posttoday

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการเดินทางกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่

11 กรกฎาคม 2561

ผู้เขียน ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผู้เขียน ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนติดอยู่ในเรือที่กำลังจมโดยไม่ยอมหนีออกมา รวมไปถึงภาพการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นบนท้องทะเล ทำให้เกิดคำถามจากหลายๆคนว่า เรือจะจมแล้วทำไมไม่หนีออกมา หรือมีเสื้อชูชีพ (เสื้อพยุงตัว?) แล้วทำไมยังจมน้ำเสียชีวิตอีก ทำให้เห็นว่าเราเข้าใจนักท่องเที่ยวจีนน้อยมาก ถึงแม้เค้าจะเข้ามาเที่ยวเมืองไทยมาต่อเนื่องยาวนาน และ นำรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมหาศาล ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากภาพลักษณ์การเดินทางไปเที่ยวของคนจีนที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ถึงการไม่เข้าใจวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่คนไทยคาดหวัง คนไทยหลายๆ คนก็เลือกที่จะไม่เข้าไปสุงสิง ไปอยู่ที่ที่นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยว ด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนที่ยอมเป็นสิทธิที่จะทำได้

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจริงๆ แล้ว เป็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ในวงการท่องเที่ยวของโลกอย่างแท้จริง คนเหล่านี้ได้รับรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก วัฒนธรรมภายนอก และวิถีชีวิต วิธีปฏิบัติ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ตนเองคุ้นชินอยู่ในชีวิตประจำวันน้อยมาก บางคนอาศัยอยู่ในที่ห่างไกล ที่ราบสูง ไม่เคยเจอทะเลมาก่อน แต่วันหนึ่งมีโอกาสได้ออกมาท่องเที่ยวทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่มองว่ามีการดูแลด้านความปลอดภัยอยู่ดีเพียงพอแล้ว จึงไม่แปลกใจที่คนเหล่านี้จะตอบรับการมาท่องเที่ยวหาประสบการณ์ในทันที แต่ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่คุ้นชิน อาจไม่เพียงพอต่อการตอบโต้ และแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน แปลกที่ แปลกทาง สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน การตื่นตระหนกของคนหมู่มาก และการขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดประสบการณ์ ในสิ่งที่จำเป็นเพื่อตอบโต้ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม คำถามว่าทำไมจึงไม่ออกมา และทำไมใส่เสื้อชูชีพ แล้วยังเสียชีวิต จึงมีคำตอบของมันเองอยู่ในตัว ยิ่งเมื่อมาเจอกับทีมงานที่ไม่มีความพร้อมในการเตรียมการในสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่การให้ความรู้ก่อนเดินทาง การเตรียมความพร้อมให้ทุกคนใส่เสื้อชูชีพเมื่อมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนอาจเกิดอันตราย จิตวิทยาในการควบคุมฝูงชนในภาวะตื่นตระหนก การหนีเอาตัวรอบในสถานการณ์คับขัน ความสูญเสียจำนวนมากจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ป้องกันได้

การทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ถือเป็นความท้าทายใหม่ของการจัดการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวสำหรับประเทศไทย และอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาคล้ายๆกัน ปัญหานี้ได้ถูกมองข้ามมาเป็นเวลานาน จากชุดโครงการศึกษาเรื่องการยกระดับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติตามมาตรฐานสากลที่สิ้นสุดไปแล้ว และ การบริหารจัดการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเลที่อยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนในด้านการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีระบบการจัดการที่เหมือนเดิมแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของประชากรการท่องเที่ยวแล้ว

ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการเดินทางกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่

การท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยในอดีตเป็นกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยหลายครั้ง มีความคุ้นชินกับกิจกรรมที่จะทำ หรือกรณีหน้าใหม่ก็มักจะมากับคนที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วเป็นลักษณะพี่เลี้ยงในการท่องเที่ยว ความรู้ในเรื่องของการดูแลด้านความปลอดภัยก็จะมีมากกว่า มีความเข้าใจในสัญลักษณ์มาตรฐานต่างๆ มีความเข้าใจในการดูแลตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากได้รับความรู้จากประเทศตนเองมาก่อน การให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็จะเน้นให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด จากการศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน และ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวหน้าใหม่อย่างชาวจีนพบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยเดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ มีความสนใจอยากทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำในประเทศตัวเองมาก่อน แต่ได้รับการบอกว่าเป็นกิจกรรมที่ควรจะต้องทำ เช่นขับขี่รถจักรยานยนต์เช่า

ผลคือมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งที่อำเภอปาย และ จังหวัดเชียงใหม่ โดยข้อมูลช่วง 6 เดือนของเชียงใหม่ที่เก็บจากโรงพยาบาล 41 แห่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเกิดอุบัติเหตุถึง 81 รายและเกือบทั้งหมดเป็นจากรถจักรยานยนต์ คนเหล่านี้เมื่อเกิดเหตุก็ไม่มีความเข้าใจเพียงพอในการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างเช่น 1669 ไม่สามารถสื่อสารกับหน่วยงาน หรือ ไม่สามารถบอกตำแหน่งที่ตัวเองอยู่ได้ ทำให้การเข้าถึงเพื่อการช่วยเหลือเกิดความล่าช้า เราอาจจะโทษนักท่องเที่ยวเหล่านี้ว่าทำตัวเองก็ได้ แต่หากมองในมุมของนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ เป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีระบบกำกับ ควบคุม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเค้า ไม่ใช่การโทษเหยื่อที่มาจากความบกพร่องของระบบที่หละหลวม (Blaming the Victim)

ทำไมคนเหล่านี้ที่ไม่เคยขับขี่รถจักรยานยนต์มาก่อน ไม่มีใบอนุญาตจึงยังขับรถอยู่บนท้องถนนได้ ทำไมจึงปล่อยให้มัคคุเทศก์ให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวอย่างผิดๆ ในเรื่องของความปลอดภัยได้ ทำไมไม่มีการให้ข้อมูลในสื่อที่เป็นภาษาที่เค้าสามารถเข้าใจได้ การที่เค้าเดินทางเข้ามาด้วยทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถกำกับ ควบคุม สิ่งเหล่านี้ได้เลย หรือไม่ใช่

ยังไงที่นี่ก็ยังเป็นแผ่นดินไทย และกฎหมายไทยก็ควรจะยังใช้ได้อยู่

สถานการณ์การมองข้ามการจัดการด้านความปลอดภัยในกรณีเรือล่มที่ภูเก็ต ก็คงมีคำถามที่คล้ายๆกันเกิดขึ้น บริษัทมีมาตรการด้านความปลอดภัยอะไรบ้างเมื่อรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่เข้ามาใช้บริการ มีการจัดทำสื่อแผ่นพับ มีการทำสื่อวีดีโอ ในภาษาที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ความรู้ด้านความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว การสร้างความตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การปฏิบัติตัวในภาวะฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการให้ข้อมูลเมื่อเราต้องโดยสารเครื่องบิน รวมไปถึงการจัดแสดงหลักฐานที่จำเป็นทั้งหมดว่าเป็นธุรกิจที่ถูกต้อง นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตุได้ เช่นเดียวกับที่เราเดินเข้าคลีนิคหมอ จะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพติดไว้ข้างผนังให้สังเกตุได้

ในส่วนของมัคคุเทศก์เองมีการให้ข้อมูลความปลอดภัยในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ ด้วยภาษาที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจได้ แม้จะไม่เคยทำกิจกรรมดังกล่าวมาก่อน ต้องไม่ลืมว่านักท่องเที่ยวหน้าใหม่คือคนที่ไม่เคยทำกิจกรรมและไม่เคยเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝันมาก่อน ต้องมีการสร้างความเข้าใจตั้งแต่ต้น เพื่อเมื่อเกิดสถานการณ์จริงทุกคนจะได้ไม่ตื่นตระหนกจนไม่สามารถควบคุมได้ กัปตันเรือ พนักงานประจำเรือ และมัคคุเทศก์ มีการผ่านการอบรมด้านจิตวิทยาในการจัดการฝูงชนในภาวะวิกฤตอย่างเพียงพอหรือไม่ มีการฝึกซ้อม ซ้อมแผน มีการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อสถานการณ์จริงมาถึงจะทำได้ตามที่ฝึกซ้อมไว้ แม้แต่หน่วยซีล ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะปฏิบัติการช่วยเหลือจริง ก็ต้องมีการซักซ้อมเสมือนจริงในทุกขั้นตอนเสียก่อน กัปตันเรือ พนักงานประจำเรือ มัคคุเทศก์ คือผู้บัญชาการเหตุการณ์กลุ่มแรกที่อยู่ใกล้ที่สุด ก่อนความช่วยเหลือใดๆจะเข้าไปถึง จึงต้องได้รับการเตรียมตัวมาอย่างดี สำหรับการดูแลด้านความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่ขาดประสบการณ์

การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวประเทศไทยใหม่อีกครั้งจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้เกี่ยวข้องจะไม่เริ่มต้นจากการมีระบบความคิดและความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่และการจัดการเพื่อสร้างระบบที่เอื้อต่อการเกิดความปลอดภัยในการเดินทางและทำกิจกรรมท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ที่ดีไม่ได้สร้างด้วยคำพูด แต่สร้างด้วยการกระทำ รัฐบาลควรเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โอกาสที่จะสร้างระบบการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีหลายกลุ่ม มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ให้เกิดความปลอดภัยเมื่อมาท่องเที่ยวในเมืองไทย มีทิศทางที่ชัดเจนและตอบคำถามได้ แล้วความเป็นเมืองพี่ เมืองน้อง จีน-ไทย ก็จะอยู่ร่วมกันตลอดไป


หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก
โครงการศึกษาเรื่องการยกระดับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติตามมาตรฐานสากล และแผนงานวิจัย การบริหารจัดการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล " ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย