posttoday

เที่ยวอย่างยั่งยืน

05 กุมภาพันธ์ 2561

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้กลายเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สำคัญ สำหรับโลกที่ต้องการอัตลักษณ์แตกต่าง

โดย...ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย

เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) คนส่วนใหญ่รวมทั้งผมเองอาจเข้าใจว่าหมายถึงการท่องเที่ยวแบบที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนเมื่อไม่นานมานี้ทีมงานของผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.พยอม ธรรมบุตร ผู้คร่ำหวอดด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ทำให้ถึงบางอ้อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศว่าเป็นอะไรแถวๆ Green Concept

จริงๆ แล้ว Ecotourism คือ รูปแบบการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญครอบคลุมเรื่องสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เคารพความเป็นชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีกระบวนการมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เราจึงกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) กับเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ จำนวนมาก ผมเชื่อว่าเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องลงมือลงใจกันอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกันกำหนดแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สร้างประโยชน์และสร้างความแข็งแกร่งด้านสังคม เศรษฐกิจ โดยยังคงรักษาความเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ได้ และที่สำคัญคือ สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และกระบวนการเหล่านี้จะใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ในทุกระดับการท่องเที่ยว

ทั้งระดับการท่องเที่ยวกระแสหลัก (Mass Tourism) ซึ่งมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ภาครัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นเป้าหมายทางเลือกใหม่สำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย

จากแนวทางของรัฐบาลดังกล่าว ผมและพวกเราที่แอร์เอเชียขอยกมือสนับสนุนให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในมุมกว้าง และเพื่อเป็นโอกาสให้ชุมชนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยหลักแล้วกระบวนการพัฒนาจะให้ตัวชุมชนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการกระจายรายได้ พัฒนาสภาพสังคมในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง กำหนดแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ยาวนาน โดยมีเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีเครื่องมือตรวจสอบและวัดผลได้จริง ทั้งหมดนี้คือแนวทางการทำงานที่จะทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสร้างความยั่งยืนในทุกมิติรอบด้าน

สำหรับด้านเอกชน ผมมองว่าจะเป็นอีกฟันเฟืองส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ดี เนื่องด้วยงบประมาณเเละองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชนในการพัฒนาตัวเอง โดยให้สอดคล้องกับแนวทางโดยรวมของประเทศ และต้องใช้ความตั้งใจจริงในการเรียนรู้ ลงมือทำ และร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับชุมชน แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และตัวตน เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนเเท้จริง

ในฐานะสายการบินหนึ่ง เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมาก เป็นนโยบายหลักสำคัญหนึ่งของเราในช่วง 2-3 ปี เเละจะเข้มข้นต่อจากนี้แอร์เอเชียมีโครงการที่พวกเราตั้งใจทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญภายใต้ชื่อโครงการ "Journey D" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ทีมงานเราได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุย รับฟังความต้องการของชุมชนเพื่อร่วมกันออกแบบกระบวนการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการจากชุมชน

Journey D มีเป้าหมายให้เป็นอีกทางเลือกการท่องเที่ยวที่ดีมีมาตรฐาน สำหรับคนที่ชื่นชอบการสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้าน และจะเป็นการท่องเที่ยวแบบพิเศษที่เราจะได้เป็นทั้งผู้ได้รับความสุขจากการท่องเที่ยวและเป็นผู้ให้โอกาสในการสร้างอาชีพให้ชุมชน เป็นผู้ให้ในการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเอกลักษณ์ที่ดีงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจากการร่วมทำงานกับชุมชนที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนคือ การท่องเที่ยวที่คู่กับการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทั้งทีมงานของเรา ชุมชน หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาสัมผัสชุมชน

ถึงวันนี้ผมว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้กลายเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สำคัญ สำหรับโลกที่ต้องการอัตลักษณ์แตกต่าง ความทันสมัยและแปลกใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับทุกคน ซึ่งการลงทุนกับเรื่องนี้ผมว่าไม่น่ามีคำว่าขาดทุน เพราะผลที่ได้ล้วนเป็นกำไรกับทุกฝ่ายที่จะผลิดอกออกผลได้อย่างยั่งยืน