posttoday

ปัญหาข้อมูลรั่วไหล

15 เมษายน 2561

เรายอมให้เฟซบุ๊กหรือโปรแกรมโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้าถึงข้อมูลของเรา และพวกเขามีสิทธิในการนำข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ

โดย...ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

จากสถิติคนไทยใช้สมาร์ทโฟนกว่าร้อยล้านเครื่องและใช้เฟซบุ๊กแอ็กเคานต์กว่า 51 ล้านแอ็กเคานต์ จะเรียกได้ว่าเฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้ก็ว่าได้

จากการวิจัยพบว่าในเวลานี้คนไทยใช้งานโปรแกรมโซเชียลมีเดียกว่า 3-4 ชั่วโมง/วัน ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม จนมีผลต่อความเชื่อและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างความนิยมละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่เห็นกันตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เรียกว่าไม่มีคนไทยคนใดที่ไม่รู้จัก “พี่หมื่น” กับ “ออเจ้า” ในขณะนี้

การใช้งานโปรแกรมโซเชียลมีเดียดูเหมือนจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วคนไทยทุกคนกำลังจ่ายด้วย “ความเป็นส่วนตัว” หรือ “Personal Privacy” ของตน

กล่าวคือเราต้องยอมให้เฟซบุ๊กหรือโปรแกรมโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้าถึงข้อมูลของเรา และพวกเขามีสิทธิในการนำข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจเพื่อหารายได้ให้กับแพลตฟอร์มของพวกเขา โดยที่เราไม่ทราบในหลายๆ เรื่องที่ทางเฟซบุ๊กไม่ได้บอก

จนเมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีข่าวอื้อฉาวระดับโลกเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลในเฟซบุ๊กโดยบริษัท เคมบริดจ์ อนาลิติกา โดยพบว่าข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กรั่วไหลกว่า 87 ล้านเรกคอร์ด ทำให้มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กต้องบินไปชี้แจงต่อหน้าสภาคองเกรส และถูกวุฒิสมาชิกทั้งหลายยิงคำถามนานกว่าสิบชั่วโมงในเวลาสองวัน

ทำให้เราได้ “ตระหนัก” และเข้าใจว่ามีอะไรที่เรายังไม่ทราบอีก เช่น เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลเราตลอดเวลา แม้เวลาที่ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก แม้ล็อกเอาต์ออกแล้ว เฟซบุ๊กก็ยังเก็บข้อมูลผ่านทางการใช้เทคโนโลยีคุกกี้กับการใช้งานเบราเซอร์ยอดนิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Chrome Safari หรือ Firefox ถ้าผู้ใช้ ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เฟซบุ๊กจะเก็บข้อมูล SMS และประวัติการโทรเข้า-ออก ของเราด้วย

ถามว่าเราทราบเรื่องนี้ได้อย่างไรว่าเฟซบุ๊กเข้ามารุกล้ำความเป็นส่วนตัวและเก็บข้อมูลอะไรของเราบ้าง? คำตอบคือ มีการค้นพบโดยบังเอิญจากการที่เฟซบุ๊กจำเป็นต้องเปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการดาวน์โหลดข้อมูลของตนเองตั้งแต่วันที่เริ่มใช้เฟซบุ๊กจนถึงวันนี้มาเก็บไว้ที่ฮาร์ดดิสก์บนเครื่องพีซี หรือแล็ปท็อป

การตั้งค่าและดาวน์โหลดสำเนาข้อมูลเฟซบุ๊กของคุณ (ต้องทำด้วยเฟซบุ๊กเว็บแอพ ผ่านเบราเซอร์บนพีซีหรือ แล็ปท็อปเท่านั้น) ทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีโอกาสได้เห็นข้อมูลหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น จากการเก็บข้อมูลของเฟซบุ๊ก จนทำให้เฟซบุ๊กต้องปรับแก้โปรแกรมเฟซบุ๊กบนโทรศัพท์มือถือและบนเว็บเพื่อแก้ไขปัญหาข้อมูลความเป็นส่วนตัวรั่วไหล ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลได้ดีขึ้นและมีสิทธิในการลบหรือปรับแต่งค่าความเป็นส่วนตัว (Privacy setting) ได้ตามที่ผู้ใช้ต้องการ

ปัญหาคือจะมีผู้ใช้สักกี่คนที่เข้าใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่มี “Digital Literacy” พอที่จะเข้าไปแก้ไขปรับแต่งเมนูต่างๆ บนเฟซบุ๊ก ถ้าไม่มีการชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะไม่ง่ายนักสำหรับประชาชนและคนใช้เฟซบุ๊กทั่วไป ทำให้ข้อมูลของคนไทยและทั่วโลกมีโอกาสรั่วหลุดและถูกนำไปใช้ในทางธุรกิจและการตลาดของเฟซบุ๊กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น เป็น “หน้าที่” ของผู้ใช้เฟซบุ๊กทุกคนที่ต้องเข้าไปตั้งค่า “การรักษาความปลอดภัย” และ “ความเป็นส่วนตัว” “ไทม์ไลน์และการแท็ก” ตลอดจนการตรวจสอบ “แอพและเว็บไซต์” ว่ามีแอพหรือเว็บไซต์ใดที่กำลังละเมิดสิทธิและข้อมูลส่วนตัวของเราอยู่บ้าง โดยต้องเข้าไปลบออกเป็นระยะๆ ถ้ามีเวลาควรดาวน์โหลดข้อมูลมาดูว่า เรามีข้อมูลอะไรที่รั่วไหลไปเก็บไว้ในเฟซบุ๊กบ้าง

การมุ่งโจมตีไปที่เฟซบุ๊กเพียงเจ้าเดียวดูจะไม่แฟร์นัก เพราะที่จริงแล้วกูเกิล หรือบริษัทโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่านทางคุกกี้บนเบราเซอร์ด้วยกันทั้งนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการคุกกี้โดยการดาวน์โหลดโปรแกรมที่เป็น Browser Extension มาบริหารจัดการคุกกี้ให้มีความเป็นส่วนตัวและมีความปลอดภัยมากขึ้น

ถึงจุดนี้เราคงเข้าใจแล้วว่าการที่เราได้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารกับชาวโลกผ่านโซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องแลกด้วยความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนตัวของเรา ดังนั้นแทนที่จะกล่าวโทษผู้ให้บริการ เราควรกลับมาดูพฤติกรรมการใช้ว่าเราได้ “โพสต์” หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในโซเซียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน ได้คิดก่อนที่จะ “โพสต์” หรือไม่? หลังจาก “โพสต์” ไปแล้วมีผลกระทบตามมาหรือไม่?

ต้องเข้าใจว่าในปัจจุบันฝ่ายบุคคลหลายองค์กรตัดสินใจรับพนักงานเข้าทำงานหรือไม่รับเข้าทำงาน โดยสังเกตจากพฤติกรรมการใช้งานเฟซบุ๊กของผู้สมัครงาน และขณะนี้สถานทูตสหรัฐได้ข้อมูลเฟซบุ๊กของผู้ขอยื่นวีซ่าไปสหรัฐในใบคำขอวีซ่าด้วย

ภาพ เอเอฟพี