครั้ง ด้วยกันคือ ยุคที่ 1 มีการจัดตั้งชุมชนขึ้น, ยุคที่ 2 เกิดเป็นอารยธรรม และยุคที่ 3 คือยุคอุตสาหกรรม และในปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ 4 คือยุคของเครือข่าย ซึ่งวิวัฒนาการของมนุษยชาติในแต่ละยุคล้วนเป็นการสร้างตัวเงินและแลกเปลี่ยนคุณค่ามาโดยตลอด

ยุคที่สาม (The Third Age) เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของพลังงานไอน้ำ ซึ่งในยุคนี้ ไอน้ำได้สร้างสรรค์นวัตกรรมมากมาย ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกก็คือ “เครื่องยนต์ไอน้ำ” ที่ทำให้เปลี่ยนจากการใช้ม้าในการขนส่งมาเป็นการใช้พลังไอน้ำในการเดินทาง ทำให้เราสามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรโดยเรือหรือเดินทางข้ามประเทศโดยรถไฟได้ ทำให้โรงงานสามารถนำความร้อนและพลังงานมาใช้ในการผลิต ซึ่งมีการใช้เงินเป็นเครื่องมือสำหรับการแลกเปลี่ยนคุณค่าควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หิน ทอง และเงิน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนที่มีน้ำหนักและเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม โดยถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมมีพลังอำนาจอย่างเต็มที่ การแลกเปลี่ยนรูปแบบใหม่จะยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น และเพื่อตอบสนองความต้องการรูปแบบใหม่ของการแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่า รัฐบาลของหลายประเทศได้เริ่มที่จะควบคุมการออกใบอนุญาตให้ดำเนินการตั้งธนาคารขึ้นมาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1600 โดยเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลให้การสนับสนุน

สาเหตุที่สถาบันการเงินอย่างธนาคาร หรือแม้แต่บริษัทประกันภัยสามารถเปิดดำเนินการมาได้อย่างยาวนานก็เพราะเป็นเครื่องมือทางการค้าของรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจากรัฐบาล โดยให้ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยนวัตกรรมหลักที่เกิดขึ้นก็คือการผลิตธนบัตรโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ยุคที่ 4 คือยุคของเครือข่าย (The Network Age) ซึ่งเงินก่อให้เกิดกลไกการควบคุมจากรัฐบาลในช่วงระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงมีการจัดตั้งธนาคารขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล โดยธนาคารกลางของประเทศสามารถออกธนบัตรและเช็คที่สามารถนำมาใช้แทนทองคำและเงินเหรียญได้โดยที่เราเชื่อมั่นในธนาคาร เพราะรัฐบาลให้การรับรองและรัฐบาลใช้ธนาคารเป็นกลไกในการควบคุมและจัดการระบบเศรษฐกิจ จนมาถึงปัจจุบันเราได้พบกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่แปลกใหม่อย่างเช่น Bitcoin ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน โดยไม่มีรัฐบาลจากประเทศใดมาควบคุมหรือกำกับดูแล

ความแตกต่างของยุคที่ 4 กับยุคก่อนๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การทลายกำแพงของเวลาและช่องว่างระหว่างกัน ด้วยการเชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก จึงทำให้ระยะทางไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป ทำให้มนุษย์สามารถแลกเปลี่ยนมูลค่าข้ามโลกได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น และเริ่มปรากฏชัดว่าทุกวันนี้เราไม่มีขีดจำกัดในการจัดเก็บและเชื่อมต่อข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมีราคาถูกลงอย่างมาก ความสามารถของอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ ทำให้คนอีกซีกโลกหนึ่งสามารถทำการค้า แลกเปลี่ยน ทำธุรกรรม และสื่อสารได้แบบ One-to-one หรือ Peer-to-peer (P2P) ผ่านเครือข่ายการสื่อสารอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ ซึ่งในยุคแห่งเครือข่าย การเชื่อมต่ออาจไม่ได้มาแทนที่ธนาคาร แต่ก็อาจจะทำให้คนใช้บริการธนาคารน้อยลงเรื่อยๆ

ในวันนี้ คนทั่วโลกตื่นเต้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยุคของเครือข่ายที่เราทุกคนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้แบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือชาวแอฟริกาที่มีการใช้งานกระเป๋าเงินเคลื่อนที่ (Mobile wallet) จนทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างเช่น ในเคนยา สาธารณรัฐยูกันดา และไนจีเรีย เป็นต้น เนื่องจากประชากรในประเทศเหล่านั้นไม่เคยเข้าถึงเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมมาก่อน จึงทำให้ไม่เคยมีกลไกในการแลกเปลี่ยนมูลค่าได้โดยง่าย เว้นแต่การแลกเปลี่ยนทางกายภาพที่ทำให้เกิดอาชญากรรมและการฉ้อโกง แต่ในปัจจุบันประเทศในแอฟริกาสามารถนำเสนอบริการทางการเงินสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งบริการนี้เป็นจริงแล้วในหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบราซิล เป็นต้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับ Financial inclusion ก็คือผู้คนหลายพันล้านคนที่ไม่เคยเข้าถึงเครือช่ายและบริการทางด้านดิจิทัลมาก่อน สามารถเชื่อมต่อและใช้บริการทางการเงินได้ทันทีอย่างเหลือเชื่อ

อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ “สกุลเงินดิจิทัล” หรือ cryptocurrency อย่างเช่น Bitcoin ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาพลิกโฉมรูปแบบทางการเงินในยุคที่ 4 ซึ่งจะลดบทบาทของธนาคารแบบดั้งเดิมลง สร้างความท้าทายให้กับธนาคารแบบดั้งเดิมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ยุคที่ 4 ของมนุษยชาติ คือยุคของโครงสร้างเครือข่ายแบบดิจิทัลที่เป็นเรียลไทม์ สามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะใช้ได้ฟรี เมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้หมดจากผู้คนมากกว่า 8 พันล้านคนที่สามารถสื่อสารและซื้อขายกันทั่วโลกได้แบบเรียลไทม์จากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือของแต่ละคน ที่เริ่มมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น จนเห็นได้ชัดว่าโครงสร้างใหม่นี้ ไม่สามารถใช้ได้กับระบบเดิมที่ยังพึ่งพิงการใช้กระดาษที่ต้องมีอาคารสำนักงานสำหรับทำงาน หรือแม้แต่การที่ต้องมีมนุษย์คอยให้บริการทางการเงิน ซึ่งยุคที่ 4 นี้จะเป็นยุคของดิจิทัลที่ธนาคาร เงินสด และการแลกเปลี่ยนมูลค่าทางกายภาพจะยังคงมีอยู่ แต่จะมีความสำคัญน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่ที่มีการผสมผสานกันระหว่างการใช้สกุลเงินดิจิทัล การเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้เข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) การชำระเงินรายย่อย (micropayments) และการแลกเปลี่ยนแบบ peer-to-peer ที่เป็นผลมาจากยุคแห่งเครือข่าย โดยปัจจุบันนี้ยังคงเป็นช่วงต้นของวิวัฒนาการในยุคที่ 4 ซึ่งการปฏิวัติครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 3 ที่ผ่านมาต้องใช้เวลานับร้อยปี ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอีก 2-3 ทศวรรษจึงจะทำให้เรามองเห็นภาพชัดเจนขึ้นสำหรับวิวัฒนาการในยุคที่ 4 ที่เป็นยุคของเครือข่ายโดยสมบูรณ์ แต่ในวันนี้เราก็จะเริ่มพบกับการล้มหายตายจากทีละน้อยของธนาคารรูปแบบดั้งเดิมที่กำลังเริ่มปรากฏแล้วอย่างชัดเจน