posttoday

จากทุนนิยมนมล้นตลาด ถึงวิกฤตข่าวสารไหลทะลัก

05 กุมภาพันธ์ 2560

ช่วงที่จีนเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน ภาพความหวาดระแวงทุนนิยมยังฝังหัว หนังสือเรียนชั้นมัธยมของจีนมีบทเรียนที่ว่าด้วย

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ช่วงที่จีนเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน ภาพความหวาดระแวงทุนนิยมยังฝังหัว หนังสือเรียนชั้นมัธยมของจีนมีบทเรียนที่ว่าด้วยความสารพัดจะเลวของระบอบทุนนิยมเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “ทุนนิยมเทนมทิ้ง”

“ทุนนิยมเทนมทิ้ง” เป็นตัวอย่างความแม่นยำของแนวคิดมาร์กซิสต์ ที่วิเคราะห์ปนสาปแช่งถึงหนึ่งในปรากฏการณ์ก่อนระบอบทุนนิยมล่มสลาย

คำวิเคราะห์มีอยู่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมล้วนปลุกปั่นด้วยคำว่ากำไร นายทุนที่ต้องการทำกำไรไม่สิ้นสุด ย่อมต้องเอากำไรที่ผ่านมาเป็นต้นทุนหมุนเวียนกลับมาผลิตสินค้าและทำกำไรใหม่เป็นเท่าทวี พูดง่ายๆ คือ นายทุนยิ่งกำไร ก็ยิ่งมีทุนไปผลิตเพื่อกลับมาขายทำกำไรมากขึ้น

วงจรนี้จะสร้างการซื้อและการผลิตต่อเนื่องกันไป และมีปลายทางเป็นสภาวะสินค้าล้นตลาด เมื่อสินค้ามากเกินต้องการก็จะราคาตก กำไรหดหาย แล้วจึงนำไปสู่การลอยแพลูกจ้างครั้งใหญ่ กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา

แล้วก็แม่นไม่ใช่ย่อย เหตุการณ์ “ทุนนิยมเทนมทิ้ง” เป็นข้อพิสูจน์

“ทุนนิยมเทนมทิ้ง” ในตำราเรียนจีน อ้างถึงช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1929 ที่ฝรั่งเรียกกันว่า The Great Depression

เศรษฐกิจที่ตกต่ำชั่วข้ามคืนดูผิวเผินเหมือนจะมาจากวิกฤตตลาดหุ้น แต่อันที่จริงหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตนี้คือสภาวะของการผลิตสินค้าล้นเกินความต้องการ ซึ่งส่อแววมาก่อนหน้านั้นเกือบ 10 ปี และ “นมวัว” ก็เป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่ราคาตกต่ำ

หลังเกิด The Great Depression ผู้ผลิตนมวัวหลายรายก่อเหตุประท้วงด้วยการปิดถนนแล้วเทนมวัวทิ้ง นมวัวจำนวนมากถูกเททิ้งเปล่าๆ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ปี 1929-1933

สิ่งที่บาดใจที่สุดก็คือ ภาพผู้ประท้วงเทนมทิ้งเปล่าๆ ขณะที่คนยากคนจนจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่มีอันจะกิน

เป็นภาพความหน้าเลือดของนายทุน และความเศร้าสลดของเศรษฐกิจที่ถูกปลุกปั่นจากความโลภ  เหมือนที่นักคิดสายมาร์กซิสต์คาดการณ์ และตำราเรียนจีนสรุปไว้

ควรเล่าประกอบด้วยว่า เนื่องจากนมวัวเป็นสินค้าที่เก็บรักษาไว้ไม่ได้นาน หากขายหรือนำไปแปรรูปไม่ทันจะบูดเสีย หรือหากจะแช่เย็นเก็บไว้ต้องใช้ต้นทุนสูง

นอกจากนี้ วัวนมก็ไม่ได้ผลิตนมวัวได้ตามใจ วัวจะให้นมได้ต้องตั้งท้อง ตกลูก และถูกกระตุ้นด้วยการรีดนมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกวัน หากขาดช่วงไป ปริมาณน้ำนมก็จะลดน้อยลง และถ้าน้ำนมหมด ก็มีแต่จะต้องพัก 3-4 เดือน แล้วจึงค่อยกระตุ้นโดยการตั้งท้องและรอคลอดใหม่เท่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่ได้กระทบแค่คน แต่ยังกระทบถึงวัวด้วย

นมเป็นสินค้าที่รวมปัจจัยความอ่อนไหวของสินค้าเกษตรหลายๆ อย่างตามที่ว่าไว้ นั่นทำให้การเททิ้งกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผู้ประท้วงคิดว่าคุ้มค่า

และภาพ “ทุนนิยมเทนมทิ้ง” จึงเป็นตัวแทนความเลวร้ายหน้าเลือดของทุนนิยมที่ดีที่สุด…

แต่ในฐานะที่เราไม่ได้เป็นนักเรียนหลังม่านไม้ไผ่ จึงไม่ควรปักใจเชื่อแล้วยืนหยัดเชิดชูแนวคิดสังคมนิยมด้วยคำอธิบายเหตุการณ์นี้แบบเดียว

ทั้งหมดเป็นความหน้าเลือดจริงหรือ? ทั้งหมดเป็นเหตุให้ต้องล้มล้างทุนนิยมจริงหรือ?

ภาพที่สร้างขึ้นมาว่านายทุนหน้าเลือดเทนมทิ้ง ไม่ยอมแม้กระทั่งจะให้คนจนได้ดื่ม แท้จริงในหลายท้องที่ ผู้ประท้วงกลับเป็นกลุ่มคนงานที่ไม่ต้องการให้ขายนมในราคาถูกอีกต่อไป (ซึ่งมีผลต่อค่าแรงของพวกเขา) นายทุนที่ว่าหน้าเลือดจึงไม่ใช่เรื่องของชนชั้นง่ายๆ แบบที่สรุปไว้ในหนังสือเรียน และนมที่ถูกเททิ้งก็ไม่ใช่นมที่เราดื่มกันเป็นปกติ แต่เป็นนมเกรด B ซึ่งเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น เนยหรือเนยแข็ง

ภาพที่บทเรียนอยากให้เห็นจึงไม่ใช่ความจริงรอบด้าน แต่เป็นเพียงโฆษณาโจมตีระบอบความคิดฝั่งตรงข้ามกับตนเท่านั้น

และอันที่จริง ประเทศที่อ้างว่าเป็นเจ้าสำนักมาร์กซิสต์ ทั้งสหภาพโซเวียตและจีน ก็เคยเละเทะจากมาตรการที่คิดว่าประเสริฐกว่าระบบทุนนิยมมาแล้ว ซึ่งก็คือการควบคุมการผลิตสินค้าจากศูนย์กลางการปกครอง และวิกฤตจากมาตรการนี้ ทำให้ผู้คนอดตายไปหลายสิบล้านคน

ระบอบโลกฝั่งหนึ่งมีปัญหาตามคำพยากรณ์ จึงไม่ได้แปลว่าโลกจะสดใสดังใจถ้าใช้อีกระบอบ

อย่างไรก็ตาม สภาวะสินค้าล้นตลาดย่อมไม่เป็นที่ต้องการ และจะเกิดขึ้นเสมอในระบอบทุนนิยมเมื่อไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไข

ประเด็นที่มาร์กซิสต์มองไว้นั้นไม่ผิด เมื่อทุนนิยมเป็นเรื่องของการทำกำไร ผู้ผลิตผู้ค้าย่อมต้องการผลิตและขายให้มากขึ้น และย่อมนำไปสู่การกระตุ้นให้บริโภคเกินขอบเขต ไม่ว่าจะกระตุ้นว่าสินค้านั้นๆ มีเพื่อคลายหิว เพื่อคลายอยาก เพื่อคลายความกังวลในการเข้าสังคม หรือเพื่อเพิ่มตัวตน ล้วนตอบโจทย์ได้ด้วยการซื้อและการเสพ... แนวคิดชวนเชื่อแปลกๆ เช่น ยิ่งกินยิ่งผอม หรือเพราะซื้อสินค้านี้มาใช้ จึงแตกต่างจากคนทั่วไป ทั้งที่สิ่งนั้นถูกผลิตเป็นแสนเป็นล้านชิ้น จึงมีอยู่ทั่วไป

ไม่ใช่แค่สินค้าที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นที่ทะลักล้น แม้แต่ข้อมูลข่าวสารก็ถูกเร่งผลิตและชวนเชื่อให้เราบริโภค ที่สำคัญก็คือ ข่าวสารสามารถผลิตได้ในปริมาณล้นตลาดฉับพลันมากกว่านั้น และใครๆ ก็ผลิตได้

ข่าวสารขายได้ด้วยกรรมวิธีต่างๆ และสื่อต่างเร่งผลิตข่าวเพื่อทำกำไร เมื่อข่าวสารทำง่ายและมีมากเข้าจึงราคาตก ข่าวฟรีล้นตลาด ข้อดีคือผู้คนสามารถเสพสื่อคุณภาพได้ในราคาแสนถูก แต่ข้อเสียคือการแข่งขันสูง และสื่อคุณภาพต้องแข่งขันกับข่าวถูกไร้คุณภาพที่ฉกฉวยความสนใจด้วยความเร็ว หวือหวา มิใช่คุณภาพ หรือความแม่นยำ

ผู้คนเสพข้อมูลข่าวสารเกินขนาด ข่าวเดียวกัน มุมมองเดียวกัน โผล่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรูปแบบสารพัด จนกลายเป็นแค่(ข่าว)สารย้ำเตือนกระตุ้นอารมณ์ ผู้บริโภคก็ปลดปล่อยมาเป็นความเดือดแค้นคลุ้มคลั่งส่วนเกินในชีวิต แล้วก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ถ้าเป็นน้ำนม ก็คงเป็นนมชั้นล่างที่ยังไม่หมดกลิ่นสาบรสเข้มแต่บูดไว จึงต้องรีบออกเทขายทันทีโดยไม่ต้องกลั่นกรอง ดื่มมากก็สะสมเป็นไขมันส่วนเกิน

กลไกสังคมก็ยังมีแต่มาตรการป้องกันสินค้าที่จับต้องได้ล้นตลาด แต่ยังไม่มีกลไกส่วนไหนมารองรับข่าวสารที่ผลิตล้นทะลัก วิกฤตข่าวสารล้นตลาดจึงเป็นอีกวิกฤตที่มาร์กซิสต์ไม่ได้คิดทำนายมาก่อน

You are what you eat. และ You are what you read. ด้วยเช่นกัน

ข่าวสารมีคุณภาพและหลากหลายทำให้ร่างกายเติบโต ข่าวสารไร้คุณภาพและด้านเดียวทำให้ร่างกายปนเปื้อน

ในยุคที่เรามีโอกาสได้เห็นข่าวมากมายมหาศาล แต่กลไกการผลิตข่าวสารกลับทำให้ข่าวล้นตลาดและราคาตก กลายเป็นว่าข่าวสารที่ได้รับกลับทำให้เรามองอะไรด้านเดียวไม่ต่างกันกับยุคที่มีแต่โฆษณาชวนเชื่อในบทเรียนอย่าง “ทุนนิยมเทนมทิ้ง”