posttoday

บัตรคนจนกับประชานิยม

29 พฤศจิกายน 2561

มีคำถามตามมาว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน นั้นเหมือนกับหลายโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หรือไม่

มีคำถามตามมาว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน นั้นเหมือนกับหลายโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หรือไม่

**************************************

โดย....ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

การที่รัฐบาลแจกเงินเติมบัตรคนจนรอบที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็น “ของขวัญปีใหม่” ทำความหวั่นไหวให้กับพรรคต่อต้านรัฐบาลได้มากพอสมควร แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการสกัด “เลือดไหลออก” เมื่อสมาชิกจำนวนไม่น้อยของตนได้แปรพักตร์ไปเข้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาล เลยทำให้เสียงโจมตีน้อยลงและไม่ค่อยหนักแน่น แต่ก็มีคำถามตามมาว่าโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือ “บัตรคนจน” นั้น ก็เหมือนกับหลายโครงการของรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น ที่รัฐบาลชุดต่อๆ มาไม่กล้ายกเลิก เพราะเป็นประโยชน์แก่คนจนทำให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐ ที่คนยากจนยังคิดถึงรัฐบาลทักษิณจนถึงขณะนี้

คนจนเป็นกลุ่มคนที่ทุกรัฐบาลพยายามหาทางช่วยเหลือ เพื่อลดปัญหาความยากจนที่เป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลประยุทธ์เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มาก โดยจัดการสำรวจและทำบัญชีจำนวนคนยากจนในประเทศ เพื่อสะดวกต่อการช่วยเหลือและจะได้ช่วยไม่ผิดคน พบว่าผู้มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้มีจำนวน 14.5 ล้านคน

รัฐบาลประยุทธ์ให้เงินสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งแรกวันที่ 1 ต.ค. 2560-22 พ.ย. 2561 รวม 49,879.4 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 47,209 ล้านบาท ร้านค้าก๊าซหุงต้ม 79.8 ล้านบาท ค่าโดยสารรถ บขส. 137.2 ล้านบาท รถไฟ 263.5 ล้านบาท รถไฟฟ้า 17.4 ล้านบาท และโอนเงินเข้ากระเป๋าอี-มันนี่ตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 2,172.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการสำรวจความเห็นของประชาชนเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ว่าคนจนต้องการอะไร จากนั้นรัฐบาลได้จัดให้ตามความต้องการเร่งด่วนของคนจน คือ ค่าเดินทางเดือนละ 500 บาท ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/ 3 เดือน ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 200-300 บาท/เดือน

สำหรับที่เพิ่มใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ คือ 1.ค่าน้ำค่าไฟฟ้าเดือน ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 แบ่งเป็นค่าไฟ 230 บาท/เดือน/ครัวเรือน ค่าน้ำ 100 บาท/เดือน /ครัวเรือน (รวม 27,250 ล้านบาท) 2.ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล 1,000 บาท สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปถอนเป็นเงินสดได้ (รวม 3,500 ล้านบาท) 3.ค่าใช้จ่ายทั่วไปเดือน ธ.ค. 2561-ม.ค. 2562 จำนวน 500 บาท/คน ที่เรียกว่าเป็นเงินของขวัญปีใหม่ ถอนเป็นเงินสดได้ (รวม 7,250 ล้านบาท) 4.ค่าเช่าบ้านคนจนอายุ 60 ปีขึ้นไป เดือน ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 เดือนละ 400 บาท (รวม 920 ล้านบาท) สำหรับผู้สูงอายุถอนเป็นเงินสดได้

5.รัฐได้จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและคนกรีดยาง 1.4 ล้านคน ที่เดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ รวมเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท 6.แจกเงินเพิ่มเบี้ยหวัดบำนาญให้ข้าราชการผู้มีรายได้น้อย 5.2 หมื่นคน และขยายเพดานบำเหน็จดำรงชีพข้าราชการบำนาญที่มีอายุ 70 ปีอีก 1.5 แสนคน ใช้งบ 25,259 ล้านบาท รวมทั้งหมด 81,979 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้นั้นโดยตรง

นอกจากนั้น รัฐบาลเตรียมแจกบัตรสวัสดิการที่ค้างอยู่ให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงที่ตกสำรวจอีก 3.1 ล้านคนด้วย ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ดีสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้มงวดเพราะมีคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน กทม.ที่ไม่จนจริง พวกนี้หลายคนเป็น “นักเคลื่อนไหว” ที่เก่งในการกรอกข้อมูลจนสามารถทำให้ดูเป็นคนจนได้

ผลที่เกิดขึ้นนอกจากบรรเทาภาระคนจนแล้ว ยังช่วยร้านค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชนท้องถิ่นและร้านค้าย่อย เช่น แผงจำหน่ายอาหารและรถเร่ที่เข้าร่วมโครงการ เวลานี้ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” กระจายไปทั่วประเทศ 5 หมื่นร้าน จากเป้าหมาย 1 แสนร้าน สินค้าในร้านเป็นสินค้าที่ผลิตในชุมชนและสินค้าเกษตรในพื้นที่ สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ข้าวสาร กะปิ น้ำปลา อาหารแปรรูป ไม่ใช่สินค้าที่มาจากบริษัทใหญ่เท่านั้น เงินหมุนเวียนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.9 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้ไม่น้อย

สำคัญกว่านั้นรัฐบาลได้สอน “วิธีจับปลาและให้อุปกรณ์ในการจับปลา” เพื่อคนจนจะได้รู้จักการทำมาหากิน ไม่ใช่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเดียว โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลังรับผิดชอบในการฝึกอาชีพให้กับคนจน ได้แถลงผลงานไทยนิยม ยั่งยืน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใกล้ครบ 1 ปี ว่า คนจนฝึกอาชีพ 4.1 ล้านคน และเข้าสู่การพัฒนาแล้ว 1.9 ล้านคน จากคนที่รับบัตรคนจน 11.4 ล้านคน โดยฝึกกับ ธ.ก.ส.มากที่สุดกว่า 1 ล้านคน รองลงมา คือ ฝึกกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 2.7 แสนคน และธนาคารออมสิน 1.2 แสนคน ทำให้คนจนมีงานทำถึงร้อยละ 78 ยังไม่มีงานทำร้อยละ 22 คนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 3 หมื่นบาท ลดลงจาก 73% เหลือ 60% ส่วนคนที่มีรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาท เพิ่มขึ้นจาก 27% เป็น 40%

คนจนกับการเป็นหนี้ดูจะเป็นของคู่กัน ผลงานเด่นอีกประการหนึ่งของรัฐบาลประยุทธ์ คือ รัฐบาลได้แก้ปัญหาหนี้นอกระบบเกือบ 9 แสนคนทั่วประเทศมากไปแล้วกว่าครึ่ง โดยเจรจาไกล่เกลี่ยและทำข้อตกลงที่เป็นธรรมตามสภาพหนี้จริงแล้วจำนวน 537,67 คน เฉพาะเดือน ต.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ได้เจรจาและทำข้อตกลงได้เพิ่มอีก 118,361 คน สามารถคืนทรัพย์สินให้ประชาชน 6,119 คน มูลค่ารวมกว่า 7,400 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดิน 5,334 ฉบับ เนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 161 คน ในข้อหาฉ้อโกง เอารัดเอาเปรียบประชาชนหลายรูปแบบ ยึดของกลางเกือบ 80 ล้านบาท คืนทรัพย์สินให้ประชาชนมูลค่า 609 ล้านบาท เป็นโฉนดที่ดินเนื้อที่กว่า 2,200 ไร่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินที่ค้ำเงินกู้คืนให้กับประชาชนเจ้าของที่ดินเพื่อไว้ใช้ทำมาหากินต่อไป กลายเป็นฮีโร่ของคนจนที่ได้โฉนดคืนไปแล้ว

คนจนหลายคนเปิดเผยว่าพอใจมากที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนโดยตรง ทำให้ประชาชนได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถบริหารจัดการเงินของตนได้เอง ไม่ต้องมีใครมาช่วยบริหารจัดการเงินของตนแบบสมัยก่อน

นอกจากทำให้คนจนหายจนหรือจนน้อยลงแล้ว รัฐบาลต้องหาทางไม่ให้มีคนจนเพิ่มขึ้น ในภาพรวมถ้าไม่มีอคติ การบริหารประเทศโดยรวมของรัฐบาลประยุทธ์ 5 ปีที่ผ่านมาต้องถือว่าน่าพอใจกับภารกิจในการซ่อมบ้านที่ผุพังและคนในบ้านทะเลาะกัน 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟื้นฟูประเทศดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจ มีผลงานที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ แต่ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้อง “แปลงผลงานให้เป็นคะแนนเสียง” ให้ได้ เพราะการเลือกตั้งเขานับกันที่คะแนน ไม่ใช่ “เสียงดีแต่ไม่มีคะแนน”